svasdssvasds

ชาวสวนดำเนินโอด คนซื้อยี้เพราะข่าวใช้พาราควอตฉีดผักผลไม้

ชาวสวนดำเนินโอด คนซื้อยี้เพราะข่าวใช้พาราควอตฉีดผักผลไม้

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

นายวินัย ธีรทองดี เกษตรกรปลูกมะนาวและมะพร้าว อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี พร้อมเกษตรใน จ.ราชบุรี รวม 20 คน เดินทางเข้าพบนายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อชี้แจงข้อมูลอีกด้านหนึ่งของการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช “พาราควอต" หลังเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ออกมาให้ข้อมูลว่า สารพาราควอตเป็นอันตรายและสามารถปนเปื้อนในผักและผลไม้ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้  โดยนายวินัย ระบุว่า พวกตนเป็นเกษตรกรและใช้พาราควอตในการกำจัดวัชพืชมานานกว่า 50 ปี จะใช้เฉพาะในขั้นตอนการเตรียมดินกำจัดวัชพืชเท่านั้น และสารดังกล่าว จะสลายภายใน 10-15 วัน และไม่มีการดูดซึมไปยังส่วนต่างๆของพืชผักและผลไม้ ซึ่งปกติเกษตรกรจะไม่นิยมนำสารพาราควอตมาฉีดซ้ำในพืชและผลไม้ที่ปลูก เนื่องจากสารดังกล่าวเปรียบเสมือนน้ำร้อน หากรดลงบนพืชและผัก ก็จะเฉาตายทันที

ตลอดระยะเวลาการใช้ยืนยัน ไม่เคยมีเกษตรกรหรือชาวบ้านใกล้เคียงรายใด ได้รับอันตราย ทั้งนี้จากการออกประกาศข้อมูลของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ทำให้เกษตร จ.ราชบุรี ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ราคาผลผลิตตกต่ำเกินครึ่ง เช่น ราคามะพร้าวที่เป็นหนึ่งในพืชผลที่ถูกยกตัวอย่างว่ามักมีสารพาราควอตปนเปื้อน ปกติขายได้ราคาลูกละ 10-30 บาท ขณะนี้เหลือเพียงลูกละ 4 บาท ซึ่งในความเป็นจริง มะพร้าวถือว่าปนเปื้อนได้ยากมาก เนื่องจากมีเปลือกที่แข็งและหนา การจะปนเปื้อนได้ต้องปอกเปลือกเท่านั้น ขณะที่คะน้า ที่ถูกอ้างถึงด้วยนั้น จากปกติ กิโลกรัมละ 30 บาท แต่ขณะนี้เหลือเพียงกิโลกรัมละ 4 บาทเท่านั้น

กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากกลุ่มไทยแพนได้สุ่มตรวจผักและผลไม้ในช่วงเดือนสิงหาคมจำนวน 150 ตัวอย่าง ในห้างค้าปลีกและตลาดสด แล้วพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน MRL ทั้งหมดร้อยละ 46 โดยพบมีสารพาราควอตตกค้างในพืชผักผลไม้หลายชนิด ได้แก่ ผักคะน้า พริก ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี มะละกอ และมะพร้าวน้ำหอม

ขณะที่นายอุทัย ระบุว่า จะนำเรื่องเรียนอธิบดีก่อนจะตรวจสอบ เพื่อหาข้อเท็จจริงทั้ง 2 ฝ่าย และหาทางช่วยเหลือทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยที่สุด อย่างไรก็ตาม ในปีหน้า (2561) กรมวิชาการเกษตรมีแผนที่จะดำเนินการสุ่มตรวจสารเคมีตกค้างจากแหล่งผลิตพืช GAP จำนวน 4,379 ตัวอย่าง แผนการสุ่มตัวอย่างประกอบการตรวจรับรองจำนวน 2,415 ตัวอย่าง และจะสุ่มเก็บตัวอย่างตามโครงการบูรณาการตลาดสดอีกจำนวน 800 ตัวอย่าง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในการบริโภคพืชผักและผลไม้ที่ปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆด้วย

related