svasdssvasds

ข้าพระบาท ทาสประชาชน : ยกเลิกกฎหมายขายฝาก ปลดแอกคนจน

ข้าพระบาท ทาสประชาชน : ยกเลิกกฎหมายขายฝาก ปลดแอกคนจน

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

4564 เมื่อคืนวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ผมได้มีโอกาสฟัง นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ในเรื่องการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเกษตรกรรายย่อยที่ยากจน ที่ตกเป็นหนี้สินนายทุนเจ้าหนี้และถูกเอารัดเอาเปรียบ จนต้องสูญเสียที่ดินทำกิน ทำให้ผมรู้สึกตกตะลึง ตื่นเต้นและแปลกประหลาดใจ เพราะคิดไม่ถึงว่าท่านนายกฯ จะพูดถึงเรื่องการหาทางช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้สินที่ไม่เป็นธรรมและช่วยเกษตรกรที่ต้องสูญเสียที่ดินทำกินให้แก่เจ้าหนี้และนายทุนเงินกู้ ด้วยสาเหตุจากกฎหมายขายฝาก และท่านนายกฯ ยังมีดำริที่จะเสนอให้มีการยกเลิกกฎหมายขายฝาก ที่เป็นต้นเหตุให้ชาวนาต้องสูญเสียที่ดิน โดยจะทำให้ได้ในปีนี้ ภายใต้รัฐบาลของท่าน ทั้งยังได้เสนอเรื่องนี้ให้ “คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย” ชุดที่มี ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน และมีคุณคำนูณ สิทธิสมาน เป็นกรรมการ บรรจุเป็นวาระเร่งด่วนในการพิจารณา โดยไม่ต้องรอการปฏิรูปในกรอบใหญ่ แสดงให้เห็นว่า นายกฯ มีความประสงค์ดำเนินการเรื่องนี้ให้เห็นผลโดยเร็ว การที่ท่านนายกฯ มีดำริที่จะยกเลิกกฎหมายขายฝากหรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 4 ส่วนที่ 1 ม.491-502 ว่าด้วย ขายฝากที่บังคับใช้อยู่ขณะนี้ หากดำเนินได้เป็นผลสำเร็จ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีท่านแรกของไทย ที่เสนอยกเลิกกฎหมายที่ปลด แอกทับคอคนจนมาเป็นเวลาเกือบ 100 ปี ให้หมดสิ้นไปในยุครัฐบาล คสช. ซึ่งจะเป็นการสร้างความยุติธรรมที่มีความหมายสำคัญยิ่งสำหรับคนจน และงานนี้จะทำให้ท่านได้ใจชาวนาคนยากจนที่ถูกนายทุนเจ้าหนี้เอารัดเอาเปรียบมาชั่วนาตาปีอย่างไม่ต้องสงสัย  เพราะการยกเลิกกฎหมายฉบับนี้เปรียบเหมือนปลดแอกออกจากบ่าของคนจนทั้งแผ่นดิน ที่ต้องขอชื่นชมและยกมือเชียร์ท่านนายกฯประยุทธ์ ในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ก็เพราะเห็นว่ากฎหมายดังกล่าว เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งสำหรับประชาชนทั่วไป และเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา ที่มีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตน ให้ต้องตกเป็นผู้ที่สูญเสียที่ดินทำกินให้กับเจ้าหนี้หรือนายทุน ที่อาศัยช่องว่างทางกฎหมายเอาเปรียบได้โดยง่าย เพราะการประกอบอาชีพชาวนา มีความเสี่ยงความไม่แน่นอนสูงจากภัยธรรมชาติ ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ราคาพืชผลไม่ดีไม่แน่นอน เมื่อมีความจำเป็นในชีวิต ลูกป่วย พ่อแม่หรือตนเอง คนในครอบครัวมีปัญหาเดือดร้อนหรือขาดแคลนเงินทุนหรือเครื่องมืออันจำเป็นในการผลิต จะกู้ยืมจากสถาบันการเงินก็ไม่สะดวก จำต้องบากหน้าไปกู้หนี้ยืมเงินบรรดานายทุนเจ้าหนี้ ซึ่งบุคคลเหล่านั้นก็อาศัยการทำสัญญาขายฝากที่ดินกับชาวนาด้วยราคาตํ่ากว่ามูลค่าที่ดินทรัพย์ที่นำมาขายฝากและกำหนดเวลาไถ่ถอนในระยะสั้น เมื่อชาวนาไม่สามารถมีเงินมาไถ่ถอนได้ตามกำหนดเวลาก็ดี หรือแม้มีเงินมาไถ่ถอนตามกำหนดเวลา ก็อาจโดนเล่ห์เหลี่ยมกลโกง เพื่อไม่ให้ชาวนาเจ้าของที่ดินผู้ขายฝาก สามารถมาไถ่ถอนได้ทันเวลา ที่ดินก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหนี้ผู้รับซื้อฝากทันทีตั้งแต่วันทำสัญญา ทำให้ชาวนา เกษตรกรที่ยากจนและไม่รู้เท่าทันเจ้าหนี้นายทุน ต้องสูญเสียที่ดินทำกิน สิ้นเนื้อประดาตัวเป็นจำนวนมาก กฎหมายขายฝากจึงเป็นเครื่องมือทางกฎหมายสำหรับเจ้าหนี้นายทุน เพื่อใช้ไล่ล่าแย่งยึดเอาที่ดินแปลงงามๆทำเลดีๆราคาแพง จากคนจนที่มีที่ดินทำกิน และเป็นสาเหตุหลัก ทำให้ชาวนาเกษตรกรเหล่านั้น กลายเป็นชนชั้นที่ไร้ที่ดินเป็นของตนเอง ที่ขมขื่นหนักยิ่งกว่านั้นก็คือ ต้องกลายเป็นผู้เช่าที่ดินตนเองที่หลุดลอยไปหรือของคนอื่นทำกินเพื่อยังชีพ ผลผลิตที่ได้ต้องจ่ายเป็นค่าเช่าที่ดิน ค่าเครื่องมือการผลิต ทำเท่าไหร่ก็ไม่มีเหลือไม่พอกิน กลายเป็นทาสติดที่ดิน ซึ่งจะพบเห็นสภาพชีวิตของชาวนาเกษตรกรลักษณะนี้มากที่สุดในภาคกลาง เหนือ และอีสาน ในช่วงชีวิตหนึ่งของผู้เขียน เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษากฎหมาย หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผมได้เป็นอาสาสมัครร่วมกับเพื่อนๆนักศึกษา ออกไปคลุกคลีใช้ชีวิตกับพี่น้องชาวนาในภาคกลางแถบพิษณุโลก พิจิตร สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง ก็พบว่าชาวนาจำนวนมากหลายหมื่นหลายแสนครอบครัว ต้องสูญเสียที่ดินที่นาให้กับเจ้าหนี้นายทุน เพราะความจำเป็นที่ต้องไปกู้ยืมเงินดอกเบี้ยสูงและจำยอมต้องทำสัญญาขายฝากที่ดินไว้กับ นายทุนเจ้าหนี้ เมื่อไถ่ถอนไม่ทันหรือโดยกลโกงที่ดินก็หลุดลอยไป เจ้าหนี้นายทุนหลายคนมีที่ดินที่หลุดมือมาจากชาวนาเป็นจำนวนหลายหมื่นไร่ พวกเรานักศึกษาได้พบเห็นปัญหาดังกล่าว ด้วยความเศร้าสะเทือนใจและเห็นใจพี่น้องชาวนาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้นำปัญหามาเรียนเสนอต่อรัฐบาล อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น รัฐบาลอาจารย์สัญญาจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประนอมหนี้สิน เพื่อช่วยเหลือชาวไร่ชาวนาที่เป็นทาสติดที่ดินเหล่านั้น โดยส่งคณะกรรมการดังกล่าวออกไปปฏิบัติหน้าที่ ในเขตพื้นที่ภาคกลางหลายจังหวัด ผู้เขียนกับเพื่อนนักศึกษาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการด้วย แต่ปัญหาชาวนาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ผมและเพื่อนๆ ที่ออกไปสัมผัสปัญหาด้วยตนเองในเรื่องนี้ จึงได้แนะนำให้ชาวนารวมตัวกันจัดตั้งเป็น “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” เพื่อรวบรวมปัญหาและความต้องการเสนอต่อรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและการถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมจากบรรดานายทุนเจ้าหนี้ ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นเจ้าที่ดินครอบครองที่ดินรายละหลายหมื่นไร่ ที่ยึดเอามาจากชาวนา ข้อเสนอที่สำคัญขณะนั้นคือ 1. ขอให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายขายฝากเสีย 2.ขอให้ตราพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่านา ยกเลิกการทำนาแบบแบ่งกึ่ง(ชาวนาทำนาได้ผลผลิตเท่าไร ต้องแบ่งให้เจ้าของที่ดินครึ่งหนึ่ง) 3.ขอให้รัฐบาลดำเนินการปฏิรูปที่ดิน เพื่อจัดสรรที่ดินทำกินแก่ชาวนาและเกษตรกร 4.ให้รัฐบาลช่วยเหลือปัญหาเรื่องราคาผลผลิตที่ตกตํ่า จากการรวมตัวเสนอข้อเรียกร้องที่มีเหตุผลของชาวนา รัฐบาลก็ได้ให้โอกาสตัวแทนชาวนามานั่งโต๊ะเจรจากับรัฐบาลเพื่อรับฟังปัญหา ในที่สุดรัฐบาลขณะนั้นก็ได้ดำเนินแก้ไขจนเป็นผลสำเร็จ 2 เรื่องใหญ่ๆคือ 1. มีการตราพระราชบัญญัติ ควบคุมค่าเช่านา พ.ศ. 2517 ออกบังคับใช้ 2. มีการตราพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2518 อีกฉบับเพื่อดำเนินการปฏิรูปที่ดิน กฎหมายทั้ง 2 ฉบับยังคงมีผลบังคับใช้ถึงปัจจุบัน แต่ที่ยังไม่สามารถยกเลิกได้ก็คือกฎหมายขายฝาก ยังคงเป็นกฎหมายที่สร้างปัญหาเป็นเครื่องมือที่สร้างความไม่เป็นธรรมแก่สังคมมาต่อเนื่องจนปัจจุบัน การที่นายกรัฐมนตรีมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะดำเนินการให้มีการยกเลิกกฎหมายขายฝากให้เสร็จสิ้นโดยเร็วในยุครัฐบาลของ คสช.จึงเป็นเรื่องน่าชื่นชมอย่างยิ่ง เพราะนี่คือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุหนึ่งของความยากจนและการเอารัดเอาเปรียบชาวนาเกษตรกร จากนายทุนเจ้าหนี้ที่มีความรู้ทางกฎหมายและฐานะทางสังคมที่สูงกว่า และจะเป็นการปิดโอกาสคนโกงที่จ้องเอาเปรียบคนจน การยกเลิกกฎหมายฉบับนี้จึงเท่ากับเป็นการปลดแอกให้คนจน ปลดโซ่ตรวนที่พันธนาการชีวิตชาวนาเกษตรกร ให้เขามีโอกาสเงยหน้าอ้าปากสู้ชีวิต เพื่อปลูกข้าวให้คนกิน ทำให้ข้อเรียกร้องที่ชาวนารอคอยมาร่วม 40 ปี บังเกิดผล ด้วยมาตรการนี้กับการปฏิรูปที่ดินและส่งเสริมสินเชื่อที่เป็นธรรมแก่เกษตรกร ก็จะทำให้แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนได้ หากการดำเนินการเรื่องนี้สำเร็จจริง ก็เชื่อได้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่ในหัวใจประชาชน เป็นผลงานรัฐบาลที่คนจนจะจดจำตลอดไป” เป็นการแก้ปัญหาอย่างผู้นำประเทศ ที่มองถึงอนุชนรุ่นต่อๆไป มิใช่การหาเสียงแบบนักการเมือง ผมจึงขอสนับสนุนครับ ............... คอลัมน์ : ข้าพระบาท ทาสประชาชน /หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ / ฉบับ 3330 ระหว่างวันที่ 11-13 ม.ค.2561
related