svasdssvasds

ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) พลังงานสีเขียวแห่งอนาคต และโอกาสการลงทุน

ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) พลังงานสีเขียวแห่งอนาคต และโอกาสการลงทุน

ทำความรู้จัก Green Hydrogen หรือ ไฮโดรเจนสีเขียว แหล่งพลังงานสะอาด ที่แทบจะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ ถูกมองว่าจะเป็นพลังงานอนาคตของโลกใบนี้

SHORT CUT

  • Green Hydrogen เป็นแหล่งพลังงานสะอาด ปลอดภัย ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ลม แสงอาทิตย์ และน้ำ โดยกระบวนการผลิตไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
  • ข้อได้เปรียบ คือ ช่วยเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้คาร์บอน เหมาะกับการขนส่งทางไกล และใช้งานได้ง่ายกับระบบขนส่งก๊าซในปัจจุบัน
  • จีนและเยอรมนีมีความต้องการนำเข้าสูง ทำให้อุตสาหกรรมนี้เป็นโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในอนาคต

ทำความรู้จัก Green Hydrogen หรือ ไฮโดรเจนสีเขียว แหล่งพลังงานสะอาด ที่แทบจะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ ถูกมองว่าจะเป็นพลังงานอนาคตของโลกใบนี้

เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมกลายเป็นอีกหนึ่งแขนงของนวัตกรรมที่ได้รับความสนใจทั่วโลก เนื่องจากสภาวะวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ส่งผลให้นานาชาติหันมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยวิถีทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น หนึ่งในเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจคือ พลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นหัวใจของการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมไร้คาร์บอน อย่างไรก็ตาม ยังมีพลังงานอีกชนิดหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างยิ่ง คือ Green Hydrogen หรือ ไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสีเขียวที่สะอาด ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Green Hydrogen คืออะไร? ทำไมจึงถูกมองว่าเป็นพลังงานสะอาดอนาคต         

ไฮโดรเจน คือ ธาตุที่สามารถนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม แต่ปัญหาสำคัญก็คือ การนำไฮโดรเจนออกมาใช้ต้องมีการแยกไฮโดรเจนจากสิ่งอื่น ๆ เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งกระบวนการผลิตจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในชั้นบรรยากาศ ดังนั้น ในกระบวนการดังกล่าวจัดได้ว่ายังไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร

Green Hydrogen หรือ ไฮโดรเจนสีเขียว จึงกลายเป็นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยแก้ปัญหานี้ เนื่องจากวิธีการผลิต Green Hydrogen นั้น แทบจะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ การผลิตใช้เชื้อเพลิงทางเลือกที่มาจากแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำ อาทิ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้ Green Hydrogen เปรียบเสมือนพลังงานแห่งอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ทำลายระบบนิเวศวิทยา

ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) พลังงานสีเขียวแห่งอนาคต และโอกาสการลงทุน

พลังงานไฮโดรเจนมีกี่ประเภทแตกต่างกันอย่างไร

โดยปกติก๊าซไฮโดรเจนสามารถถูกพบได้น้อยตามธรรมชาติ เช่น ใต้พื้นผิวโลก ไฮโดรเจนชนิดนี้ถูกเรียกว่า White Hydrogen ส่วนก๊าซไฮโดรเจนชนิดอื่น ๆ นั้นสามารถแบ่งได้ตามวิธีการสังเคราะห์ ซึ่งประกอบด้วย 3 รูปแบบหลัก ได้แก่

  1. Grey hydrogen คือ ไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้แล้วหมดไป เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกระบวนการผลิตมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้เกิดมลภาวะในชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก
  2. Blue hydrogen คือ ไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเช่นเดียวกับ Grey hydrogen แต่มีการใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไว้ในพื้นดิน ทำให้ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นไฮโดรเจนทางเลือกที่สะอาดกว่า
  3. Green hydrogen คือ ไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นจากแหล่งพลังงานสะอาด อาทิ ลม แสงอาทิตย์ และน้ำซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตและสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้

นอกจากไฮโดรเจน 3 ชนิดหลักที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ยังมีไฮโดรเจนชนิดอื่น ๆ แยกย่อยอีก เช่น Brown Hydrogen ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนมากในกระบวนการผลิต หรือ Turquoise Hydrogen ซึ่งใช้กระบวนการผลิตที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาสู่บรรยากาศ รวมไปถึง Pink Hydrogen ที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นเชื้อเพลิงการผลิต

ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) พลังงานสีเขียวแห่งอนาคต และโอกาสการลงทุน

ข้อดีของ Green Hydrogen เมื่อเทียบกับพลังงานรูปแบบอื่น                               

นวัตกรรมการผลิต Green Hydrogen หรือ ไฮโดรเจนสีเขียว เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น จนมีหลากหลายประเทศลงทุนในโครงการ Green Hydrogen เช่น สหรัฐอเมริกา, จีน, ออสเตรเลีย, สเปน, ฝรั่งเศส และประเทศอื่น ๆ เนื่องจากประโยชน์ที่จะได้จากการผลิต Green Hydrogen ดังนี้ 

1. ช่วยเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้คาร์บอน (Net Zero)

ปัจจุบัน หลาย ๆ ประเทศบนเวทีโลกมีการประกาศจุดยืนในการมุ่งสู่ Net Zero โดยหนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้คือการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานแบบเก่าสู่พลังงานแบบใหม่ (Energy Transition) ซึ่ง Green Hydrogen เป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดที่มีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้                

2. เหมาะกับการขนส่งทางไกลมากกว่าพลังงานสะอาดชนิดอื่น

ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และลมจำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่เพื่อกักเก็บไฟฟ้า จึงมีข้อจำกัดในการใช้กับพาหนะขนส่งทางไกล เช่น เรือ และเครื่องบิน เนื่องจากขนาดและน้ำหนักของแบตเตอรี่ ในขณะที่ Green Hydrogen สามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้

3. นำมาใช้งานได้ง่าย สามารถใช้กับระบบขนส่งก๊าซในปัจจุบันได้เลย

Green Hydrogen มีข้อได้เปรียบเหนือพลังงานสะอาดชนิดอื่น ๆ คือสามารถใช้กับระบบขนส่งเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบันได้เลย เช่น ท่อส่งก๊าซ เรือ รถบรรทุก โดยไม่ต้องลงทุนหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ทำให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถนำไปต่อยอดได้ทันที

ถึงแม้พลังงาน Green Hydrogen มีประโยชน์มากมายแต่ในขณะเดียวกันก็มีความท้าทายไม่น้อยเช่นกัน โดยปัจจุบันตลาดไฮโดรเจนสีเขียวมีขนาดเล็ก คิดเป็น 0.1% ของการผลิตไฮโดรเจนทั้งหมด ซึ่งต้องการการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเพื่อให้อุตสาหกรรมนี้มีการเติบโตมากขึ้น สามารถใช้ Green Hydrogen ในราคาที่ถูกขึ้น เพื่อดึงดูดให้ภาคส่วนอื่น ๆ หันมาใช้พลังงานสะอาดชนิดนี้มากขึ้น

ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) พลังงานสีเขียวแห่งอนาคต และโอกาสการลงทุน

โอกาสในการลงทุนจาก Green Hydrogen

รายงานของ PwC ระบุว่า ประเทศที่มีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าแต่อุดมไปด้วยแหล่งพลังงานหมุนเวียน กำลังพัฒนากลยุทธ์การผลิต และส่งออก Green Hydrogen ในทางกลับกัน ประเทศที่มีพื้นที่น้อย ประชากรหนาแน่น และมีทรัพยากรหมุนเวียนที่จำกัด จะเป็นผู้นำเข้า Green Hydrogen ซึ่งเห็นได้จากการที่ผู้ผลิตชั้นนำอย่างสเปนและออสเตรเลียเริ่มส่งออกพลังงานชนิดนี้ไปยังตลาดขนาดใหญ่อย่างเยอรมนีและญี่ปุ่น

นอกจากนี้ Deloitte คาดการณ์ว่าแม้แต่ประเทศที่มีขนาดใหญ่อย่างจีนก็จะมีความต้องการนำเข้า Green Hydrogen สูงถึง 13 พันล้านตัน ในขณะที่ผู้ผลิตชั้นนำอย่าง สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และสเปน จะผลิตได้ราวประเทศละ 2 พันล้านตัน กล่าวโดยสรุปคือ โอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มีอยู่มาก เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นจากประเทศทั่วโลกในอนาคต

กรณีศึกษาของประเทศต่าง ๆ ในการผลักดันอุตสาหกรรม Green Hydrogen

แม้ว่า Green Hydrogen ถูกมองเป็นเรื่องของอนาคต แต่ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มลงทุนในอุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง เช่น สเปน ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของยุโรป มีความเหมาะสมในการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และลม เพื่อสร้าง Green Hydrogen

ย้อนกลับไปในปี 2020 รัฐบาลสเปนตั้งเป้าหมายผลิตพลังงาน Green Hydrogen 4 กิกะวัตต์ภายในปี 2030 ในขณะที่ปัจจุบัน พบว่า สเปนสามารถผลิต Green Hydrogen ได้สูงถึง 15.5 กิกะวัตต์  มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 4 เท่า จากการที่สเปนทุ่มงบประมาณถึง 1.8 หมื่นล้านยูโร (7 แสนล้านบาท) 

โดยปัจจุบัน สเปนเป็นเจ้าของโรงงานผลิต Green Hydrogen ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และคาดว่าสเปนจะกลายเป็นผู้ผลิต Green Hydrogen ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกภายในปี 2030 

เพราะฉะนั้น การลงทุนในเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ Green Hydrogen จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่น่าจับตามองในอนาคต

ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) พลังงานสีเขียวแห่งอนาคต และโอกาสการลงทุน

แนวโน้มและทิศทางของ Green Hydrogen ในประเทศไทย

เช่นเดียวกับประเทศอื่นในเวทีโลก ประเทศไทยเองก็มีการตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทาง คาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2050 และ 2065 ตามลำดับ เพื่อการบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศนั้น Green Hydrogen ถือเป็นวาระหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสนใจ โดยภาครัฐได้จัดทำแผนกลยุทธ์การนำไฮโดรเจนไปใช้ในภาคพลังงาน 4 ระยะ คือ

  • ระยะสั้น (2021-2030) ยังใช้ Grey Hydrogen โดยเน้นไปที่การวิจัยนำร่อง
  • ระยะกลาง (2031-2040) เริ่มใช้ Blue Hydrogen ในภาคการผลิตไฟฟ้าและความร้อน
  • ระยะยาว (2041-2050) ใช้ Blue Hydrogen พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการผลิต
  • ระยะปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (2051 เป็นต้นไป) เริ่มใช้ Green Hydrogen

ปัจจุบัน ประเทศไทยเริ่มใช้ Grey Hydrogen เป็นเชื้อเพลิงให้กับกังหันก๊าซที่โรงไฟฟ้าบางปะกงและลำตะคอง โดยผสมกับก๊าซธรรมชาติในอัตราส่วน 50% โดยโครงการนี้เป็นการวิจัยของ กฟผ. เพื่อศึกษาข้อดี ข้อเสีย และประสิทธิภาพของการทำงานของระบบกักเก็บพลังงาน

สุดท้ายแล้ว Green Hydrogen จะเป็นพลังงานสะอาดอีกหนึ่งแหล่งที่จะมีส่วนสำคัญในการทำให้โลกสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ ทว่าการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต Green Hydrogen ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเชิงนโยบายของภาครัฐและการลงทุนจากภาคเอกชน เพื่อให้ราคาของพลังงานชนิดนี้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้เช่นเดียวกับพลังงานสะอาดชนิดอื่น ๆ

ที่มา

related