svasdssvasds

อาหารเสริมลดความอ้วน ใส่สารอันตราย ไม่ผ่าน อย. ชี้เสี่ยงถึงชีวิต

อาหารเสริมลดความอ้วน ใส่สารอันตราย ไม่ผ่าน อย. ชี้เสี่ยงถึงชีวิต

การรับประทานอาหารเสริมลดความอ้วนได้ผลจริงหรือ? จริงๆ แล้วผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าอาหารเสริมที่ได้รับอนุญาตจาก อย.นั้น ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดที่จะช่วยลดน้ำหนักได้โดยเร่งด่วน หรือใช้ในการบำบัด บรรเทารักษาโรคได้

และหากผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อถูกหลอกลวงด้วยโฆษณาชวนเชื่อนี้ ก็จะทำให้เสียเงินโดยเปล่า ประโยชน์  

และหากมีผลิตภัณฑ์รายการใดที่รับประทานแล้วทำให้น้ำหนักลดลง ได้ผลจริงในเวลาอันรวดเร็ว ก็ต้องสงสัยได้เลยว่า อาจจะใส่สารอันตรายที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทปลอมปนในอาหารเสริมนั้น เช่น สารไซบูทรามีน ทำให้ไม่อยากอาหาร แต่ผลข้างเคียงนั้นอันตรายมาก   โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิต โรคหลอดเลือดสมองตีบ    โรคตับ โรคไต โรคต้อหิน หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร โดยจะมีอาการข้างเคียง คือ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ท้องผูก ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

ที่มา : Oryor

 

 

ไซบูทรามีนเป็นยาที่ยกเลิกทะเบียนตำรับไปแล้ว ตั้งแต่ ปี 2553 เนื่องจากมีรายงานถึงผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต โดยปัจจุบันประเทศไทยจัดให้สารไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1

ที่มา : กองวัตถุเสพติด

อย. ซึ่งหากตรวจพบผู้ใดขายอาหารเสริมอ้างลดน้ำหนักโดยลักลอบใส่สารไซบูทรามีน จะถูกดำเนินคดีโดยบทกำหนดโทษของการขายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกตั้งแต่ 4 -20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 – 2,000,000 บาท

อย่างไรก็ตามหากย้อนไปในปี พ.ศ. 2561  สสจ.ชลบุรีได้เก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ผลปรากฎเจอสารไซบูทรามีน จึงส่งเรื่องให้ อย.ทราบและออกประกาศผลการตรวจพิสูจน์อาหารให้ประชาชนรับทราบโดยทั่วกัน และในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น พบเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตโดยพบผลิตภัณฑ์ยาชุดลดน้ำหนักและอาหารเสริมใส่สารไซบูทรามีนยี่ห้อ  “ลีน เอฟเอส-ทรี” และ“ลีน บล้อค เบิร์น เบรก บิวท์ ” อยู่ในห้องพัก 
อาหารเสริมลดความอ้วน ใส่สารอันตราย ไม่ผ่าน อย. ชี้เสี่ยงถึงชีวิต

ซึ่งต่อมา อย. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขยายผลจับกุมบริษัทที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี  และได้ตรวจจับโรงงานผลิตย่านปทุมธานี ซึ่งลักลอบผลิตอาหารเสริมใส่ยาแผนปัจจุบันและสารไซบูทรามีน  จากนั้น อย. ได้ลงดาบสั่งยกเลิกเลขอนุญาตผลิตภัณฑ์และพักใช้ใบอนุญาตผลิตอาหาร แถมตั้งข้อหาผลิตยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และผลิตยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับด้วย  นอกจากนี้ยังส่งหนังสือถึง สสจ. ทั่วประเทศเฝ้าระวังตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ไม่ให้มีการขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

ที่มา : Springnews , Oryor , Oryor

 

อาหารเสริมลดความอ้วน ใส่สารอันตราย ไม่ผ่าน อย. ชี้เสี่ยงถึงชีวิต

ต่อมาในปี 2562  พบแม่ลูกอ่อนเสียชีวิตที่ รพ.อ่างทอง จากมหันตภัยยาลดความอ้วน แพทย์ระบุสาเหตุจากหัวใจเต้นผิดจังหวะจากการใช้ยาลดน้ำหนัก  โดยสั่งซื้อยาลดความอ้วนจากคลินิกออนไลน์มากิน  ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำกำลังพร้อมหมายศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้าตรวจค้นบ้าน ณ อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ หลังสืบทราบเป็นแหล่งผลิตและโกดังขนาดใหญ่เก็บยาลดความอ้วน ตรวจค้นพบยาหลากชนิดหลายยี่ห้อ ทั้งแบบเม็ด ผง และแคปซูลกว่า 10 ล้านเม็ด และอุปกรณ์การผลิตผลิตภัณฑ์ยาลดความอ้วนและสารไซบูทรามีน 


โดยตำรวจแจ้ง 5 ข้อหากับ 3 ผู้ต้องหา ซึ่งหนึ่งใน 3 ผู้ต้องหาคนคิดสูตร เป็น "อดีตเภสัชกร" ที่ถูกถอนใบอนุญาต คือ ร่วมกันผลิตและขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันตั้งโรงงานและประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันผลิตและจำหน่ายอาหารปลอม และร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 1 (ไซบูทรามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อขาย 
ต่อมาศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ได้มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563  จำคุกอดีตเภสัชกรและพวก รวมคนละ 34 ปี 33 เดือน และปรับคนละ 2,550,000 บาท

ที่มา : MGRonline
 

ช่วงปี พ.ศ. 2564  อย. ร่วมกับตำรวจ บกปคบ. ตรวจจับและดำเนินคดีกับผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมลดน้ำหนักที่ลักลอบใส่สารไซบูทรามีนขายผ่านสื่อออนไลน์ และได้ข่าวเตือนภัยประชาชนอย่างต่อเนื่องอีกหลายคดี  ตัวอย่างเช่น


เดือนเมษายน 2564 ได้บุกจับผู้ต้องหา 8 คน 10 หมายจับ  ในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ  พร้อมตรวจยึดผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักยี่ห้อ BODY FIRMING by nikki สูตร 2 ดื้อยามาก ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์พบ ไซบูทรามีน กว่า 40,000 แคปซูล โดยกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีพฤติการณ์ โพสต์ขายสินค้าตามเฟชบุ๊ก ระบุข้อความขายสินค้า “อาหารเสริมลดน้ำหนัก BODY FIRMING by Nikki ดื้อยาแรง อ้วนหลังคลอด กระชับ พุงยุบ ลดทุกสัดส่วนยกเว้นหน้าอก เห็นผลจริงเชิญทดสอบผลใน 7 วัน ผลิตจากสมุนไพรล้วน 100% ช่วยในการเผาผลาญไขมันไม่ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่โยโย่ ไม่กลับมาอ้วนอีก “ จากการสอบสวนพบว่ากลุ่มผู้ต้องหาบางรายทำงานในโรงพยาบาลแต่ไม่ใช่แพทย์หรือเภสัชกร และนำมาแอบอ้างหลอกผู้บริโภคจนมีผู้เสียหายหลงเชื่อจำนวนมาก

ที่มา : moph.go.th

อาหารเสริมลดความอ้วน ใส่สารอันตราย ไม่ผ่าน อย. ชี้เสี่ยงถึงชีวิต

เดือนสิงหาคม 2564 อย. ได้รับแจ้งจากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ว่าได้ตรวจสอบพบผลิตภัณฑ์กาแฟ 3 in 1 Slimming Coffee ฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ ระบุว่าเป็นกาแฟลดน้ำหนัก ไม่มีเลขสารบบอาหาร และเมื่อตรวจสอบด้วยชุดทดสอบอย่างง่าย พบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการปลอมปนสารไซบูทรามีน จากการตรวจสอบพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. 

ที่มา : Oryor

อาหารเสริมลดความอ้วน ใส่สารอันตราย ไม่ผ่าน อย. ชี้เสี่ยงถึงชีวิต เดือนธันวาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก. ปคบ. ร่วมกับ อย. จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับทั้ง 14 ราย พร้อมตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักเห็นผลไวใน 7 วัน ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ในเบื้องต้นพบสารไซบูทรามีน ยาชุดลดน้ำหนักและยาไม่มีทะเบียนจำนวนมาก โดยกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีพฤติการณ์โพสต์ขายยาและอาหารเสริมผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ จากการสอบสวนผู้ต้องหาให้การว่า ตนไม่มีความรู้หรือมีใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือมีความรู้เฉพาะทางแต่อย่างใด

ที่มา : Oryor

จากเคสตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมด เห็นได้ว่าหากผู้บริโภคหลงเชื่อโฆษณาอาหารเสริมอ้างลดน้ำหนัก ลักลอบใส่สารไซบูทรามีนหรือยาลดความอ้วน ผลที่ได้จะไม่คุ้มกับผลเสียที่จะได้รับ เพราะอันตรายจากการปนเปื้อนยาหรือสารอันตรายที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้  หากผู้บริโภคต้องการลดความอ้วน ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและควบคุมอาหาร โดยไม่กินอาหารพร่ำเพรื่อ ควรกินอาหารที่หลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสมครบ 5 หมู่ ลดการกินอาหาร หวาน มัน เค็ม รวมทั้งควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และขอให้ผู้บริโภคคำนึงไว้เสมอว่า อาหารไม่ใช่ยา ไม่สามารถช่วยบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคได้ 


3 วิธีง่ายๆ ก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 


1.ตรวจสอบก่อนการสั่งซื้อ โดยผลิตภัณฑ์ต้องมีฉลากภาษาไทย มีเลข อย. 13  หลัก หรือที่เรียกว่าเลขสารบบอาหาร อยู่ภายในกรอบเครื่องหมาย อย.  สามารถตรวจสอบเลข อย.ได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หัวข้อตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ โดยชื่อผลิตภัณฑ์ ข้อมูลผู้ผลิต/นำเข้า ต้องตรงกับที่ระบุบนฉลาก และที่สำคัญสถานะผลิตภัณฑ์ต้อง “คงอยู่”


2.ไม่หลงเชื่อข้อความโฆษณาเกินจริง เช่น หุ่นลีน หุ่นฟิต ลดเร็ว ผอมเร็ว ลดไว ลดความอ้วนภายในวันเดียว เป็นต้น


3.ตรวจสอบข้อมูลข่าวแจ้งเตือนภัย โดยการนำชื่อผลิตภัณฑ์ไปค้นหาผ่าน Google หากพบ อย. ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (AFNC) หรือหน่วยงานอื่นใดที่น่าเชื่อถือ มีการแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็ไม่ควรเลือกซื้อ    


พบเห็นผลิตภัณฑ์ต้องสงสัย แจ้งร้องเรียนได้ที่ email> [email protected] หรือ สายด่วน 1556  และสามารถติดตามข้อมูลแจ้งเตือนภัยประชาชน ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา www.fda.moph.go.th
 

 

related