svasdssvasds

พอเพียงอย่างพอใจ : ผู้นำ… มูลค่าแฝงขององค์กร (2)

พอเพียงอย่างพอใจ : ผู้นำ… มูลค่าแฝงขององค์กร (2)

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

1511269455680 nglm13 ฉบับก่อน เราได้กล่าวถึงคุณสมบัติที่ดีและความสำคัญของ “ผู้บริหาร” หรือ “ผู้นำ” ขององค์กร

ตำราฝรั่งหลายเล่มระบุคุณสมบัติที่แตกต่างกันของผู้นำที่ดี… สำหรับเราคนไทย คนเมืองพุทธ ผู้นำที่ดีต้องมีคุณสมบัติหรือมีความเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมหลายๆอย่าง หาใช่ความฉลาดเฉลียวในการสร้างสรรค์กำไรและความมั่งคั่งเพียงอย่างเดียว

และการเป็นผู้บริหารหรือผู้นำนั้นจะมีแต่เพียงอำนาจอย่างเดียวคงไม่ได้ จำเป็นต้องมีบารมีควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้พนักงานเกิดความเคารพนับถือ และพร้อมที่จะทำงานหนักเพื่อองค์กร

โดยคุณธรรมของผู้นำ หากยกหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาก็ได้รับการจัดสรรไว้พร้อมสรรพ ขึ้นอยู่ที่การเลือกสรรนำมาใช้ให้เหมาะกับกาลเทศะ บุคคล และสถานการณ์ เช่น ทศพิธราชธรรม 10

“ทศพิธราชธรรม” หรือ “ราชธรรม 10” คือจริยวัตร 10 ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์ หรือเป็นคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมือง ให้มีความเป็นไปโดยธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชนจนเกิดความชื่นชมยินดี ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้จำเพาะเจาะจงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือผู้ปกครองแผ่นดินเท่านั้น บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในทุกองค์กรก็พึงใช้หลักธรรมเหล่านี้ได้

ดังในมหาหังสชาดก พระสูตรขุททกนิกายชาดกปรากฏพระคาถา

“ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ”

1. ทาน (ทานํ) หมายถึง การให้การเสียสละ นอกจากเสียสละทรัพย์สิ่งของแล้ว ยังหมายถึงการให้นํ้าใจแก่ผู้อื่นรวมถึงผู้อยู่ในสถานะตํ่ากว่าด้วย

2. ศีล (สีลํ) หมายถึง ความประพฤติที่ดีงาม ทั้งกาย วาจา และใจ เป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป

3. บริจาค (ปริจฺจาคํ) หมายถึง การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขส่วนรวม

4. ความซื่อตรง (อาชชวํ) หมายถึง ความซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง มีความจริงใจไม่กลับกลอก

5. ความอ่อนโยน (มทฺทวํ) หมายถึง การมีอัธยาศัยอ่อนโยน เคารพในเหตุผล ที่ควร มีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโส และอ่อนโยนต่อบุคคลที่เสมอกันและตํ่ากว่า

6. ความเพียร (ตปํ) หมายถึง ความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน โดยปราศจากความเกียจคร้านและการเพียรพยายามไม่ให้ความมัวเมาเข้าครอบงำจิตใจ ไม่ลุ่มหลงกับอบายมุขสิ่งชั่วร้ายและความสุขสำราญ

7. ความไม่โกรธ (อกฺโกธํ) หมายถึง มีจิตใจมั่นคง มีความสุขุม เยือกเย็น อดกลั้น

8. ความไม่เบียดเบียน (อวิหึสญฺจ) หมายถึง การไม่เบียดเบียนหรือบีบคั้นผู้อื่น ไม่ก่อทุกข์หรือและไม่หลงในอำนาจ

9. ความอดทน (ขนฺติญฺจ) หมายถึง การมีความอดทนสภาวะ… “อด” คือ “ไม่ได้ในสิ่งที่อยากได้และ “ทน” คือ ได้ในสิ่งที่ไม่ปรารถนา

10. ความยุติธรรม (อวิโรธนํ) หมายถึง มีความหนักแน่นยึดถือความถูกต้องยุติธรรมเป็นหลัก อย่างไม่เอนเอียง โดยไม่หวั่นไหวต่อคําพูด อารมณ์หรือลาภสักการะใดๆ

น่าอัศจรรย์และน่าเลื่อมใสยิ่งที่ธรรมะจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ที่มีอายุยาวนานกว่า 2,500 ปี ได้รวบรวมแนวทางคำสอนการปกครองสังคมให้มีความสุขอย่างมีคุณธรรมได้ครบถ้วนเช่นนี้

แต่ในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะยิ่งในตลาดทุนไทย การจะมองหาผู้บริหารที่ยึดหลัก “ราชธรรม 10” นี้ได้อย่างสมบูรณ์นั้นยากเหลือหลายแต่หากท่านพบเจอบริษัทใดที่มีผู้นำเช่นนี้ จงอย่าช้าที่จะลงทุนและสนับสนุนองค์กรนั้นๆ แม้กำไรที่ได้จะไม่มั่งคั่งที่สุด แต่ความมั่นคงและบุญกุศลร่วมจะทำให้ท่านมีความสุขแน่นอน

ดั่งคติธรรมคำสอนจากหนังสือขันธะวิมุติสะมังคีธรรมะของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

“หาคนดีมีศีลธรรมในใจหายากยิ่งกว่าเพชรนิลจินดา ได้คนเป็นคนดีเพียงคนเดียวย่อมมีคุณค่ามากกว่าเงินเป็นล้านๆเพราะเงินเป็นล้านๆ ไม่สามารถทำความร่มเย็นให้แก่โลกได้อย่างถึงใจเหมือนได้คนดีทำประโยชน์”

.................

คอลัมน์ : พอเพียงอย่างพอใจ หน้า 18 ฉบับ 3316 ระหว่างวันที่ 23-25 พ.ย.2560 

related