นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดใจกับ SPRING สุดเหลืออด ยังไม่ได้งบสู้โควิด 19 ตั้งแต่ปีที่แล้ว ข้องใจ เงินกู้ 1.1 ล้านล้าน ไปไหน ทวงไปแล้ว แต่ก็ยังเงียบกริบ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ให้สัมภาษณ์กับ SPRING ถึงกรณีงบประมาณด้านสาธารณสุข ที่สะดุดจนส่งผลกระทบกับการรับมือการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ของทางโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา
โดยคุณหมอเล่าว่า ได้มีการของบฯ ไปตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ปีที่แล้ว กระทั่งมาถึงการระบาดระลอกที่ 3 ในปีนี้ แต่งบฯ ก็ยังไม่มา
จึงทำให้คุณหมอเกิดข้อสงสัยว่า เงินกู้จำนวน 1.1 ล้านล้านบาท ที่ระบุว่าเพื่อนำมาแก้วิกฤตโควิด 19 ได้มีการนำไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ?
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ : เงินกู้โควิด (1.1 ล้านล้านบาท) ที่กระทรวงสาธารณสุขได้มา 4.5 หมื่นล้านบาท พวกผมก็อยู่บ้านนอกน่ะ ก็ไม่รู้ว่าปัจจุบันเงินมันเหลือเท่าไหร่
แต่ที่แน่ๆ มันมีเงินน่าจะราว 2.5 พันล้านบาท ที่ให้โรงพยาบาลทำรายการขอขึ้นไป แล้วเราก็ทำรายการไป เป็นงบที่เรียกว่า ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น ปรับห้องความดันลบ รถพยาบาล เครื่องช่วยหายใจ เครื่องวัดสัญญาณชีพ ตั้งแต่โควิดรอบแรก พอโควิดรอบ 2 ที่สมุทรสาคร เราก็ทวงไป ทางกระทรวงก็ดูจะแอคทีฟ ให้เราหาผู้รับจ้างล่วงหน้าได้เลย จนกระทั่งตอนนี้โควิดรอบ 3 แล้ว ก็ยังเงียบกริบ
ถ้าจัดสรรมาตั้งแต่โควิดรอบแรก หรือรอบ 2 รอบนี้เราก็ได้ใช้ แต่ถ้าเงินมาตอนนี้ก็ต้องเสียเวลาอีก 1-2 เดือนกว่าจะเรียบร้อย
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ : ไม่ได้คุยกันเป็นการส่วนตัว แต่ว่าผู้หลักผู้ใหญ่ก็ทราบ ตอนนี้มีข้อสงสัยว่า ที่ช่วยไม่ได้ เพราะว่าเงินกู้หมดแล้ว เอาไปใช้อย่างอื่นหมดแล้ว ?
ซึ่งจริงๆ ก็ไม่มีใครตอบได้ ไม่มีใครตอบดีกว่า คือเงินกู้อาจจะเอาไปใช้ในคนละครึ่ง ไปเยียวยานู่นนี่นั่น หรือไปซื้ออย่างอื่น เช่น รถถัง เรือดำน้ำ หมดแล้ว ซึ่งจำนวนเงิน (ที่ขอไป) ก็ไม่เยอะ ทำไมไม่ลงมาซักที มันไม่ได้มีปัญหาเรื่องธุรการสักหน่อย
แล้วรัฐบาลก็บอกเป็นเงินกู้ 1.1 ล้านล้านบาท เป็นของกระทรวงสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาทแล้วมันมีปัญหาตรงไหน ไม่เข้าใจ ทำไมถึงไม่โอนเงินมาให้ ทั้งๆ ที่เป็นเงินกู้ก็ต้องมีเงินซิ เพราะกู้มาแล้ว ไม่ได้รอเก็บภาษีสักหน่อย
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ : รายการสำคัญที่เราขอไปก็คือ ปรับปรุงห้องพิเศษ 4 ห้องให้เป็นห้องความดันลบ เป็นเงินประมาณ 4.4 แสนบาท ห้องละแสนกว่าบาท งบไม่มา เราก็เสียโอกาส
ตอนนี้ต้องให้ผู้ป่วยนอนห้องปกติ เพราะไม่มีห้องความดันลบ ลมก็พัดเข้าพัดออกได้ เชื้อโรคก็ฟุ้งกระจาย
เราขอรถพยาบาลเพิ่ม 1 คัน ก็ไม่มา มันไม่มาทั้งชุด ขอเครื่องวัดสัญญาณชีพ ก็ยังไม่มา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะโรงพยาบาลจะนะ แต่ทุกโรงพยาบาล
ผลกระทบก็คือทำให้ความสามารถในการสู้ภัยโควิด 19 โดยเฉพาะในกลุ่มคนไข้หนัก ทำได้น้อยลง คือกลุ่มโรงพยาบาลสนาม กลุ่มคนไข้อาการน้อย ไม่ต้องใช้เครื่องมือแพทย์ แต่กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล มีปอดบวมที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ที่ต้องใช้ห้องความดันลบ ที่ต้องใช้เครื่องมอนิเตอร์สัญญาณชีพ
อย่าง เครื่องช่วยหายใจ ถ้ามีไม่เพียงพอ หรือน้อยเกินไป ผู้ป่วยที่อาการหนัก อาจรอไม่ไหวก็ได้ ดังนั้นมีผลกับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ที่ต้องการเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีสูง แล้วถ้าพ้นช่วงโควิดไปแล้ว เราก็ใช้อุปกรณ์เหล่านี้กับคนไข้ไอซียู คนไข้หนักทั่วไปได้
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ : เราก็ใช้ทรัพยากรเท่าที่เรามี ทรัพยากรหลักที่เรามี ส่วนหนึ่งก็ก็คือเงินบำรุงของโรงพยาบาล อันไหนเราจำเป็นต้องจัดซื้อ เราก็ซื้อ อย่างไม่มีห้องความดันลบ ผู้ป่วยก็ต้องนอนห้องธรรมดา มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดโควิดในโรงพยาบาลสูงขึ้น เราก็ต้องแต่งตัวให้รัดกุม แต่มันก็เพิ่มความเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่และผู้ป่วยอื่นๆ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ : อุปกรณ์ป้องกันตัวเองตอนนี้ยังเพียงพอ ทุกโรงพยาบาลน่ายังจะพอ เพราะว่ามีการเก็บไว้จากโควิดระลอกแรกพอสมควร ราคาก็ไม่สูงมาก แล้วจัดซื้อได้ไม่ยากนัก
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ : ไม่บ่อยนะ ปกติเงินงบประมาณก็จะมาตามเวลาที่ควรจะเป็น แต่ช่วงหลัง เงินงบประมาณมาช้า ซึ่งเราก็งงๆ สมมติฐานก็คือ คงไม่มีตังค์ เงินไม่มี เงินเอาไปหมุนทำอย่างอื่นแล้ว ก็เลยไม่มีเงินจะส่งให้เรา พอไม่มีเงินมา เราก็ไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ : ใช่ ตามกรอบเวลา แต่นี่ผ่านมาจะครึ่งปีงบประมาณ 2564 แล้ว ยังไม่ได้ มันจะไม่ทันกับโควิดด้วย เรื่องของเรื่อง
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ : คงให้ความสำคัญกับระบบสาธารณสุขน้อยมากกว่า เพราะเราก็ได้ข่าวอยู่เรื่อยๆ อ้าว จะซื้อรถถัง จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ อ้าวเดี๋ยวจะซื้อเรือดำน้ำ ซื้ออาวุธ ซื้อเฮลิคอปเตอร์ จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ แล้วของเราจำเป็นในการดูแลประชาชน ทำไมหายไป ทำไมล่าช้า
กลายเป็นคำถามใหญ่ที่พวกผู้อำนวยการ พวกหมอ พวกเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลนินทารัฐบาลกันอย่างหนัก เสียงคงไปไม่ถึงผู้หลักผู้ใหญ่ แต่เรานินทากันในวงข้าว เรียกว่าหมดศรัทธา
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ : ถ้าเป็นระบบสาธารณสุข ยังแข็งแกร่งที่จะสู้ภัยโควิดได้พอสมควร แต่เราใช้ทรัพยากรเก่า ถ้ามีทรัพยากรใหม่ คืองบประมาณมาเสริม ได้ครุภัณฑ์เพิ่ม ได้ห้องความดันลบเพิ่ม ก็ยิ่งดี
ที่นี่มันมีอีกก้อนหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือเรื่องเงินเดือนข้าราชการ กระทรวงสาธารณสุข ตอนนี้อยู่ในช่วงทำงบประมาณปี 65 ท่านอนุทินให้บรรจุข้าราชการใหม่ 4.5 หมื่นคน
4.5 หมื่นคนเนี่ย เป็นเงินเดือนหลายพันล้านบาท สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง ก็จะให้เอาเงินเดือนข้าราชการใหม่เนี่ย มาหักจากเงินงบประมาณสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทองของ สปสช. หักไป 3 พันล้าน จากเพดานที่ตกลงกันไว้ ราวๆ 1.5 แสนล้านบาท
เราก็รู้สึกว่า เงินก็ไม่เพิ่ม อย่างอื่นก็ไม่ได้ให้มา แล้วจะมาตัดเงินเราในปีงบประมาณ 2565 อีก 3 พันล้าน ก็รู้สึกไม่เป็นธรรมอย่างมาก
เพราะ 3 พันล้านบาท เป็นเงินที่ใช้บริหารจัดการได้เยอะ คือเงินมันอาจจะไม่เยอะมากนะ ในภาพรวม งบประมาณประเทศ 3 ล้านล้านบาท แต่ถ้าลงไปตามโรงพยาบาลหลายๆ แห่ง แบบถ้วนหน้าเนี่ย เฉลี่ยได้โรงพยาบาลละ 3 ล้านบาท มันก็มีความหมายกับโรงพยาบาลมากเลย โดยเฉพาะโรงพยาบาลเล็กๆ แต่เงินมันหายไป
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ : ทุกโรงพยาบาลได้รับผลกระทบเหมือนๆ กัน คือถ้ามา มันจะมาพร้อมกันครับ โรงพยาบาลใหญ่ๆ กระทบหนักกว่าเราด้วยซ้ำ เพียงแต่เขาพูดลำบาก เนื่องจากโรงพยาบาลใหญ่ๆ การย้ายผู้อำนวยการมันง่าย โรงพยาบาลไกลๆ จะย้ายไปไหนอีก นี่ก็อยู่ไกลจังแล้ว
เราไม่รู้ว่าอะไรคือความจริง เราอยากรู้ความจริงเหมือนกันนะ ไม่มีตังค์บอกเรามาตรงๆ ก็ได้ เราได้รู้ว่าตังค์หมดแล้ว หรือมันติดตรงสำนักงบฯ ขี้เหนียว ก็บอกเรามา เราจะได้ยกพวกไปสำนักงบฯ
ติดตรงไหนบอกเรามา เราจะได้ช่วยแก้ปัญหา แต่ว่ามันไม่มีคำตอบ ไม่มีคำอธิบาย แล้วก็ให้รอไปเรื่อยๆ