svasdssvasds

กระบี่วุ่น! พบผู้ป่วยเข้าข่ายโรคไข้กาฬหลังแอ่น ดับ 1 ราย เสี่ยง 25 ราย

กระบี่วุ่น! พบผู้ป่วยเข้าข่ายโรคไข้กาฬหลังแอ่น ดับ 1 ราย เสี่ยง 25 ราย

สสจ.กระบี่ แถลงพบผู้ป่วยเข้าข่ายโรคไข้กาฬหลังแอ่น ในปอเนาะแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.คลองท่อม 6 ราย เสียชีวิต 1 ราย สัมผัสเสี่ยง 25 ราย เช็กอาการ-การติดเชื้อ-การป้อง ได้ที่นี่

วันที่ 25 พ.ย. 65​ นพ.สินชัย รองเดช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่เข้าข่ายป่วยด้วยโรคไข้กาฬหลังแอ่นที่พบในโรงเรียนปอเนาะ ในพื้นที่ ต.ห้วยน้ำขาว ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ ได้รับรายงานจากงานระบาดว่า พบชายอายุ 20 ปี เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาล อ.คลองท่อม และเสียชีวิต ซึ่งผู้ป่วยรายนี้มาด้วยอาการไข้และมีผื่นใต้ผิวหนัง ทราบว่าเป็นผู้ป่วยที่อยู่ที่โรงเรียนปอเนาะดังกล่าว จากนั้นก็มีผู้ป่วยอีก 5 ราย มาเข้ารับการรักษาด้วยอาการไข้ มีผื่นใต้ผิวหนัง เช่นเดียวกัน เมื่อซักประวัติแล้วทราบว่ามาจากที่เดียวกัน รวมผู้ป่วย 6 ราย ต่อมาเสียชีวิต 1 ราย เบื้องต้นได้เจาะเลือดตรวจหาเชื้อเพื่อยืนยันโรคไข้กาฬหลังแอ่น

ทั้งนี้สรุปผลจากการลงพื้นที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่และสำนักงานควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อนค้นหาผู้ที่สัมผัสที่อยู่ใกล้ชิด พบว่าอีก 25 ราย มีอาการเสี่ยง ในจำนวนนี้มีอยู่จำนวน 8 ราย ที่มีการก่อเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น จึงได้ทำการตรวจเลือดเพื่อส่งไปตรวจหาเชื้อที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ภูเก็ต เพื่อตรวจหาเชื้อยืนยัน แต่ต้องรอผลการตรวจอีก 2 วัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

นายแพทย์สมบูรณ์ บุญกิตติชัยพันธ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดกระบี่ได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคอย่างต่อเนื่องเพื่อค้นหาผู้ใกล้ชิดและต้องสงสัยป่วยด้วย โรคไข้กาฬหลังแอ่น เบื้องต้นยังไม่พบผู้ป่วยเข้าข่ายเพิ่ม ขณะนี้ทางอำเภอคลองท่อมได้ออกประกาศให้พื้นที่โรงเรียนปอเนาะดังกล่าวเป็นพื้นที่ห้ามบุคคลภายนอกเข้าหรือออก เบื้องต้นก็ได้ให้ยาฆ่าเชื้อในการป้องกันโรคทั้งหมด พร้อมให้คำแนะนำในการป้องกันโรคให้กับโรงเรียน ทั้งการให้สวมหน้ากากอนามัย ความสะอาด และลดความแออัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น

สำหรับโรคนี้ไม่พบบ่อย แต่หากว่าติดเชื้อก็อาจจะทำให้เสียชีวิตได้ และขอฝากไปยังทุกคนที่มีอาการเจ็บป่วย ไอจาม หากรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์

เว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า โรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria meningitides ซึ่งเป็นเชื้อกรัมลบรูปทรงกลมจำพวกเดียวกับเชื้อหนองในแท้ หรือ Neisseria gonorrheae แต่ไม่ทำให้เกิดกามโรคและมีความรุนแรงในการก่อโรคมากกว่า มีอัตราการตายสูงกว่า

-ชื่อโรคไข้กาฬ มีเหตุจากความรุนแรงของโรค ซึ่งทำให้ผู้ป่วยถึงแก่กรรมได้ในเวลาอันสั้น 

-ชื่อหลังแอ่น เนื่องจากลักษณะของผู้ป่วยโรคนี้อาจมีการชักเกร็ง หลังแข็งแอ่น ไม่เกี่ยวข้องกับนกนางแอ่นแต่อย่างใด

ลักษณะการติดต่อ

โรคไข้กาฬหลังแอ่น มีรายงานการตรวจพบผู้ป่วยในประเทศไทยมานานหลายปีแล้ว มีผู้ป่วยจำนวนน้อยในแต่ละปี ไม่ค่อยเกิดการระบาดเหมือนโรคระบาดอื่นๆ ส่วนการติดต่อกันนั้น จะเกิดการติดต่อในหมู่ประชาชนจำนวนหนึ่ง ในชุมชนเดียวกัน เกิดกับผู้สัมผัสโรค เช่น อาศัยในหอ พัก ในกองทหาร ในห้องเรียน ในบ้านเดียวกันกับผู้ป่วย อย่างไรก็ตามอาจพบผู้ป่วยโรคนี้เพียงรายเดียว ไม่มีประวัติการสัมผัสโรคได้เช่นกัน (sporadic) 

กลุ่มเสี่ยง

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักอยู่ในวัยเด็ก หนุ่มสาวหรือผู้ใหญ่อายุน้อย การเกิดโรคไม่สัมพันธ์กับฤดูกาลแต่อย่างใด เชื้อโรคไข้กาฬหลังแอ่น สามารถพบอยู่ในลำคอของคนปกติส่วนน้อยได้ โดยไม่เกิดโรคขึ้น เรียกว่า การเป็นพาหะของเชื้อ เชื้อสามารถถ่ายทอดได้โดยทางเดินหายใจ ผ่านการไอ , จาม , เสมหะ น้ำมูก น้ำลายไปสู่ผู้ใกล้ชิด ผู้ที่มีปัจจัยภายในตนเองผิดปกติบางอย่าง เช่น ร่างกายไม่สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคนี้ หรือ เชื้อสามารถเล็ดลอดเข้าสู่กระแสโลหิต หรือระบบประสาทส่วนกลางได้ จึงก่อให้เกิดโรคขึ้น 

ลักษณะที่สำคัญของโรคไข้กาฬหลังแอ่นมี 3 อย่าง คือ ไข้ ผื่น และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยอาจมีอาการครบทั้ง 3 อย่าง หรือ 2 จาก 3 อย่างนี้ ความรุนแรงของโรคแตกต่างกันได้มาก อาจมีอาการค่อยเป็นค่อยไป จนถึงรุนแรงรวดเร็ว ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันสั้น

อาการที่พบบ่อย

ผู้ป่วยมักจะมีไข้มาก่อนประมาณ 2-3 วัน มีผื่นขึ้น ลักษณะเป็นจ้ำเลือดเหมือนฟกช้ำ ผื่นอาจมีรูปร่างคล้ายดาวกระจายซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ มักเป็นบริเวณลำตัวส่วนล่างขา เท้า และบริเวณที่มีแรงกดบ่อยๆ เช่น ขอบกางเกง ขอบถุงเท้า อาจเป็นที่เยื่อบุตาหรือมือได้

หากมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะมีอาการ ได้แก่ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอแข็ง อาจซึมลง ไม่ค่อยรู้สึกตัวหรือสับสนได้ ไม่ค่อยมีชักหรืออัมพาตบ่อยเท่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียอื่น อัตราการเสียชีวิตขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค 

ในรายที่รุนแรง เช่น ในกรณีการติดเชื้อในกระแสเลือด มีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ การไหลเวียนเลือดล้มเหลว  ความดันเลือดต่ำ ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าเขียวหรือดำคล้ำ ไตวาย น้ำท่วมปอด ร่วมด้วย มักเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว อัตราตายสูงถึงร้อยละ 70-80 ของผู้ป่วยทั้งหมด

ส่วนในรายที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อในเลือด อัตราตายต่ำกว่ามาก ประมาณร้อยละ 2-10 ของผู้ป่วยทั้งหมด การรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงทีมีส่วนช่วยลดอัตราการตายลงได้ส่วนหนึ่ง

หากเด็กหรือหนุ่มสาว ผู้ใหญ่อายุน้อย ที่มีอาการของไข้เฉียบพลัน มีผื่นที่เป็นจ้ำเลือดคล้ายรูปดาวกระจาย หรือมีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบข้างต้น จะต้องนึกถึงโรคไข้กาฬหลังแอ่นไว้ด้วยเสมอ ควรไปรับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ หากล่าช้าเกินไป ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ แพทย์จะทำการสอบถามประวัติความเจ็บป่วย ตรวจร่างกายผู้ป่วย ควรแจ้งแก่แพทย์ด้วยว่า ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวใดหรือไม่ แพ้ยาใดหรือไม่ เนื่องจากแพทย์จะต้องพิจารณาให้ยาต้านจุลชีพโดยเร็ว แพทย์จะทำการเพาะเชื้อในเลือด ในบางรายอาจตรวจน้ำไขสันหลัง จากนั้นจะเริ่มให้ยาต้านจุลชีพชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ยาที่มักจะเลือกใช้ คือ ยากลุ่ม penicillin หรือ cephalosporins ร่วมกับการรักษาประคับประคอง เช่น ให้น้ำเกลือแก้ไขภาวะขาดน้ำเกลือแร่ กรดด่างไม่สมดุล

ส่วนการป้องกันโรคมี 2 วิธีหลัก คือ การฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรค และการกินหรือฉีดยาต้านจุลชีพ

วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นป้องกันโรคได้เพียงบางสายพันธุ์  ได้แก่ สายพันธุ์ A, C, Yและ W-135 ดังนั้น การให้วัคซีนจะได้ผลในบางพื้นที่ที่ทราบสายพันธุ์ (serogroup) ของเชื้อแล้วเท่านั้น กรณีให้วัคซีนไม่ครอบคลุมสายพันธุ์ก่อโรคจะไม่ได้ผลในการสร้างภูมิคุ้มกัน

ประเทศไทย สายพันธุ์ที่พบบ่อย ได้แก่ สายพันธุ์ A และ B การฉีดวัคซีนจึงมีที่ใช้ในกรณีที่คนที่จะเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคเป็นประจำ หรือ ให้วัคซีนแก่ประชาชนที่อยู่เขตระบาดซึ่งทราบสายพันธุ์ของเชื้อแล้ว ประชาชนทั่วไปไม่จำเป็นต้องรับการป้องกัน นอกจากจะเดินทางเข้าไปในเขตที่มีการระบาด

related