svasdssvasds

"ทนายเกิดผล" ชี้ข้อกม.จอดรถขวางหน้าบ้าน เป็นคดีอาญา!

"ทนายเกิดผล" ชี้ข้อกม.จอดรถขวางหน้าบ้าน เป็นคดีอาญา!

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

จากกรณีที่โลกโซเชียลมีการเผยแพร่คลิปเหตุการณ์ของหญิงคนหนึ่งทุบรถยนต์ที่มาจอดขวางหน้าบ้าน แม้จะบีบแตรเสียงดังเป็นระยะเวลาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีเจ้าของมาแสดงตัว กระทั่งหญิงคนดังกล่าวได้หยิบขวานและเสียมมาทุบกระจกรถจนได้รับความเสียหาย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง "ทนายเกิดผล" ชี้ข้อกม.จอดรถขวางหน้าบ้าน เป็นคดีอาญา! )

ล่าสุดวันนี้( 19 ก.พ.) ในเพจเฟซบุ๊กของ ทนายเกิดผล แก้วเกิด ได้อธิบายข้อกฎหมายของเหตุการณ์นี้ไว้โดยระบุว่า "จากคลิปข่าว กรณี มีป้าคนหนึ่ง ใช้สิ่งของทุบทำลายรถยนต์คันหนึ่ง เพราะความไม่พอใจ ที่รถยนต์คันดังกล่าว มาจอดขวางทางเข้าออก หน้าบ้านของตน

การที่รถยนต์คันดังกล่าว มาจอดขวางทางเข้าออก รบกวนการใช้ประโยชน์ในทางเพื่อเข้าออกบ้าน แม้ ถนนนั้นจะเป็นทางสาธารณะ ซึ่งใครก็มีสิทธิ จอดหรือใช้ประโยชน์ได้ก็ตาม แต่การใช้สิทธิ์ทุกอย่าง ต้องอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย และไม่รบกวนสิทธิของคนอื่นเช่นเดียวกัน

การจอดรถขวางประตูบ้านของผู้อื่น หรือแม้แต่การจอดขวางทางคนอื่นในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า ซึ่งถือว่า เป็นที่สาธารณะสถาน ถือว่า เป็นการกระทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญ เพราะไม่สามารถนำรถเข้าหรือออกจากบ้าน หรือออกจากลานจอดไม่ได้ ข้ออ้างว่าถนนหน้าบ้านเป็นที่สาธารณะ หรือ เจ้าของบ้านไม่ควรใช้รถเมื่อเขาจอดรถบนถนนหน้าบ้าน ใช้อ้างไม่ได้และไร้สาระ เนื่องจากเจ้าของรถใช้สิทธิไปก่อความเดือดร้อนของผู้อื่นทั้งที่รู้แก่ใจถึงความเสียหายนั้นเยี่ยงวิญญูชนพึงรู้กัน จึงถือว่า กระทำความผิดฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญใจตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 397

ศาลฎีกาเคยพิพากษาในประเด็นดังกล่าวไว้ว่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2518 จำเลยจอดรถขวางกั้นไม่ให้โจทก์ถอยรถออกไปจากซอยที่เกิดเหตุ เป็นเพียงขัดขวางไม่ให้โจทก์นำรถออกไปได้เท่านั้น ส่วนตัวโจทก์มีอิสระที่จะออกไปจากซอยได้ การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 #แต่เป็นการรังแกข่มเหงทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ แม้ซอยนั้นจะอยู่ในที่ดินของผู้มีชื่อซึ่งแบ่งให้ผู้อื่นเช่าปลูกบ้าน แต่ประชาชนก็ชอบที่จะเข้าออกไปติดต่อกับผู้ที่อยู่ในซอยนั้นได้ ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำในที่สาธารณสถาน จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397

แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าของบ้านก็ไม่มีสิทธิใช้กำลังทำลายทรัพย์สินของบุคคลอื่นโดยพลการ และหากกระทำก็ย่อมมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามกฎหมายอาญา เช่นกัน"

ขอบคุณข้อมูลจาก : ทนายเกิดผล แก้วเกิด

related