svasdssvasds

"บ.รถไฟฟ้าร.ฟ.ท." พร้อมบริหาร รถไฟชานเมืองสายสีแดง

"บ.รถไฟฟ้าร.ฟ.ท." พร้อมบริหาร รถไฟชานเมืองสายสีแดง

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

 

บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ยืนยันมีความพร้อมในการบริหารจัดการรถไฟชานเมืองสายสีแดงควบคู่กับการบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ พร้อมขอให้ภาครัฐเร่งจัดหาขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ใหม่ 7 ขบวนเพื่อลดผลกระทบการเดินทางของประชาชน

วันนี้( 31 ธ.ค.) นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รองกรรมการผู้อำนวยการกลุ่มสายงานปฏิบัติการและซ่อมบำรุง บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์เปิดเผยว่า หากบริษัทได้รับโอกาสจากภาครัฐบาลในการเข้าไปดูแล โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลไว้วางใจ และเชื่อมั่นว่าศักยภาพของพนักงานบริษัทก็มีความพร้อม เพราะระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงไม่ได้แตกต่างกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์มากนัก จะต่างกันก็เพียงแค่ขนาดของรางเท่านั้น แต่เท่าที่รับทราบข้อมูลความต้องการใช้พนักงานของรถไฟชานเมืองสายสีแดงจะมีมากกว่า ซึ่งบริษัทได้จัดทำระบบในการถ่ายทอดความรู้ไว้ให้กับพนักงานตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์กรแล้ว ในการให้ผู้สอนหลักที่ผ่านการอบรมจากการรถไฟฯประเทศเยอรมันและโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนช่วยถ่ายทอดความรู้ให้กับพนักงานใหม่ โดยผู้สอนหลัก 1 คนจะสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับพนักงานใหม่ได้ 30คน แต่ระยะเวลาในการอบรมก็จะแตกต่างกัน เช่นพนักงานประจำสถานีจะใช้ระยะเวลาในการอบรม 6 เดือน แต่หากเป็นพนักงานขับรถไฟฟ้าจะต้องใช้เวลา 1 ปี ดังนั้นหากผู้สอนหลักได้รับการถ่ายทอดความรู้และระบบเทคโนโลยีจากเจ้าของระบบ ก็จะสามารถดำเนินการสอนพนักงานใหม่ได้ทันที เพราะขณะนี้ทางบริษัทฯมีผู้สอนหลักถึง 90 คน

ส่วนขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ในปัจจุบันทั้ง 9 ขบวน ซึ่งในจำนวนนี้อยู่ระหว่างซ่อมบำรุงใหญ่ 1 ขบวน ก็เชื่อว่ายังมีความจำเป็นต่อผู้โดยสารและสามารถวิ่งร่วมกับระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสามสนามบินได้ เพราะในตัวระบบรางมีขนาด 1.435 เมตร และในช่วงพญาไท -ลาดกระบังที่เป็นย่านชุมชนได้กำหนดไว้ว่ารถไฟความเร็วสูงต้องวิ่งไม่เกิน 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเท่ากับความเร็วของขบวนรถไฟฟ้าด่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือ Express line ดังนั้นการซื้อขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ใหม่ทั้ง 7 ขบวนยังมีความจำเป็น เพราะปริมาณผู้โดยสารตลอด 7 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยถึงร้อยละ 12 จาก 3 หมื่นคนต่อวัน เป็นกว่า 72,000 คนต่อวัน ซึ่งในช่วงเวลาเร่งด่วน 8.00 - 9.00 นาฬิกาและ18.30 - 20.00นาฬิกา แม้จะมีขบวนรถให้บริการครบจำนวน แต่ผู้โดยสารก็ต้องรอขบวนรถไฟฟ้าถึงสามขบวนถึงจะสามารถเดินทางได้เนื่องจากความหนาแน่น ดังนั้นในปีหน้าจะมีการนำตู้สัมภาระจำนวน 4 ตู้ ของขบวน Express line มาช่วยเพิ่มความจุผู้โดยสารจาก 72,000 คนต่อวันเป็น 83,000 คนต่อวันแต่เชื่อว่าจะรองรับได้เพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น

related