svasdssvasds

ข้าพระบาท ทาสประชาชน : คดีที่ดินอัลไพน์ ปัญหากฏหมาย-ทางออกที่ชอบธรรม (จบ)

ข้าพระบาท ทาสประชาชน : คดีที่ดินอัลไพน์ ปัญหากฏหมาย-ทางออกที่ชอบธรรม (จบ)

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

 

 

 

ข้าพระบาท ทาสประชาชน

โดย...ประพันธุ์ คูณมี

คดีที่ดินอัลไพน์ ปัญหากฏหมาย-ทางออกที่ชอบธรรม (จบ)

ดังที่เรียนท่านผู้อ่าน ในบทความตอนที่ 1 ไปแล้ว ภายหลังจากที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษาคดีที่ดินอัลไพน์ ที่อัยการเป็นโจทก์ ฟ้อง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นจำเลยนั้น

ปัญหาในทางกฏหมายเกี่ยวกับคดีที่ดินอัลไพน์ คงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่า ที่ดินที่ นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทำพินัยกรรมบริจาคแก่วัดธรรมมิการามวรวิหาร สถานะทางกฎหมายขณะนี้คือ เป็นที่ธรณีสงฆ์ ตาม พรบ.คณะสงฆ์ 2505 มาตรา 33 (2) (13) ซึ่งหากจะทำการจำหน่ายหรือโอนกรรมสิทธิ์ไปยังบุคคลอื่น ก็ให้กระทำได้โดยทางเดียวเท่านั้นคือ ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ ทั้งนี้โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 34 แห่ง พรบ.คณะสงฆ์ 2505 นั่นเอง

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีแนวคิดของกระทรวงมหาดไทย ยุคพี่น้องบูรพาพยัคฆ์ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นรัฐมนตรีว่าการ ได้ออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการยกร่างกฏหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์วัดธรรมมิการามวรวิหาร เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558

โดยมีคณะทำงานคือกระทรวงมหาดไทยกับสำนักพระพุทธศาสนา เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับส่วนราชการอื่น ซึ่งร่าง พรบ.ดังกล่าว ได้ยกร่างเสร็จแล้วอยู่ระหว่าง รับฟังควมมคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์ผลกระทบ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา77 ก่อนเสนอสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

อันเป็นการใช้ช่องทางตามกฎหมายดังกล่าว เสนอ พรบ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์วัดธรรมมิการามวรวิหาร ให้แก่มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ให้เป็นการชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2533 อันเป็นวันที่มูลนิธิฯได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก รับโอนที่ดินของนางเนื่อม รวม 2แปลง เนื้อที่ 730 ไร่ และ194 รวมเนื้อที่ราว 924 ไร่ แล้วจดทะเบียนขายที่ดินมรดกทั้ง 2 แปลงให้แก่ บริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด และ บริษัท อัลไพน์กอล์ฟ แอนด์สปอร์ตคลับ จำกัด และเพื่อทำให้การจดทะเบียนซื้อขายไปยังบุคคลอื่นๆ ต่อไป เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย เรียกว่าเป็นกฎหมายล้างความผิด นิรโทษให้กับทุกคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินมรดกนางเนื่อม ที่บริจาคแก่วัดหมดสิ้น

กรณีนี้ จึงเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งที่มีผลกระทบต่อความเสียหายต่อรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ต่อสังคม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับที่ดินธรณีสงฆ์และพระพุทธศาสนา ส่งผลกระทบกว้างไกลและลึก ไปถึงหลักนิติธรรม นิติรัฐและกระบวนการยุติธรรมของประเทศอีกด้วย จึงสมควรที่รัฐบาลพึงระมัดระวัง และใช้ความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาปัญหานี้ให้ถ่องแท้ว่าปมปัญหาสำคัญอยู่ที่ใด ควรจะใช้วิธีการใดจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด มีปัญหาและผลกระทบน้อยที่สุด

การที่กระทรวงมหาดไทยพยายามผลักดันให้เสนอร่าง พรบ.นี้ โดยผ่านสำนักพระพุทธศาสนา ด้วยหวังเพียงเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยมิได้คำนึงถึงหลักความสุจริต มิได้แยกแยะหรือจำแนกผู้จงใจกระทำผิดละเมิดกฎหมาย หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ออกจากประชาชนผู้สุจริต เสียค่าตอบแทนโดยชอบ โดยจะใช้วิธีตรากฎหมายมาล้างผิดให้คนโกงแบบเหมาเข่งเช่นนี้ ย่อมส่งผลเสียหายต่อประเทศ ต่อสังคม และเสียหายต่อประโยชน์มหาชนยิ่งกว่า จึงสมควรที่รัฐจะต้องพิจารณาและชั่งน้ำหนักให้ดี แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

อันที่จริงหากจะยึดถือและปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย โดยแยกปัญหานี้ออกเป็น 2 กรณีคือ กรณีที่ดินสนามกอล์ฟ กับกรณีที่ดินบ้านจัดสรร ออกจากกัน ก็จะทำให้การแก้ปัญหาง่ายขึ้นและมีผลกระทบในวงแคบ เมื่อพิจารณาตามกฎหมายการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินวัด ทั้ง 2 แปลงถือว่าเป็นโมฆะ ตาม ปพพ.ม.150 เพราะเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และเป็นนิติกรรมที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่ออธิบดีกรมที่ดิน

ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าถูกต้อง สอดคล้องกับความเห็นกฤษฎีกาเช่นนี้ สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างมูลนิธิฯ กับบริษัททั้ง 2 ก็ต้องไม่มีผลทางกฎหมาย สัญญาซื้อขายที่ดินต้องเลิกกัน ที่ดินกลับคืนเป็นของวัด คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่สถานะเดิม มูลนิธิฯ ต้องคืนเงินแก่บริษัทฯ ผู้ซื้อที่ดิน

คงมีปัญหาระหว่างบุคคลที่ซื้อที่ดินสนามกอล์ฟต่อจากบริษัท อัลไพน์กอล์ฟแอนด์สปอร์ตคลับ จำกัด ซึ่งกรณีนี้ต้องให้เป็นเรื่องระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายไปว่ากล่าวไล่เบี้ยกันเอง หรือหากจะบรรเทาความเดือดร้อน ก็สามารถกระทำได้โดยให้ผู้ประกอบการต่อมา เช่าที่ดินจากวัด โดยมีกำหนดระยะเวลา 10 ปี หรือ 20 ปี ตามสมควร หากวัดประสงค์จะเอาที่ดินคืนเพื่อใช้ในกิจการทางพระพุทธศาสนา ก็เป็นสิทธิและอำนาจของวัดผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งกรณีที่ดินสนามกอล์ฟคงมีผู้ได้รับผลกระทบน้อยราย เฉพาะกลุ่มบริษัทของนักการเมืองที่ซื้อขายกันเท่านั้น สิทธิที่เขาได้รับผลกระทบก็สามารถฟ้องร้องเรียกร้องเอาจากเอกชนด้วยกันได้

สำหรับประชาชนผู้สุจริตโดยทั่วไป ที่เข้ามาซื้อบ้านและที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย ในโครงการบ้านจัดสรรของบริษัท อัลไพน์เอสเตท จำกัด เมื่อกรมที่ดินเพิกถอนการจดทะเบียนแล้ว หากรัฐประสงค์ที่จะเยียวยาประชาชนเหล่านั้น ก็สามารถกระทำได้ในทำนองเดียวกัน

โดยให้ประชาชนเหล่านั้นเช่าที่ดินในระยะยาวจากวัด ในอัตราค่าเช่าที่ไม่แพงเกินสมควร ส่วนที่กระทบต่อสิทธิประชาชนจากผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน กลายเป็นผู้เช่าระยะยาว คงต้องใช้สิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาจากบริษัทเจ้าของโครงการ ดั่งนี้แล้ว ก็น่าจะเป็นทางออกและทางเลือกหนึ่ง ที่ไม่จำต้องทำลายขื่อแปของบ้านเมือง ดังที่กระทรวงมหาดไทยกำลังดำเนินการ ซึ่งไม่มีความชอบธรรมแต่อย่างใด

คอลัมน์ : ข้าพระบาท ทาสประชาชน/ หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ /ฉบับ 3296 ระหว่างวันที่ 14 -16 ก.ย.2560

related