svasdssvasds

เปิดข้อดีของ “พลังงานความร้อนใต้พิภพ” ปล่อยมลพิษต่ำ มีความเสถียรมาก

เปิดข้อดีของ “พลังงานความร้อนใต้พิภพ” ปล่อยมลพิษต่ำ มีความเสถียรมาก

การผลิตไฟฟ้าใช้ในครัวเรือน และภาคธุรกิจ ในปัจจุบัน มีช่องทางการผลิตที่หลากหลาย วันนี้จะพาไปดูข้อดีของ “พลังงานความร้อนใต้พิภพ” ที่ปล่อยมลพิษต่ำ มีความเสถียร ซึ่งไทยมีโรงไฟฟ้าใต้พิภพที่ จ.เชียงใหม่

ปัจจุบันการผลิตพลังงานมีหลากหลายช่องทางเพื่อให้มนุษย์เรานำมาใช้ในชีวิตประจำวัน และใช้ในการทำธุรกิจ หนึ่งในนั่นคือ พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Energy)  คืออีกหนึ่งพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึงมากนัก ต่างจากพลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีทั้งในเรื่องการก่อมลพิษหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำมาก มีความเสถียร และเป็นแหล่งพลังงานที่คงอยู่ได้ยาวนาน หลายทศวรรษ

โดย กระทรวงพลังงาน เปิดเผยข้อมูล เกี่ยวกับพลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Energy) ว่าพลังงานความร้อนใต้พิภพ คือ พลังงานธรรมชาติ ที่เกิดจากความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงถึง 5,000 องศาเซลเซียส เป็นพลังงานสะอาดที่ถูกกักเก็บอยู่ใต้พื้นผิวโลก ซึ่งความร้อนนี้จะเดินทางผ่านแกนกลางขึ้นมาจนถึงเปลือกโลก ความร้อนดังกล่าวทำให้น้ำที่เก็บกักอยู่ในโพรงหิน มีอุณหภูมิร้อนขึ้นและอาจจะสูงถึง 370 องศาเซลเซียส แต่ความดันของโลกจะดันน้ำขึ้นมาบนผิวดินทำให้เกิดการกลายเป็นไอลอยขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ แล้วตกลงมาเป็นฝนหรือหิมะ จากนั้นไหลกลับลงไปใต้ดินนำความร้อนขึ้นมาอีกกลายเป็นการหมุนเวียนของกระแสความร้อนภายในโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้แหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ แบ่งตามกรรมวิธีการนำความร้อนมาใช้ได้ 3️⃣ ระบบ คือ

-แหล่งที่เป็นไอน้ำ (Steam Dominated)

-แหล่งที่เป็นน้ำร้อน (Hot Water Dominated)

-แหล่งหินร้อนแห้ง (Hot Dry Rock)

 

อย่างไรก็ตามแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพส่วนใหญ่มักพบในเขตที่เปลือกโลกเคลื่อนที่ เขตที่ภูเขาไฟยังคุกรุ่น และบริเวณที่มีชั้นของเปลือกโลกบาง เช่น ประเทศด้านตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ และอเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ประเทศบริเวณเทือกเขาหิมาลัย กรีซ อิตาลี ไอซ์แลนด์ เป็นต้น สำหรับไทยก็มีแหล่งความร้อนใต้พิภพ

ทั้งนี้พบมากที่สุดในภาคเหนือ เช่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่, แหล่งน้ำพุร้อนแม่จัน จ.เชียงราย โดยเทคโนโลยีผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ จะใช้หลักการนำน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิสูงมาก ๆ มาแยกสิ่งเจือปนออก แล้วทำให้ความดันและอุณหภูมิลดลงก็จะได้ไอน้ำ จากนั้นเอาแรงอัดของไอน้ำที่ได้ไปหมุนกังหันเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยไอน้ำที่ไหลออกจากกังหันจะถูกทำให้เย็นลงแล้วนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือปล่อยกลับลงไปใต้ดินใหม่ ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ซับซ้อนกว่านี้ หากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้สูงขึ้น

สำหรับไทยมีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มีขนาดกำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ การผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตั้งแต่ปี 2532 - 2562 ผลิตได้รวม 44.26 ล้านหน่วย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพแห่งเดียวในประเทศ โดยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพ จะถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 8 เท่า รวมถึงค่าบำรุงรักษาและดูแลระบบยังถูกกว่าหลายเท่า รวมไปถึงอายุการใช้งานยาวนานกว่า

นอกจากนี้น้ำร้อนที่ผ่านระบบการผลิตไฟฟ้าจะมีอุณหภูมิต่ำลงเหลือประมาณ 80 องศาเซลเซียส สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการอบแห้งพืชผลทางการเกษตร ในฤดูกาลที่พืชผลล้นตลาด และยังนำไปใช้ในการส่งเสริมงาน ด้านท่องเที่ยวของวนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงได้อีก เช่น ในกิจกรรมกายภาพบำบัด สุดท้ายน้ำทั้งหมดที่ยังมีสภาพเป็นน้ำอุ่นอยู่เล็กน้อย จะถูกปล่อยลงไปผสมกับน้ำตามธรรมชาติในลำน้ำ เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเกษตรกรในฤดูแล้งได้อีกด้วย

ที่มา :

-กระทรวงพลังงาน

-คลังความรู้ SciMath สสวท.

-กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

-ธนาคารกรุงเทพ

 

related