ข่าวดีนักดำน้ำ เกาะโลซิน จ.ปัตตานี ซึ่งนอกจากจะไกลชายฝั่งแล้วก็ยังเป็นเกาะที่มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย แต่กลับมีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง ทั้งในด้านความมั่นคงและอาณาเขตทางทะเล ด้านพลังงาน และด้านทรัพยากรธรรมชาติ
เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ระบุว่า หลังจากรอมา 5 ปี เกาะโลซินกลายเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลตามกฎหมาย ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้วครับ พร้อมกันนั้น ข้อมูลการสำรวจที่กรมทะเล/ปตท.สผ./มหาลัยต่างๆ ทำร่วมกัน บัดนี้ได้เสร็จสิ้นแล้ว จึงนำมาบอกเพื่อนธรณ์
อันดับแรกบอกได้ นี่คือเกาะระดับป๋าของทะเลไทย โดยเฉพาะในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะในเกาะเล็กๆ แห่งเดียว ในการสำรวจครั้งเดียว เราเจอสัตว์ที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อนในไทย อย่างน้อย 11 ชนิด
ยิ่งไปกว่านั้น 10 ชนิดเป็นปลา โอกาสที่เราจะเจอปลาใหม่ในไทย เป็นไปได้ยาก เพราะเราสำรวจกันมานับร้อยปีแล้วครับ อีกชนิดหนึ่งเป็นปูเสฉวนน่าร้ากกก ลองดูภาพนะครับ คราวนี้มาลองดูความหลากหลายโดยรวมบ้าง
ปะการัง 46 ชนิด อยู่ในเกณฑ์ปรกติอ่าวไทย ปลา 116 ชนิด อันนี้ไม่ธรรมดาสำหรับอ่าวไทยแล้วครับ มีแม้กระทั่งฉลามวาฬ แมนต้า โรนัน และหาเจอที่อื่นยากคือกระเบนนก โลซินยังมีปลานกแก้ว 13 ชนิด ปลาผีเสื้อ 10 ชนิด ไม่มีที่ใดในอ่าวไทย มีปลาสองกลุ่มนี้หลากหลายเท่าโลซิน
โดยราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศกฎกระทรวง กำหนดให้บริเวณเกาะโลซิน ตำบลบ้านน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2565 โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป