svasdssvasds

ทำไม? สงฆ์ระดับ "พระเถระ" ต้องจบ "เปรียญธรรม 9"

ทำไม? สงฆ์ระดับ "พระเถระ" ต้องจบ "เปรียญธรรม 9"

กรณีชุดสืบสวนที่มีการตรวจสอบประวัติของพระชั้นผู้ใหญ่ 3 รูป คือพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ พระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสัมพันธวงศ์ เพื่อประมวลข้อมูลเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมณศักดิ์และตำแหน่งทางการปกครอง ของสงฆ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

วุฒิการศึกษาของภิกษุสงฆ์

การตรวจสอบดังกล่าว ทำเพื่อส่งมอบให้กับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) นำเสนอต่อมหาเถรสมาคม (มส.) เพื่อเป็นข้อมูลในการประกอบการพิจารณาถึงความเหมาะสมในตำแหน่งของพระทั้ง 3 รูปด้วย โดยในเบื้องต้นชุดสืบสวนพบว่า พระพรหมสิทธิ และพระพรหมเมธี จบการศึกษาชั้นนักธรรมเอก แต่ไม่ได้เล่าเรียนบาลีหรือเปรียญธรรมมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องแปลกในวงการสงฆ์ที่พระทั้ง 2 รูป ซึ่งไม่ได้จบเปรียญธรรมแม้แต่ประโยคเดียว แต่สามารถขึ้นมาถึงระดับรองสมเด็จพระราชาคณะในชั้นพรหมได้ ยิ่งไปกว่านั้นพระผู้ใหญ่ทั้งสองรูปยังมีอาวุโสน้อยมากหากเทียบกับพระสงฆ์รูปอื่น ๆ ในมหานิกาย

สาเหตุที่ต้องตรวจสอบ เนื่องจากเป็นจารีต ขนบประเพณีด้านวุฒิการศึกษาของฝ่ายภิกษุสงฆ์ปฏิบัติสืบต่อกันมาว่า พระชั้นผู้ใหญ่ ระดับพระเถระที่จะขึ้นปกครองคณะสงฆ์ ต้องจบระดับเปรียญธรรมเป็นอย่างน้อย โดยระดับสูงสุดคือ เปรียญธรรม 9

มาทำความเข้าใจว่า เปรียญธรรม หรือ ประโยค ซึ่งหมายถึงระดับชั้นการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย มี 9 ชั้น 8 ระดับ แบ่งเป็นชั้นประโยค 1-2 เรียก เปรียญตรี (ระดับที่ 1 ใช้เวลาเรียน 1-2 ปี) และระดับเปรียญ (ป.ธ. 3-9) คือเปรียญโท (7 ระดับ) เรียก เปรียญเอก รวม 8 ระดับ

ทั้งนี้ ผู้ที่เรียนเปรียญตรี จนสอบได้ตั้งแต่ชั้น ป.ธ.3 ขึ้นไป ถ้าเป็นพระภิกษุจะมีคำนำหน้าชื่อว่า พระมหา ถ้าเป็นสามเณรจะมีคำว่า เปรียญ ต่อท้ายนามสกุล

ถ้าหากนำวุฒิการศึกษาทางธรรม เทียบกับวุฒิทางโลก นักธรรม (น.ธ.) ตรี, น.ธ.โท, น.ธ.เอก เทียบเท่า ประถมศึกษาปีที่ 6 ประโยค 1-2, ป.ธ.3 เทียบเท่า มัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) ป.ธ.4, ป.ธ.5 เทียบเท่า มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6)

ป.ธ.6 เทียบเท่า ระดับปริญญาตรี (สาขาวิชาภาษาบาลี)

ป.ธ.7, ป.ธ.8 เทียบเท่า ระดับปริญญาโท (สาขาวิชาภาษาบาลี)

ป.ธ.9 เทียบเท่า ระดับปริญญาเอก (สาขาวิชาภาษาบาลี) ระดับปริญญาทางธรรมตามที่กล่าวมา คือ ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก นั้นยังไม่มีกฏหมายรองรับ

เรื่องนี้ พระมหาไพรวัลย์ เปรียญธรรม 9 วัดสร้อยทอง เปิดเผยว่า โดยปกติส่วนใหญ่พระเถระ ต้องจบเปรียญธรรมประกอบด้วย เนื่องจากเป็นสายคุณวุฒิการศึกษาของพระ แม้ไม่ใช่เป็นข้อบังคับในทางเลื่อนสมณศักดิ์ แต่ถือเป็นจารีต ขนบประเพณี รู้กันในทางคณะสงฆ์ที่ใช้พิจารณาเลื่อนสมณศักดิ์ หากจบเปรียญธรรมได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ กรณีพระพรหมสิทธิ วัดสระเกศ ทำงานใกล้ชิดกับสมเด็จเกี่ยว อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯองค์ก่อน ได้เลื่อนตำแหน่งเพราะเป็นพระรับใช้ใกล้ชิด เป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระราชาคณะ ส่วนพระพรหมเมธี วัดสัมพันธวงศ์ ก็ทำงานกับคณะสงฆ์มานาน จึงได้รับการพิจารณาว่าทำงานร่วมกับมหาเถระระดับต้นๆ จึงได้รับการพิจารณาแม้จบเพียงนักธรรมเอก

related