svasdssvasds

วิกฤตผู้อพยพ...ของนายกหญิงเยอรมนี

วิกฤตผู้อพยพ...ของนายกหญิงเยอรมนี

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

 

ประเด็นหนึ่งที่เป็นที่น่าจับตาระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ของเยอรมนีในครั้งนี้ ก็คือประเด็นของวิกฤตผู้อพยพ ที่เป็นที่ถกเถียงกันในระดับประเทศและในระดับเวทีโลกมาในช่วงหลายปีหลัง และมักเป็นประเด็นหลักที่ผู้ท้าชิงของนางอังแกลา แมร์เคิลต่างเลือกยกขึ้นมาโจมตีเธอ

ประเด็นเผ็ดร้อนที่น่าจะสั่นคลอนเป้าหมายการคว้าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีสมัยที่ 4 ของนางอังเกลา แมร์เคิลได้มากที่สุดก็คือประเด็น “วิกฤตผู้อพยพ”

ในปี 2015 ขณะที่ประเด็นเรื่องวิกฤตผู้อพยพจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลก นางแมร์เคิลกลับประกาศอย่างภาคภูมิใจที่จะเปิดรั้วเยอรมนีต้อนรับผู้อพยพหลายแสนคนเข้ามาหาที่พักพิงชั่วคราว รวมถึงชาวตะวันออกกลางที่หลบหนีสงครามออกมาจากบ้านเกิดด้วย

วิกฤตผู้อพยพ...ของนายกหญิงเยอรมนี

อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า ฉันกล้าพูดว่าเยอรมนีเป็นประเทศที่เข้มแข็ง ภาษิตที่เราจะใช้พูดถึงเกี่ยวกับความเข้มแข็งของเรา ควรจะพูดว่าเราประสบความสำเร็จอะไรหลายๆ อย่าง และเราจะประสบความสำเร็จในเรื่องผู้อพยพเหมือนกัน เราจะประสบความสำเร็จเรื่องนี้ แม้เราจะต้องเผชิญกับอุปสรรค เราก็จะผ่านมันไปได้

สถิติพบว่ามีผู้ลี้ภัยราว 1 ล้านคน เดินทางเข้ามายังเยอรมนีในปลายปี 2015 ซึ่งส่วนมาก เดินทางเข้ามาโดยที่ไม่มีเอกสารตรวจสอบอย่างถูกต้อง และเข้ามารุกพื้นที่อยู่อาศัยของชาวเมืองเยอรมัน แต่เธอก็ยืนยันท่ามกลางกระแสความไม่พอใจของชาวเยอรมันที่ต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านให้กับเหล่าผู้อพยพว่า เยอรมนียังคงต้องหยิบยื่นมิตรภาพให้แก่ผู้คนที่ต้องการ และต่อสู้กับเสียงคัดค้านมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1 ปี หลังจากการตัดสินใจเปิดชายแดนของเธอ และมีเหตุการณ์โจมตีจากกลุ่มก่อการร้าย คะแนนนิยมของเธอกลับพุ่งขึ้นมาจาก 30% เป็น 45%

วิกฤตผู้อพยพ...ของนายกหญิงเยอรมนี

ท่าทีของแมร์เคิล มีส่วนทำให้ชาวยุโรปแบ่งแยกชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากการตัดสินใจเปิดชายแดน ยิ่งทำให้ความรู้สึกต่อต้านผู้อพยพเพิ่มขึ้น และกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ ก็คือพรรคการเมืองขวาจัดอย่าง Alternative for Germany (AfD) ที่ผลการสำรวจล่าสุดออกมาว่า พรรค AfD น่าจะได้คะแนนเสียงราว 10% ในปีนี้ และจะส่งผลให้พรรคเอียงขวาสามารถเข้าไปนั่งในสภาได้เป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แมร์เคิลน่าจะรับรู้ถึงกระแสต่อต้านนโยบายเปิดรับผู้อพยพอย่างดี เธอจึงเลือกชูนโยบายที่เข้มงวดขึ้นเล็กน้อย โดยต่อจากนี้ เยอรมนีจะรับผู้อพยพไม่มากเท่าที่เคย ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาลี้ภัย จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมเยอรมันให้ได้

วิกฤตผู้อพยพ...ของนายกหญิงเยอรมนี

ในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง บนเวทีโต้วาทีระหว่างแมร์เคิล และผู้ท้าชิงเก้าอี้คนสำคัญ นายมาร์ติน ชูลซ์ เธอยอมรับว่าการจัดการเรื่องผู้อพยพเป็นภารกิจที่ใหญ่หลวง เปิดช่องให้ชูลซ์สวนอย่างทันควันว่า เธอไม่ควรจะเปิดรับผู้อพยพโดยที่ไม่กำหนดขอบเขตโดยไม่มีประเทศยุโรปอื่นๆ สนับสนุน โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ นายชูลซ์มีนโยบายที่จะส่งตัวผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้รับการรับรองอยู่ให้เข้ามาอาศัยกลับออกไปอย่างเร็วที่สุด

วิกฤตผู้อพยพ...ของนายกหญิงเยอรมนี

นักวิเคราะห์มองว่า แม้ปัญหาเรื่องผู้อพยพจะเป็นประเด็นใหญ่ที่ชาวเยอรมันต่างจับตา แต่การเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศตอนนี้อาจจะเป็นเรื่องเสี่ยงเกินไปสำหรับชาวเยอรมัน เพราะชาวเยอรมันไม่ได้ต้องการการปฏิวัติทางการเมือง และยังคงยินดีกับเศรษฐกิจที่กำลังค่อยๆ ขยับขยาย เมื่อนางแมร์เคิลประกาศชัดว่าเธอสามารถรับมือกับเหล่าผู้อพยพได้ ชาวเยอรมันบางส่วนก็บอกว่า พวกเขาพร้อมที่จะเชื่อมั่นในตัวเธออีกครั้ง

related