svasdssvasds

ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) คืออะไร สรุปสูตรคำนวณ หาร 100 เข้าใจง่าย

ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) คืออะไร สรุปสูตรคำนวณ หาร 100 เข้าใจง่าย

ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) คืออะไร สำคัญกับการเลือกนายกฯ มากน้อยแค่ไหน พร้อมเปิดสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ในการเลือกตั้ง66 ที่กำลังจะมาถึง ประชาชนผู้มีสิทธิสามารถลงคะแนนในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต หรือที่เรียกว่า ส.ส.แบ่งเขต ซึ่งผู้ชนะวัดด้วยวิธีง่ายๆ จากระบบเสียงข้างมาก อีกส่วนหนึ่งคือเลือก "พรรคที่ชอบ" เพื่อเป็นแต้มต่อในการส่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ ที่แต่ละพรรครวบรวมรอไว้บัญชีละ 100 คน ผ่านการคิดคำนวณแบบคู่ขนาน หรือ Mixed Member Majoritarian System (MMM) 

 กติกาเลือกตั้ง ส.ส.เขต เข้าใจไม่ยาก เนื่องจากใช้ระบบเสียงข้างมากแบบธรรมดา คือ ผู้สมัคร ส.ส. คนใดได้คะแนนสูงสุดจากผู้มาใช้เสียงทั้งหมดในเขตเลือกตั้งนั้นก็จะเป็นผู้ชนะ และได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนเขตเลือกตั้งเข้าไปนั่งในสภา

ในขณะที่การคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซับซ้อนและเป็นที่ถกเถียงมากกว่า ถึงขนาดที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยเปลี่ยนสูตรคำนวณมาแล้วในปี 2562 กฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ระบุขั้นตอนการคำนวณไว้ชัดเจนแล้ว จึงชวนทำความเข้าใจวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยภาษาที่อ่านเข้าใจได้เป็นขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์)

 กฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่จะใช้ระบบ Mixed Member Majoritarian หรือ MMM หรือระบบที่คนนิยมเรียกว่า "ระบบคู่ขนาน" (Parallel System) เนื่องจากเป็นระบบการจัดสรรที่นั่ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบแยกขาดออกจากกัน โดยมาตรา 96 ของกฎหมายเลือกตั้ง กำหนดขั้นตอนการคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไว้ดังนี้

1) ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ หารด้วย 100 ผลลัพธ์ที่ได้ คือ “คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน”

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• พรรคก้าวไกล เปิดโผ ส.ส.บัญชีรายชื่อ "พิธา" ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ไร้ชื่อนายทุน

• เปิด 100 ปาร์ตี้ลิสต์ภูมิใจไทย ตามคาด อนุทิน นั่งเบอร์หนึ่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ

• สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 100 หาร 500 พรรคไหนได้ประโยชน์?

2) ให้นำคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน ผลลัพธ์ที่ได้ "เฉพาะส่วนที่เป็นจำนวนเต็ม" คือจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ

3) ถ้าจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้รับรวมกันไม่ครบ 100 คน กฎหมายเลือกตั้งระบุไว้ชัดว่า ให้ “พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ที่เป็นเศษโดยไม่มีจำนวนเต็ม” และ “พรรคการเมืองที่มีเศษหลังการคำนวณตามข้อ 2) ข้างต้น” พรรคใดเป็นหรือมีเศษจำนวนมากที่สุด ให้ได้รับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 1 คนเรียงตามลำดับ จนกว่าจะมีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับรวมกันครบ 100 คน

 ทั้งนี้ วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อสำหรับการเลือกตั้ง 2566 จะมีความแตกต่างกับระบบการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ตรงที่รัฐธรรมนูญ 2540 ได้กำหนด “คะแนนขั้นต่ำของพรรคที่จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ” ไว้ที่ร้อยละ 5 ของคะแนนรวมทั้งประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ “ส.ส.ปัดเศษ” หรือ ส.ส.จากพรรคที่ได้คะแนนน้อยกว่า “คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน”

 ทั้งนี้การคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อตามกฎหมายเลือกตั้งปี 2566 ไม่ใช่เรื่องใหม่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื่องจากเป็นสูตรคำนวณเดียวกับการเลือกตั้งปี 2554 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) โดยกฎหมายเลือกตั้งในขณะนั้น ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนเท่ากับกฎหมายฉบับปัจจุบัน โดยระบุเพียงว่า

“ในกรณีที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับรวมกันทุกพรรคการเมืองมีจำนวนไม่ครบหนึ่งร้อยยี่สิบห้าคน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ตาม (๓) เป็นเศษที่มีจำนวนมากที่สุด…” แต่ในทางปฏิบัติ กกต. ก็คำนวณผลการเลือกตั้งโดยนับรวมพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่า “คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน” เข้าด้วย ทำให้ผลการเลือกตั้งปี 2554 มี “ส.ส.ปัดเศษ” จำนวน 4 คน

ส.ส.ปัดเศษมีลุ้นเข้าสภา แต่ความสำคัญอาจน้อยลงในการจัดตั้งรัฐบาล

 แม้ว่าในปี 2566 ปรากฏการณ์ “ส.ส.ปัดเศษ” (ในที่นี้หมายถึง ส.ส.จากพรรคที่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่าคะแนนเฉลี่ยต่อส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน) ยังสามารถเกิดขึ้นได้ แต่มีแนวโน้มว่าบรรดา ส.ส.ปัดเศษ เหล่านี้ จะมีความสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลน้อยลง เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 เนื่องจากส.ส.ปัดเศษแม้จะเกิดขึ้นได้ แต่ก็เกิดขึ้นได้ยากกว่าปี 2562 มาก เห็นได้จากตัวอย่างการคำนวณข้างต้น จะมี ส.ส.ปัดเศษเพียง 3 คน ซึ่งน้อยกว่าปี 2562 ที่มี ส.ส.ปัดเศษทั้งหมด 11 คน

 นอกจากนี้ คะแนนเสียงที่พรรคการเมืองนั้นได้รับจะต้องแตะหลักแสน ต่างกับปี 2562 ที่มีพรรคการเมืองซึ่งได้รับเพียง 35,099 เสียง ก็สามารถมี ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว เมื่อส.ส.ปัดเศษเกิดได้ยากขึ้นและมีจำนวนน้อยลง โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แบบปี 2562 ที่เหล่า ส.ส.ปัดเศษ 11 คน มีอำนาจต่อรองเพื่อเข้าร่วมกับพรรครัฐบาล คงเกิดได้ยากขึ้น 

ที่มา : iLaw

related