svasdssvasds

ถวายบังคม เสด็จพ่อร.5 พร้อมสุดยอดพระคาถา บูชาพระปิยะมหาราช 23 ต.ค.

ถวายบังคม เสด็จพ่อร.5 พร้อมสุดยอดพระคาถา บูชาพระปิยะมหาราช 23 ต.ค.

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ถวายบังคม เสด็จพ่อร.5 พร้อมสุดยอดพระคาถา บูชาพระปิยะมหาราช 23 ต.ค.

 

พระราชกรณียกิจที่สำคัญในสมัยสมเด็จพระปิยมหาราช

1.การเลิกทาส

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ หรือสมเด็จพระปิยมหาราช จึงตราพระราชบัญญัติขึ้น เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2417 ให้มีผลย้อนหลังไปถึงปีที่พระองค์เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ มีบัญญัติว่า ลูกทาสซึ่งเกิดเมื่อปีมะโรง พ.ศ.2411 ให้มีสิทธิได้ลดค่าตัวทุกปี และพอครบอายุ 21 ปีก็ให้ขาดจากความเป็นทาสทั้งชายและหญิง จากนั้นใน พ.ศ.2448 จึงได้ออกพระราชบัญญัติเลิกทาสที่แท้จริงขึ้น เรียกว่า "พระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124" (พ.ศ.2448) เลิกลูกทาสในเรือนเบี้ยอย่างเด็ดขาด เด็กที่เกิดจากทาส ไม่ต้องเป็นทาสอีกต่อไป และการซื้อขายทาสเป็นโทษทางอาญา ส่วนผู้ที่เป็นทาสอยู่แล้ว ให้นายเงินลดค่าตัวให้เดือนละ 4 บาท จนกว่าจะหมด ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน ในเวลาเพียง 30 ปีเศษ ทาสในเมืองไทยก็หมดไปโดยไม่เกิดการนองเลือดเหมือนกับประเทศอื่นๆ

 

2.การปฏิรูประบบราชการ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ แยกหน่วยราชการออกเป็นกรมกองต่างๆ มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะไม่ก้าวก่ายกัน จากเดิมมี 6 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงลาโหม, กระทรวงนครบาล, กระทรวงวัง, กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตราธิการ ได้เพิ่มอีก 4 กระทรวง รวมเป็น 10 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงธรรมการ มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับกิจการของพระสงฆ์ และการศึกษา, กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับคดีความที่ต้องตัดสินต่างๆ , กระทรวงโยธาธิการ มีหน้าที่ดูแลตรวจตราการก่อสร้าง การทำถนน ขุดลอกคูคลอง งานที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง และกระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่ดูแลงานที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ

 

3.การสาธารณูปโภค

การประปา ทรงให้กักเก็บน้ำจากแม่น้ำเชียงรากน้อย จังหวัดปทุมธานี และขุดคลองเพื่อส่งน้ำเข้ามายังสามเสน พร้อมทั้งฝังท่อเอกติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำประปาขึ้นในเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2452

การคมนาคม วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปขุดดินก่อพระฤกษ์ เพื่อประเดิมการสร้างทางรถไฟไปนครราชสีมา แต่ทรงเปิดทางรถไฟกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยาก่อน จึงนับว่าเส้นทางรถไฟสายนี้เป็นทางรถไฟแห่งแรกของไทย  นอกจากนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพาน และถนนอีกมากมาย คือ ถนนเยาวราช ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนอก ถนนดินสอ ถนนบูรพา ถนนอุณากรรณ เป็นต้น และโปรดให้ขุดคลองต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางคมนาคม และส่งเสริมการเพาะปลูก

การสาธารณสุข เนื่องจากการรักษาแบบยากลางบ้านไม่สามารถช่วยคนได้อย่างทันท่วงที สมเด็จพระปิยมหาราชจึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 200 ชั่ง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลวังหลัง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงพยาบาลศิริราช" เปิดทำการรักษาประชาชนเป็นครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน พ.ศ.2431

การไฟฟ้า สมเด็จพระปิยมหาราชพระองค์ทรงมอบหมายให้กรมหมื่นไวยวรนาถ เป็นแม่งานในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2433

การไปรษณีย์  โปรดฯ ให้เริ่มจัดขึ้นในปี พ.ศ.2424 รวมอยู่ในกรมโทรเลข ซึ่งได้จัดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2412 โดยโทรเลขสายแรกคือ ระหว่างจังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) กับจังหวัดสมุทรปราการ

 

4.การเสด็จประพาส

สมเด็จพระปิยมหาราชทรงเสด็จประพาส การเสด็จประพาสเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญอันหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยหลังจากเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสแล้ว ก็ได้เสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้ง ในปี พ.ศ.2440 ครั้งหนึ่ง และในปี พ.ศ. 2450 อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ในยุโรป ตลอดจนประเทศฝรั่งเศสด้วย อีกทั้งยังได้ทรงเลือกสรรเอาแบบแผนขนบธรรมเนียมอันดีในดินแดนเหล่านั้นมาปรับปรุงในประเทศให้เจริญขึ้น

ในการเสด็จประพาสครั้งแรกนี้ ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาตลอดระยะทางถึงสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระบรมราชินีนาถ (ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชเทวี) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พระราชหัตถเลขานี้ต่อมาได้รวมเป็นหนังสือเล่มชื่อ "พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน" ให้ความรู้อย่างมากมายเกี่ยวแก่สถานที่ต่างๆ ที่เสด็จไป

 

5.การศึกษา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษา จึงโปรดให้สร้างโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง คือ "โรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก" ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ" ต่อมาโปรดให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้นเป็นแห่งแรก คือ "โรงเรียนวัดมหรรณพาราม" และในที่สุดได้โปรดให้จัดตั้งกระทรวงธรรมการขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2435 (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) เพื่อดูแลเรื่องการศึกษาและการศาสนา

 

6.การปกป้องประเทศจากการสงครามและเสียดินแดน

เนื่องจากลัทธิจักรวรรดินิยมได้แผ่อิทธิพลเข้ามาตั้งแต่ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ปรีชาสามารถอย่างสุดพระกำลังที่จะรักษาประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤติการณ์ ถึงแม้ว่าจะต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนไปก็ตาม โดยดินแดนที่ต้องเสียให้กับต่างชาติ ได้แก่

พ.ศ.2431 เสียดินแดนในแคว้นสิบสองจุไทย

พ.ศ.2436 เสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ให้ฝรั่งเศส และฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีไว้

พ.ศ.2447 เสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี แต่ฝรั่งเศสได้ยึดตราดไว้แทน

พ.ศ.2449 เสียดินแดนที่เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับตราด และเกาะทั้งหลาย แต่การเสียดินแดนครั้งสุดท้ายนี้ไทยก็ได้ประโยชน์อยู่บ้าง คือฝรั่งเศสยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ยอมให้ศาลไทยมีสิทธิที่จะชำระคดีใดๆ ที่เกิดขึ้นแก่ชาวฝรั่งเศส ไม่ต้องไปขึ้นศาลกงสุลเหมือนแต่ก่อน

ส่วนทางด้านอังกฤษ ประเทศไทยได้เปิดการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษ รวมถึงเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตด้วย ใน พ.ศ.2454 อังกฤษจึงยอมตกลงให้ชาวอังกฤษ หรือคนในบังคับอังกฤษมาขึ้นศาลไทย และยอมให้ไทยกู้เงินจากอังกฤษ เพื่อนำมาใช้สร้างทางรถไฟสายใต้จากกรุงเทพฯ ถึงสิงคโปร์ เพื่อตอบแทนประโยชน์ที่อังกฤษเอื้อเฟื้อ ทางฝ่ายไทยยอมยกรัฐกลันตัน ตรังกานูและไทยบุรี ให้แก่สหรัฐมลายูของอังกฤษ

 

ขอบคุณภาพ จาก mthai.com

 

ขณะที่พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบรมรูปทรงม้า ตั้งอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า สร้างขึ้นในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระปิยมหาราชเจ้า โดยนำแบบอย่างมาจากพระบรมรูปของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ที่กรุงปารีส ด้วยฝีมือนายช่างชาวฝรั่งเศส บริษัท ซุซเซอร์ เฟรสฟอร์เดอร์ ในวโรกาส ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอย่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2450

พระองค์เสด็จประทับ ให้ช่างปั้นชื่อ จอร์จ เซาโล ปั้น เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2450 พระบรมรูปสำเร็จเรียบร้อยส่งเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2451 อันเป็น เวลาพอดีกับงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เนื่องในโอกาสเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ 40 ปี เจ้าพนักงานได้อัญเชิญพระบรมรูปทรงม้าขึ้นประดิษฐานบนแท่นรองหน้าพระราชวังดุสิต โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปทรงทำพิธีเปิดด้วยพระองค์เองในปัจจุบันถึงแม้มิใช่ วันที่ 23 ตุลาคม ก็จะมีประชาชนจำนวนมากพากันไปสักการบูชาที่ลานพระบรมรูปอยู่เสมอโดยเฉพาะในคืนวันอังคาร ซึ่งตรงกับวันพระราชสมภพของพระองค์ โดยมีความเชื่อว่าจะเสมือนหนึ่งไปรอเฝ้ารัชกาลที่ 5 โดยในเวลา 4 ทุ่ม พระองค์ท่านจะเสด็จมาประทับ ณ พระบรมรูปทรงม้าด้วย

 

ถวายบังคม เสด็จพ่อร.5 พร้อมสุดยอดพระคาถา บูชาพระปิยะมหาราช 23 ต.ค.

 

สิ่งที่นิยมใช้สักการบูชา คือ ดอกกุหลาบสีชมพู ด้วยความเชื่อที่ว่า ดอกกุหลาบที่มีความงามและมีหนามแหลมคม (คืออำนาจ) หากนำมาบูชาจะทำให้ผู้บูชามีอำนาจ และสีชมพูยังเป็นสีของวันอังคาร (วันพระราชสมภพ) นอกจากนี้ ประชาชนบางคนยังนิยมจัดเป็นโต๊ะบูชา ส่วนใหญ่ประกอบด้วย บายศรี หมากพลู บุหรี่ เหล้า/ไวน์ สตางค์ น้ำมนต์ เชิงเทียน กระถางธูป ฯลฯ ซึ่งถือเป็นการจัดอย่างบูชา “เทพ” ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเปรียบพระองค์เสมือนดั่งเทพยดาที่ปกปักษ์รักษา ประเทศชาติ และราษฎรให้อยู่รอดปลอดภัย และเจริญก้าวหน้ามาโดยตลอด

พระคาถา สำหรับบูชารัชกาลที่ ๕ มากมายหลายหลายพระคาถา เช่น พระคาถาที่กล่าวกันว่านำสุดยอดพระคาถาอื่นๆ มารวมกัน คือ “สยามเทวะนุภาเวนะ สยามะเทวะเตชะสา ทุกขะโรคะภะยา เวรา โสภา สันตุ จะปัททะวา อเนกา อันตะรายาปี วินัสสันตุ อะเสสะโต ชะยะสิทธิ ธะนัง ลาภัง โสตภิภาคะยัง สุขัง พลัง สิริ อายุ จะวัณโณ จะ โภคัง วุฑฒิจะ ยะสะวา สะตะวัสสา จะ อายุ จะ ชีวะสิทธี ภะวันต เม”

 

ขอบคุณข้อมูล wikipedia.org , http://www.youtube.com

related