svasdssvasds

นายกฯให้คำมั่น ไทยรุกแก้โลกร้อนด้วยเศรษฐกิจชีวภาพสีเขียว

นายกฯให้คำมั่น ไทยรุกแก้โลกร้อนด้วยเศรษฐกิจชีวภาพสีเขียว

นายกรัฐมนตรี จะผลักดันการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ และ เศรษฐกิจสีเขียว พร้อมให้คำมั่นว่า ในเวทีประชุม COP28 จะเรียกร้องให้มีการสนับสนุนด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี และ การสนับสนุนทางการเงินด้วย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 (Thailand Climate Action Conference : TCAC 2023) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-7 ตุลาคม 2566 โดยระบุว่า

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วนของโลก ทำให้ประเทศไทยมีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาอย่างต่อเนื่อง และ ยกระดับการดำเนินงานอย่างเข้มข้นมาทุกระยะ”

เดือนกันยายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ได้ใช้โอกาสที่เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 78 หารือและแลกเปลี่ยนแนวคิดกับผู้นำประเทศต่างๆ ในการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน

รวมทั้งใช้เวทีการประชุม Climate Ambition Summits ซึ่งไทยเป็นหนึ่งใน 38 ประเทศที่ได้รับการคัดเลือกให้กล่าวถ้อยแถลง และ แผนการดำเนินงานของประเทศ โดยเน้นย้ำกับประชาคมโลกว่าประเทศไทย จะสานต่อความมุ่งมั่นในการเร่งดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065

ที่สำคัญ คือ ประเทศไทยได้ผนวกเป้าหมายดังกล่าว ไว้ในนโยบายที่สำคัญของประเทศ ทั้งในยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เชื่อมโยงไปสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13

นอกจากนี้ที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มดำเนินการที่เห็นผลลัพธ์ชัดเจน ในภาคพลังงาน เช่น

  • การปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง
  • เตรียมการยกเลิกผลิตพลังงานโดยใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ภายในปี ค.ศ. 2050
  • ที่ผ่านมาสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในภาคพลังงานและขนส่ง ได้ถึงร้อยละ 15
  • วางแผนเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน
  • กำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว
  • สนับสนุนการใช้หลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Solar Roof Top และการวัดพลังงานสุทธิ
  • เพิ่มสัดส่วนการใช้รถไฟฟ้าภายในประเทศ

 

“เรายังมุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว พัฒนาสังคมแบบองค์รวม เพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นโยบายของเรายังรวมถึงการเพิ่มคุณค่าให้กับความหลากหลายทางชีวภาพ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจ ด้วยการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สำหรับการลดก๊าซเรือนกระจก จะคุ้มครองป่าและเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอน โดยกำหนดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี ค.ศ. 2037 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้กว่าปีละ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังได้เข้าร่วมการประชุม Financing for the Future Summit โดยเน้นย้ำในที่ประชุมว่า ประเทศไทยมีความตื่นตัวในการส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียว ผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน ในขณะนี้ ซึ่งสามารถระดมเงินทุนเข้ามาได้ทั้งหมด 377,000 ล้านบาท และ ได้นำเงินดังกล่าวไปสนับสนุนโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการรถไฟฟ้า โครงการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำ

ส่วนปีค.ศ. 2024 วางแผนออก Sustainability-linked Bond ซึ่งจะช่วยระดมเงินทุนได้ประมาณ 700 ล้านบาท เพื่อทำให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะเป็นแนวหน้าของตลาดการเงินสีเขียว และ สร้างแรงจูงใจให้ทุกภาคส่วนในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายกรัฐมนตรี มองว่า การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยและภาคธุรกิจที่จะขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน ผ่านการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ในภาคการผลิตและบริการ ซึ่งปัจจุบันองค์กรชั้นนำส่วนใหญ่มีการส่งเสริมการใช้มาตรการเพื่อความยั่งยืนแล้ว และ รัฐบาลได้เดินควบคู่ไปกับองค์กรชั้นนำดังกล่าว มีการเตรียมการเพื่อให้ผู้ประกอบการภายในประเทศมีมาตรการในการรับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้า ทั้งการผลิตภายในประเทศ และ การส่งออก สำหรับการบังคับใช้มาตรการ CBAM ในกลุ่มอุตสาหกรรม ไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ ปุ๋ย อลูมิเนียม และไฮโดรเจน ก่อนที่จะมีการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี ค.ศ. 2026

ทั้งนี้ ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP28) ในเดือนพฤศจิกายนนี้ นายกรัฐมนตรีจะยืนยันความมุ่งมั่นของประเทศไทย และเรียกร้องให้มีการสนับสนุนในหลายมิติ ทั้งการเข้าถึงเทคโนโลยี การสนับสนุนทางการเงิน และการเสริมสร้างศักยภาพ เพื่อส่งเสริมให้เราบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

related