เปิด 5 ข้อสั่งการจาก ‘วิโรจน์’ ส.ส.พรรคก้าวไกล ถึง ‘ประยุทธ์’ ทวงสัญญาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หยุดซื้อซิโนแวค เร่งตรวจเชิงรุกด้วย Rapid Antigen Test พร้อมหนุน มาตรการ Home Isolation
เมื่อวานนี้ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. ก้าวไกล กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ประชาชนได้รับความทุกข์ยากแสนสาหัส มีประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากอยู่ทุกวัน เด็กหลายคนต้องเป็นกำพร้า เด็กหลายคนต้องออกจากโรงเรียนสูญเสียอนาคต หลายคนต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว ทั้งหมดล้วนมาจากความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล รวมเรียกร้อง ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดซื้อซิโนแวค และเร่งดำเนินการดังต่อไปนี้
1. การบริหารจัดการวัคซีน
1.1. ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน พ.ศ. 2561 ในการบังคับให้ AstraZeneca Thailand ส่งมอบวัคซีนให้เป็นไปตามแผนการส่งมอบเดือนละ 10 ล้านโดส ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐบาลอุดหนุนให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ 600 ล้านบาท ตามหนังสือที่ นร 1106/(คกง.) 207 เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 17/2563 ลงวันที่ 24 ส.ค. 63
1.2 ให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ในการพยายามอย่างสูงสุด เร็วที่สุด ในการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อเชื้อสายพันธุ์เดลต้า และเชื้อกลายพันธุ์ต่างๆ
เช่น วัคซีนชนิด mRNA และวัคซีนชนิด Viral Vector มาแทนวัคซีนซิโนแวค โดยสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แจ้งมาแล้วว่า ใช้เวลาในการตรวจสัญญาเพียงแค่ 3-5 วันเท่านั้น ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเซ็นสัญญาเพื่อจัดหาวัคซีน mRNA ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน พร้อมกับเปิดสัญญาให้ประชาชนได้ร่วมตรวจสอบ
1.3 ยุติการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวค จนกว่าจะมีผลการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ ที่ยืนยันในประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวค ต่อเชื้อสายพันธุ์เดลต้า และเชื้อกลายพันธุ์ต่างๆ
1.4 เปิดเผยสัญญา และเงื่อนไขข้อตกลงการสั่งซื้อวัคซีน ที่รัฐบาลได้ทำไว้กับ AstraZeneca Thailand และ ซิโนแวคตลอดจนมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีนทั้งหมด อย่างโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมตรวจสอบ
1.5 ให้รัฐบาลเร่งจัดฉีดวัคซีนเสริมภูมิให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เพื่อลดอัตราการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ลง และดำรงขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข ที่มีหน้าที่สำคัญในการดูแลรักษาประชาชนผู้ติดเชื้อ
1.6 เร่งปรับปรุงระบบฐานข้อมูลการลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีน ให้เชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูล MOPH IC ของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมกับปรับปรุงสูตรในการกระจายวัคซีนใหม่ ที่พิจารณาถึงสถานการณ์การระบาด ความเสี่ยงต่อการระบาด และขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขของจังหวัดต่างๆ เพื่อให้การกระจายสต๊อกวัคซีนดำเนินไปอย่างเป็นธรรม และแก้ปัญหาการเลื่อนฉีดวัคซีน ที่ปัจจุบันมีประชาชนเป็นจำนวนมากถูกลอยแพ และยังไม่ทราบกำหนดวันนัดหมายใหม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยตั้งเป้า จัดหาวัคซีนหลัก กว่า 150 ล้านโดส มีวัคซีนอะไรบ้าง ?
สรุป วิเคราะห์ ข้อเสนอเปลี่ยนยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน เพื่อลดอัตราการตาย
ซิโนแวค อาจป้องกันโควิดกลายพันธุ์ ไม่ได้ แล้วทำไมสั่งซื้อเกือบ 50 ล้านโดส ?
2. การบริหารจัดการเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ของระบบสาธารณสุข และการดูแลชีวิตของประชาชน
2.1 มาตรการการกักตัวรักษาตนเอง (Home Isolation) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการไปก่อนหน้านี้หลายครั้ง ยังคงต้องเน้นย้ำให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเบาบาง และพักอาศัยตามลำพัง หรือแยกออกจากบุคคลในครอบครัวได้ สามารถกักตัวรักษาตนเองที่บ้านได้
โดยมีระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่มีการติดตามอาการ แพทย์สามารถสั่งจ่ายยา และมีระบบในการจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยถึงบ้าน มีระบบติดต่อฉุกเฉิน (Emergency Call) เพื่อรับผู้ป่วยที่อาการหนักขึ้นมารักษาตัวที่โรงพยาบาล และมีระบบจัดส่งอาหาร (Food Delivery) ให้กับผู้ป่วยตลอดระยะเวลาที่กักตัวรักษาตนเองที่บ้าน
2.2 พิจารณาอนุญาตให้ผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ยังไม่ครบระยะเวลา 14 วัน แต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเบาบาง ในกรณีที่เข้าเงื่อนไขที่สามารถกักตัวรักษาตนเองได้ ให้กักตัวรักษาตนเอง เพื่อจัดสรรเตียงให้กับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง และอาการหนัก
3. เร่งตรวจเชิงรุก
รัฐบาลควรเร่งตรวจเชิงรุกด้วย Rapid Antigen Test พร้อมกับอนุญาตให้ประชาชนได้เข้าถึงชุดตรวจที่ผ่านมาตรฐาน อย. เพื่อตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง เพื่อแยกผู้ติดเชื้อมารักษา สกัดกั้นการระบาด รัฐบาลควรมีบทเรียนได้แล้ว จากทั้งกรณีวันสงกรานต์
และล่าสุดการประกาศปิดแคมป์คนงานล่วงหน้า จนวันนี้มีการแพร่เชื้อไปยังวงกว้างถึง 32 จังหวัด ถ้ารัฐบาลใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ แต่ไม่มีการตรวจเชิงรุก ไม่มีการดำเนินมาตรการในการจำกัดการเคลื่อนย้ายประชากรอย่างจริงจัง จะทำให้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์สูญเปล่า ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ กิจการร้านค้าที่ถูกปิดก่อนหน้า ก็จะถูกปิดลืมแบบลากยาวไปเรื่อย ได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส
4. เยียวยาอย่างเป็นธรรม
รัฐบาลทราบอยู่แล้วว่า การจัดฉีดวัคซีนที่ล่าช้านั้นมีมูลค่าความเสียหายสูงถึงเดือนละ 200,000 ล้านบาท ซึ่งคุณอนุทิน ก็ได้ทำหนังสือแจ้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทราบด้วยตัวเอง
ดังนั้น การที่รัฐบาลปล่อยปละละเลย จนเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่ประชาชน รัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ประกอบกับที่ผ่านมา ตั้งแต่กรณี สนามมวย คณะ VIP บ่อนการพนัน การลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย การลักลอบการค้าแรงงานต่างชาติ ล้วนเป็นการละเลยของรัฐบาลทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจะต้องเยียวยาให้กับประชาชนทั้งที่เป็นแรงงานในระบบ และแรงงานนอกระบบอย่างเป็นธรรม ด้วยเงินสด แบบถ้วนหน้า หากเทียบกับโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ซึ่งสถานการณ์วันนี้หนักกว่ามาก ประชาชนจึงควรได้รับเงินชดเชยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 บาท รวมทั้งชดเชยความเสียหายให้กับผู้ประกอบกิจการ
โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ทั้งการยกเว้นค่าน้ำ ค่าไฟ และชดเชยค่าเช่าสถานที่ โดยให้จ่ายชดเชยตามจริง โดยไม่เกินสัดส่วนหนึ่ง เช่น ร้อยละ 20 ของรายได้ ณ เดือนก่อนที่จะมีการระบาดระลอกที่ 3 เป็นต้น สำหรับร้านค้า หรือกิจการที่ถูกปิดไปก่อนหน้านี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยย้อนหลังด้วย
5. กางข้อกำหนดให้ชัดและเป็นขั้นบันได
ขอเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดหลักเกณฑ์ในการล็อกดาวน์ และผ่อนคลาย โดยคำนึงถึงสถานการณ์การติดเชื้อ และขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ แบบเป็นขั้นบันได เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงสถานการณ์ และวางแผนรับมือด้วยตนเองส่วนหนึ่งได้ และมีส่วนร่วมกับรัฐบาลในการคลี่คลาย และบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดด้วย
ที่ประชาชนจดจำได้ ก็คือ รัฐบาลไทยอุดหนุนเงิน 600 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตวัคซีนชนิด Viral Vector ให้กับประเทศไทย โดยหนึ่งในเงื่อนไขที่ปรากฎ ในหนังสือที่ นร 1106/(คกง.) 207 เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 17/2563 ลงวันที่ 24 ส.ค. 63 ระบุไว้ชัดว่า
“... เพื่อให้ประเทศไทยได้รับสิทธิในการซื้อวัคซีนที่ผลิตโดยผู้ผลิตในไทยเป็นอันดับแรกตามจำนวนความต้องการ ... และวัคซีนที่เหลือบริษัท AstraZeneca วางเป้าหมายในการกระจายให้กับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้...”
ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 63 ก็มีมติ ครม. อนุมัติงบกลาง ของงบประมาณประจำปี 63 อุดหนุนให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด
“ประเทศไทยมีความชอบธรรมที่จะได้รับวัคซีนจาก AstraZeneca Thailand เดือนละ 10 ล้านโดส ส่วนที่เหลืออีก 5-6 ล้านโดส AstraZeneca Thailand จึงสามารถนำไปส่งออกไป การที่ AstraZeneca Thailand จะส่งมอบให้กับประเทศไทยเพียงแค่ 5 ล้านโดสต่อเดือน เป็นการไม่ยุติธรรมต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงิน 600 ล้านบาท
ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องเปิดเผยสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับ AstraZeneca Thailand ว่ามีเงื่อนไขนี้บรรจุอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มีเท่ากับว่ารัฐบาลเอาเงินภาษีของประชาชน 600 ล้านบาท ไปอุดหนุนเอกชน โดยไม่ได้ทำตามเงื่อนไขตามที่ได้แจ้งให้ประชาชนทราบ ซึ่งหากไม่สามารถชี้แจงได้ อาจเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง” นายวิโรจน์ กล่าว