จบด้วยดี! ลูกจ้าง-นายจ้าง บริษัทฯ ทำแร่ ชาวไต้หวัน จ.กาญจนบุรี ตกลงจ่ายค่าชดเชย หลังประกาศปิดกิจการโดยอ้างสาเหตุมาจากไวรัสโคโรน่าระบาด ได้แล้ว พร้อมทำสัญญาผูกมัด
จากกรณีบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติไต้หวัน ประกาศปิดกิจการ เลิกจ้างลูกจ้างประมาณ 500 คน โดยอ้างว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการกระบาดของไวรัสโคโรน่า ล่าสุด วันนี้ 1 ก.พ.63 นายไพโรจน์ พันธคาร นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่หมู่ 14 ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ได้ปิดกิจการมีผลในวันที่ 1 ก.พ.63
เพราะประสบปัญหาทางด้านการเงิน และมีผลให้บริษัทฯเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมดประมาณ 500 คน แต่ทางบริษัทฯได้จ่ายค่าแรงให้กับลูกจ้างไปหมดแล้ว โดยทางบริษัทฯเองได้ให้ความช่วยเหลือแรงงานชาวเมียนมาที่ต้องการเดินทางกลับประเทศกว่า 200 คน ด้วยการเหมารถบัสไปส่งที่ด่านอำเภอแม่สอด จ.ตาก
อ่านข่าว -ลูกจ้าง 500 คน ตกงาน CEO บริษัทแร่ยักษ์ใหญ่ปิดกิจการอ้างโคโรน่าระบาด
แต่เนื่องจากทางบริษัทฯได้ปิดลงอย่างกะทันหัน ทำให้ลูกจ้างว่างงานโดยไม่รู้ตัว และวานนี้ (31 ม.ค.) ตัวแทนนายจ้างได้เจรจาเรื่องเงินช่วยเหลือจากการเลิกจ้างกับลูกจ้าง ที่เป็นคนไทยและคนชนกลุ่มน้อย รวมจำนวน 120 คน ซึ่งผลการเจรจาสามารถตกลงกันได้ ดังนี้
1.บริษัทฯตกลงจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ลูกจ้างที่เป็นคนไทยและคนชนกลุ่มน้อย รวมจำนวน 120 คน เป็นเงินจำนวน 50 % ของค่าชดเชยตามกฎหมายที่แต่ละคนได้รับ 2.ในวันนี้ทางบริษัทฯได้วางเงิน จำนวน 365,000 บาท โดยวางไว้ที่ตัวแทนลูกจ้างที่ลงลายมือชื่อและตัวแทนลูกจ้างจะนำไปเปิดบัญชีเพื่อฝากไว้และนำจ่ายลูกจ้าง ในวันที่ 20 ก.พ.63
3.วันที่ 7 ก.พ.63 บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการขายสินค้าทั้งหมดในงวดที่ 1 มาวางไว้กับตัวแทนลูกจ้างเพื่อนำไปฝากในบัญชีที่เปิดไว้
4.วันที่ 20 ก.พ.63 บริษัทฯจะนำเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดมามอบให้ลูกจ้างเพื่อรวมกับส่วนที่ได้วางไว้เป็นจำนวนเงินทั้งหมด 50 % และให้ตัวแทนลูกจ้าง โอนเข้าบัญชีลูกจ้างที่ได้แจ้งไว้ ภายในวันที่ 21 ก.พ.63
5.เมื่อลูกจ้างได้รับเงินครบถ้วนตามที่ตกลงกับทางบริษัทฯดังกล่าวแล้ว ลูกจ้างตกลงว่าจะไม่ฟ้องร้องเรียกเงินอื่นใดตามกฎหมายแรงงานอีกต่อไป และตกลงว่าจะไม่ดำเนินคดีต่อนายจ้างทั้งทางแพ่งและทางอาญาอีกต่อไป
6.กรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงข้อหนึ่งข้อใดที่ให้ไว้ข้างต้น ให้ถือว่าสัญญาฉบับนี้เป็นโมฆะ ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป เสมือนไม่มีการตกลงกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างเข้าใจตรงกันและตรงตามเจตนาที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกัน จึงลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน