svasdssvasds

9 ข้อหา "เปรมชัย" ล่าเสือดำ หนักสุด 10 ปี "หาของป่าเขตป่าสงวนฯ"

9 ข้อหา "เปรมชัย" ล่าเสือดำ หนักสุด 10 ปี "หาของป่าเขตป่าสงวนฯ"

บทลงโทษของ นายเปรมชัย กรรณสูต และพวกรวม 4 คน ลักลอบเข้าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศร และล่าสัตว์ป่า โดยมีการแจ้งข้อหาไปทั้งหมด 9 ข้อหา

 

จากกรณีที่นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพวกรวม 4 คน ลักลอบเข้าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศร และล่าสัตว์ป่า ซึ่งมีการดำเนินคดีกับ นายเปรมชัย และพวก 9 ข้อหา 1. ร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 2. ร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 3. ร่วมกันพยายามล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 4. ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 5. ร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสียหรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งซากของสัตว์ป่า อันได้มา โดยการกระทำผิดกฎหมาย 6. ร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ป่าหรือจับสัตว์หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในเขตรักษา พันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 7. ร่วมกันเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 8. ร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 9. ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืน ไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และโดยไม่มีเหตุอันสมควร

เมื่อพิจารณาบทลงโทษ แต่ละข้อที่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศร ฝั่งตะวันตกจะร้องทุกข์กล่าวโทษ ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 พบว่า

1. ร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 36 และมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.ร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 16 และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. ร่วมกันพยายามล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 36 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 53 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 กล่าวคือ ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ส่วนของโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

4. ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 19 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 47 กล่าวคือ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

5. ร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสียหรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งซากของสัตว์ป่า อันได้มา โดยการกระทำผิดกฎหมาย ผิดตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

6. ร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ป่าหรือจับสัตว์หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในเขตรักษา พันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามข้อ 1 (1) ของ กฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2538) ออกตามความตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ไม่มีโทษอาญา แต่ให้หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ออกไปจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้

7. ร่วมกันเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 (ไม่มีบทกำหนดความผิดสำหรับการฝ่าฝืน)

“มาตรา 37 นอกจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานอื่นใดซึ่งต้องเข้าไปปฏิบัติการตามหน้าที่ ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง” ตรวจสอบตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ไม่พบว่ามีบทบัญญัติที่กําหนดโทษสําหรับการฝ่าฝืนมาตรา37ไว้เลย ส่วนข้อหานําเครื่องมือสําหรับใช้ในการล่าสัตว์เข์าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้น เป็นข้อห้ามสําหรับผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เมื่อคดีนี้ผู้ต้องหาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าย่อมที่จะไม่เข้าองค์ประกอบตามมาตรา 37 วรรคสองที่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง

อีกทั้งการฝ่าฝืนกฎกระทรวงที่ออกตามตามาตรา 37 วรรคสองก็ไม่ได้มีการกําหนดโทษไว้เช่นเดียวกับมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ดังนั้น อาจจะเป็นช่องว่างของกฎหมายที่ไม่สามารถลงโทษผู้ต้องหาในความผิดตามมาตรา 37 ได้ และจากการตรวจสอบเว็บไซต์ค้นคําพิพากษาศาลฎีกาก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อมูลของการลงโทษผู้กระทําความผิดตามมาตรา 37 นี้มาก่อน แต่อาจต้องปรับบทในความผิดฐานอื่น ผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง

8.ร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 ต้องระวางโทษตามมาตรา มาตรา 31 กล่าวคือ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 14 ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท

9. สําหรับความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 (ซึ่งตามข่าวอาวุธปืนเหมือนว่าจะเป็นปืนที่ได้รับใบอนุญาตให้มีตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ส่วนใบอนุญาตให้พาอาวุธปืนนั้นไม่แน่ใจว่าจะมีหรือไม่ หากไม่ได้รับใบอนุญาตให้พาอาวุธปืนก็จะเป็นความผิดตาม ตามมาตรา 8 ทวิ ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง กล่าวคือ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ)

9 ข้อหา "เปรมชัย" ล่าเสือดำ หนักสุด 10 ปี "หาของป่าเขตป่าสงวนฯ"

 

 

related