svasdssvasds

“พม. แก้ตรงจุด” ผล 1 ปี! เคลื่อนกฎหมายใหม่ควบคุมการขอทาน

“พม. แก้ตรงจุด” ผล 1 ปี! เคลื่อนกฎหมายใหม่ควบคุมการขอทาน

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

 

“บิ๊กอู๋” เข้ม! สั่งเดินหน้าแก้ปัญหาขอทานตามกฎหมายใหม่ ย้อนกลับไปช่วงนี้เมื่อปีที่แล้ว หลายท่านคงยังจำได้ เมื่อพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 ก.ค. 2559

 

“พม. แก้ตรงจุด” ผล 1 ปี! เคลื่อนกฎหมายใหม่ควบคุมการขอทาน

 

วันที่ 24 ก.ค. 60 – พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สั่งการให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 เพื่อแก้ไขปัญหาคนขอทานอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อ 3 ปีก่อน ภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายให้การค้ามนุษย์เป็นปัญหาเฉพาะหน้า ที่ต้องได้รับการป้องกันและแก้ไข โดยการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดและจัดการปัญหาอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงต่อเนื่องให้เบ็ดเสร็จ ซึ่งการขอทานเป็นรูปแบบของการค้ามนุษย์อย่างหนึ่ง รวมทั้งมีลักษณะของการแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากผู้ซึ่งอาศัยความอ่อนด้อยทางร่างกาย สติปัญญา ความสามารถ หรือสภาพจิตใจของบุคคลอื่น ทำให้พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2484 ซึ่งบังคับใช้มานานกว่า 74 ปี ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาปรับปรุงแก้ไข ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

จวบจนพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2559 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2559 ประกอบด้วยสาระสำคัญ คือ

 

  1. แยกผู้แสดงความสามารถออกจากผู้ขอทาน โดยผู้ทำการขอทาน คือ ผู้ที่ขอเงินหรือทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็นการขอด้วยวาจา ข้อความ หรือกิริยาอาการใด ๆ รวมทั้งกระทำเพื่อให้ผู้อื่นเกิดความสงสารและส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินให้ สำหรับผู้แสดงความสามารถ คือ ผู้เล่นดนตรีหรือการแสดงอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งเงิน หรือทรัพย์สินจากผู้ชมหรือผู้ฟัง โดยจะต้องมีบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถและต้องไปแจ้งต่อ เจ้าพนักงานท้องถิ่นในพื้นที่ที่จะไปแสดงความสามารถก่อนทำการแสดง

  2. คุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ขอทานไม่ให้กลับมาขอทานอีก

  3. กำหนดความผิดทางอาญากับผู้แสวงหาประโยชน์จากการขอทาน โดยผู้ขอทานมีโทษจำคุก 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้แสวงหาผลประโยชน์จากการขอทาน มีโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  4. มีคณะกรรมการควบคุมการขอทาน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

 

วันที่ 28 ก.ค. 2560 นี้ จะครบรอบ 1 ปี หลังการประกาศใช้กฎหมายใหม่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้มีผลงานการขับเคลื่อนภารกิจตามกฎหมายภายใต้นโยบาย 3P ดังนี้

 

1.ด้านการขับเคลื่อนนโยบาย (Policy) มีการแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการควบคุมการขอทานในการแก้ไขปัญหาการขอทาน ทั้งในส่วนกลางและในระดับจังหวัด ดำเนินการออกระเบียบ ประกาศ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย จำนวน 25 ฉบับ รวมทั้งมีการประกาศจัดตั้งสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต 77 แห่งทั่วประเทศ และประกาศแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ พร้อมพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงาน จำนวน 667 คน จัดทำ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ควบคุมการขอทาน ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 ควบคู่กับการจัดทำบันทึกความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขอทาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทศบาลนคร (30 แห่งทั่วประเทศ) องค์การเฟรนด์อินเตอร์เนชันแนลประเทศไทย และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ ยังดำเนินการจัดระเบียบผู้ทำการขอทานทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง พบว่า หลังกฎหมายบังคับใช้ มีสถิติจำนวนผู้ทำการขอทานลดลง

2.ด้านการคุ้มครอง (Protection) ดำเนินการพัฒนาระบบการให้บริการเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนขอทาน ผ่านโครงการ “ธัญบุรี โมเดล” ซึ่งเป็นรูปแบบการบำบัดฟื้นฟู และพัฒนาศักยภาพ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และอาชีพ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 11 แห่งทั่วประเทศ มีผู้ใช้บริการ รวมทั้งสิ้น 832 ราย โครงการ “บ้านน้อยในนิคม” เป็นการพัฒนาศักยภาพคนขอทานอย่างต่อเนื่อง ให้ดำรงชีวิตอิสระ มีที่พักอาศัย โดยจัดสรรพื้นที่ในนิคมสร้างตนเอง ให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้พัฒนาทักษะอาชีพ สร้างรายได้ เลี้ยงดูตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่กลับมาขอทานซ้ำ มีผู้ใช้บริการ รวมทั้งสิ้น 247 ราย ออกบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถ รวมจำนวน 1,931 คน รวมถึงการเปิดบริการศูนย์พักพิง 4 มุมเมือง จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พักพิงห้วยขวาง ศูนย์พักพิงอ่อนนุช ศูนย์พักพิงธนบุรี และศูนย์พักพิงสายไหม

3.ด้านการป้องกัน (Prevention) มีการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายและสิทธิในการเข้าถึงบริการพื้นฐานผ่านช่องทางต่าง ๆ การส่งเสริมให้อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และเครือข่ายต่าง ๆ ร่วมเฝ้าระวังปัญหาการขอทานในชุมชน การรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ “ให้ทานถูกวิธี ลดวิถีการขอทาน” ผ่านสื่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา ได้มีพิธีประกาศเจตนารมณ์ ร่วมกับอาสาสมัครชาวไทย ชาวต่างประเทศ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในลักษณะประชารัฐ และเครือข่ายอาสาสมัคร 10 ประเทศอาเซียน เพื่อร่วมกันป้องกันปัญหาการแสวงหาประโยชน์ และการค้ามนุษย์จากกลุ่มผู้อยู่ในสภาวะยากลำบากในภูมิภาคอาเซียน ณ บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์อีกด้วย

 

“พม. แก้ตรงจุด” ผล 1 ปี! เคลื่อนกฎหมายใหม่ควบคุมการขอทาน

 

ในวันนี้ บทพิสูจน์ผลงานที่เกิดขึ้น พบว่า สถิติจำนวนคนขอทานในสังคมลดลง เนื่องจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมผ่านกระบวนการทางวิชาชีพ นอกจากนี้ผู้คนในสังคมยังตระหนักและให้ความสำคัญต่อการป้องกันแก้ไขปัญหาผู้ทำการขอทานเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยังคงวางแผนงานการขับเคลื่อนในระยะต่อไป อาทิ การพัฒนาระบบสารสนเทศในการจัดระเบียบผู้ทำการขอทาน โดยจัดเก็บลายนิ้วมือ และเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบ การรณรงค์และสร้างความตระหนักการให้ทานถูกวิธีอย่างต่อเนื่อง การขยายผลต้นแบบการจัดระเบียบ การฟื้นฟู พัฒนาศักยภาพ  ส่งเสริมระบบกิจการเพื่อสังคม เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ  การพัฒนาผู้แสดงความสามารถยกระดับ  สู่มืออาชีพ เป็นต้น เหล่านี้ถือเป็นความท้าทายของคนทำงาน ในการเดินหน้าตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ให้กลุ่มคนขอทานกลับมาเป็น พลังในการพัฒนาประเทศ และพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืน

 

related