svasdssvasds

กกต.แจง "ข้อกฎหมาย" ยก 6 หลักเกณฑ์ เข้าชื่อเสนอ ครม.ออกเสียงทำประชามติ

กกต.แจง "ข้อกฎหมาย" ยก 6 หลักเกณฑ์ เข้าชื่อเสนอ ครม.ออกเสียงทำประชามติ

กกต.แจง "ข้อกฎหมาย" ยก 6 หลักเกณฑ์ เข้าชื่อเสนอ ครม.ออกเสียงทำประชามติ เช่น ต้องมีจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 50,000 คน , ต้องมีเนื้อหาชัดเจนเพียงว่าประสงค์จะออกเสียงในเรื่องใด และเรื่องนั้นต้องไม่ใช่เรื่องที่ต้องห้ามมิให้ออกเสียงตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารข่าวเผยแพร่รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำประชามติ เนื้อหาระบุว่า ด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 มาตรา 9 (5) กำหนดการออกเสียงประชามติกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ

กกต.ได้ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังนี้

1. ต้องมีจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 50,000 คน ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติ ไม่มีลักษณะต้องห้าม และไม่ถูกจำกัดสิทธิตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564      

2. จัดทำหนังสือกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงต้องมีเนื้อหาที่ชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้ว่าประสงค์จะออกเสียงในเรื่องใดและเรื่องนั้นมิใช่เรื่องที่ต้องห้ามมิให้ออกเสียงตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

3. รายชื่อผู้มีสิทธิเข้าชื่อ ต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับเลขประจำตัวประชาชน ชื่อ ชื่อสกุล และลายมือชื่อของผู้มีสิทธิเข้าชื่อทุกคน พร้อมทั้งจัดทำรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าชื่อในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ใส่แผ่นบันทึกข้อมูล หรืออุปกรณ์บันทึกข้อมูลแบบพกพา โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับเลขประจำตัวประชาชน ชื่อ ชื่อสกุล ของผู้มีสิทธิเข้าชื่อทุกคน

4. ผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อยื่นเอกสารและข้อมูลด้วยตนเองต่อสำนักงานกกต.ส่วนกลาง หรือสำนักงานกกต. ประจำจังหวัด หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ E-mail : [email protected]

5. เมื่อสำนักงานกกต. ได้รับเอกสารและข้อมูลแล้ว จะดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดในหนังสือการเข้าชื่อเสนอต่อครม. เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียง ว่าถูกต้องตามแบบที่กำหนดหรือไม่ และตรวจสอบจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อว่าครบถ้วนหรือไม่ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเอกสาร

 กรณีผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อยื่นเอกสารต่อสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดให้สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดจัดส่งเอกสารและข้อมูลดังกล่าวให้สำนักงาน กกต. กลางดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นภายใน 3 วันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารและข้อมูล  

 หากตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนก็จะแจ้งผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อทราบโดยเร็ว และสำนักงาน กกต. จัดส่งเอกสารให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อไป  

 กรณีที่ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้องครบถ้วน จะแจ้งผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อ พร้อมทั้งส่งเรื่องคืนเพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องครบถ้วนและยื่นต่อสำนักงาน กกต. ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อ 4 ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง แต่หากผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าวให้การเสนอเรื่องการเข้าชื่อเสนอต่อ ครม. เป็นอันยุติในคราวนั้น

6. เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับเอกสารและข้อมูลจากสำนักงาน กกต. แล้ว จะพิจารณามอบหมายหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบ การเข้าชื่อของผู้มีสิทธิเข้าชื่อว่ามีความถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ โดยอาจขอให้หน่วยงานของรัฐอื่นสนับสนุนและช่วยเหลือในการตรวจสอบได้ โดยในการตรวจสอบการเข้าชื่อ หากตรวจสอบแล้วพบว่าเลขประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อผู้ใดไม่ถูกต้อง ให้หักออก หากยังมีผู้มีสิทธิเข้าชื่อครบจำนวนตามข้อ 1 จะดำเนินการเสนอรายงาน ต่อครม. ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำความเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบในเรื่องที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงต่อไป 

 อย่างไรก็ตาม หากผู้มีสิทธิเข้าชื่อไม่ครบจำนวน จะต้องรายงานสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อยุติการเสนอเรื่องต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียง และแจ้งผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อพร้อมทั้งส่งเรื่องคืนให้ผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อและแจ้งสำนักงาน กกต. ทราบ  

 ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้มีสิทธิเข้าชื่อได้จากพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 มาตรา 20 มาตรา 21 และมาตรา 24

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• รัฐสภา มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

• Breaking News : มติศาลรธน.“รัฐสภา”แก้รธน.ได้แต่ต้องผ่านประชามติก่อน

• ปมปิดสวิตช์ ส.ว. ต้องถามประชาชนก่อน เหตุเป็นอำนาจที่ได้มาจากประชามติ

related