svasdssvasds

“บิ๊กฉัตร” ลงพื้นที่ ลุยตรวจน้ำท่วมสกลฯ สั่งกรมชลฯ เร่งดันน้ำ

“บิ๊กฉัตร” ลงพื้นที่ ลุยตรวจน้ำท่วมสกลฯ สั่งกรมชลฯ เร่งดันน้ำ

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

“บิ๊กฉัตร” ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วม จ.สกลนคร หลายพื้นที่ระดับน้ำเริ่มลดแล้ว สั่งกรมชลฯ ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำตลอดลำน้ำก่ำเพื่อผลักดันน้ำลงแม่โขง หากไม่มีฝนเพิ่มคาดเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 7 วัน พร้อมเยี่ยมให้เกษตรกรรอบพื้นที่หนองหารที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ

วันนี้ (31 ก.ค. 60) - พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาอุทกภัยจากพายุเซินกา ณ บ้านงิ้วด่อน หมู่ 1 ต.งิ้วด่อน อ.เมือง จ.สกลนคร โดยรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ผลกระทบในพื้นที่จากรองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร รายงานสรุปสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน โดยนายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน นายทองเปลว กรองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน และนายสรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ บรรยายสรุปถึงความเสียหายและการให้ความช่วยเหลือด้านปศุสัตว์ รวมถึงรับฟังการให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนลงพื้นที่พบปะประชาชนและเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

พลเอกฉัตรชัย เปิดเผยว่า ได้รับมอบจากนายกรัฐมนตรีให้ลงพื้นที่ซึ่งนายกรัฐมนตรีฝากความห่วงใย ดูแลให้ดี ลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด โดยสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดขณะนี้ในภาพรวมพบว่า คงมีสถานการณ์ 18 จังหวัด 110อำเภอ 570 ตำบล 3,404 หมู่บ้าน ได้แก่ ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และ สุโขทัย ภาคอีสาน 12 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ อุบลราชธานี ขอนแก่น มหาสารคาม ศรีสะเกษ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ สกลนคร มุกดาหาร อำนาจเจริญ และ ร้อยเอ็ด ภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร

สำหรับพื้นที่ จ.สกลนคร ซึ่งได้เกิดฝนตกหนัก/น้ำไหลหลากในพื้นที่ 7อำเภอ 38 ตำบล 351 หมู่บ้าน เกษตรกรได้รับผลกระทบ 7,846 ครัวเรือน 23,538คน ปัจจุบันระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อน ส่วนใหญ่ขณะนี้ก็มีปริมาณเก็บกักค่อนข้างมาก แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่งได้แก่ 1. อ่างเก็บน้ำน้ำอูน ความจุ 520 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำ 567 ล้าน ลบ.ม. (109 %) 2. อ่างเก็บน้ำน้ำพุง ความจุ 165 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำ 149 ล้าน ลบ.ม. (90 %) ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ที่มีปริมาณน้ำเต็มอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ดังนี้ 1. อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบ่อ ความจุ 2.43 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำ 2.60 ล้าน ลบ.ม. (107 %) 2. อ่างเก็บน้ำห้วยเดียก ความจุ 4.00 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำ 4.53 ล้าน ลบ.ม. (113 %) 3. อ่างเก็บน้ำภูเพ็ก ความจุ 3.04 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำ 2.91 ล้าน ลบ.ม. (96 %) 4. อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ความจุ 2.66 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำ 3.05 ล้าน ลบ.ม. (127 %)

“ช่วงที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้ให้การช่วยเหลือเฉพาะหน้า โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 9 เครื่องและ เครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่ 26เครื่อง เพื่อลดระดับน้ำหนองหาร และระยะเร่งด่วน ได้ดำเนินการขุดลอกเพิ่มอัตราการระบาย และเพิ่มความจุ ทั้งพื้นที่หนองหาร ลำน้ำก่ำ เหนือ-ท้าย ปตร.บ้านหนองบึง ขุดลอกขยายลำน้ำก่ำ พร้อมอาคารประกอบ เป็นต้น สำหรับความเสียหายและการซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น กรมชลประทานได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยเขื่อนดินทางเข้าไปในพื้นที่ ตรวจสอบความเสียหายอย่างละเอียด ได้จัดส่งเครื่องจักรเครื่องมือ/เจ้าหน้าที่ เข้าไปซ่อมแซมจุดที่เสียหายตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 60 โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน

สำหรับปริมาณน้ำที่ไหลลงมาจากอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นนั้น จะไม่ไหลผ่านลงสู่ตัวเมืองสกลนคร แต่จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ไหลลงสู่คลองน้ำอูน ร้อยละ40 และ ไหลลงสู่หนองหารสกลนคร ร้อยละ 60 ปริมาณน้ำที่ไหลลงหนองหารสกลนคร ไม่ได้ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในตัวเมืองสกลนครโดยตรง แต่จะทำให้ระดับน้ำในหนองหารสกลนครเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้น้ำจากในเขตเทศบาลเมืองสกลนครระบายได้ยากขึ้นเท่านั้น ซึ่งกรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำรวมจำนวน 26 เครื่องตลอดลำน้ำก่ำ โดยขณะนี้ติดตั้งแล้วจำนวน 4 เครื่องที่ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต จังหวัดนครพนม และ จะทยอยติดตั้งอีก 22 เครื่อง เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำจากลำน้ำก่ำระบายลงสู่แม่น้ำโขงได้ภายใน 7 วันหากไม่มีปริมาณฝนมาเพิ่ม”

ด้านผลกระทบด้านการเกษตร จากอุทกภัยในช่วงวันที่ 5 - 29 ก.ค. 60 พบว่า ผลกระทบด้านการเกษตรทั่วประเทศ แบ่งเป็น ด้านพืช เกษตรกร 297,598ราย พื้นที่ได้รับผลกระทบ 2,868,287 ไร่ ข้าว 2,675,341 ไร่ , พืชไร่ 177,554 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 15,393 ไร่ ด้านประมง เกษตรกร 5,805 ราย พื้นที่ได้รับผลกระทบ 5,391 ไร่

ด้านปศุสัตว์ เกษตรกร 24,857 ราย , สัตว์ที่ได้รับผลกระทบ 445,058 ตัว , โค-กระบือ 48,514 ตัว , สุกร 11,669 ตัว , แพะ-แกะ 887 ตัว , สัตว์ปีก 383,968 ตัว , ขณะที่ผลกระทบด้านการเกษตร จ.สกลนคร ด้านพืช เกษตรกร 63,123 ราย พื้นที่ได้รับผลกระทบ 954,904 ไร่ , ข้าว 946,846 ไร่ , พืชไร่ 6,708 ไร่ , พืชสวนและอื่นๆ 1,350 ไร่ ด้านประมง เกษตรกร 4,865 ราย พื้นที่ได้รับผลกระทบ 5,038ไร่ ด้านปศุสัตว์ เกษตรกร 24,434 ราย สัตว์ที่ได้รับผลกระทบ 437,185 ตัว , โค-กระบือ 44,389 ตัว , สุกร 10,955 ตัว , แพะ-แกะ 45 ตัว , สัตว์ปีก 381,796 ตัว

related