svasdssvasds

ระวังเนื้อยุ่ย !! เตือนของเหลว “กลิตเตอร์ในเคสมือถือ” อันตราย

ระวังเนื้อยุ่ย  !! เตือนของเหลว “กลิตเตอร์ในเคสมือถือ” อันตราย

มีคนโทรถามเกี่ยวกับเรื่องที่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยโพสต์ไว้ตั้งแต่ 2 ปี ว่า "ของเหลวในเคสกลิตเตอร์ ทำเนื้อไก่ยุ่ยได้จริงๆ " ซึ่งเป็นข่าวที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ

เหตุการณ์ระบุว่าเด็กผู้หญิงคนหนึ่งอายุแค่ 9 ขวบ ไปนอนทับโทรศัพท์มือถือที่ใส่เคสแบบกลิตเตอร์ (คนไทยเรียกเคสฟรุ้งฟริ้ง) ซึ่งดูเป็นของเหลวมีโลหะสะท้อนแสงเป็นประกายลอยอยู่ใน้ำ แล้วของเหลวจากเคสกลิตเตอร์ก็ไหลมาโดนขาของเธอ จนเกิดอาการไหม้แบบสารเคมีกัด (chemical burn)

 

รศ.ดร.เจษฎา เล่าว่า ได้ลองเอาเคสมือถือมาทดสอบ ซึ่งก็มี 3 แบบ คือ แบบที่เป็นกลิตเตอร์ลอยในของเหลวคล้ายน้ำมัน แบบที่มีน้ำกับน้ำมันผสมสีฟ้าและตุ๊กตุ่นเป็ดลอยอยู่ และแบบที่เป็นน้ำสีน้ำตาลทำรูปคล้ายขวดโคล่า  พบว่าเมื่อเอาเนื้อไก่มาลองแช่น้ำที่ได้จากเคสแต่ละแบบ ก็พบว่าของเหลวจากเคสกลิตเตอร์ สามารถกัดเนื้อไก่ให้เปื่อยยุ่ยได้ เอาส้อมกดแล้วขาดเป็นชิ้นๆเลยหลังจากแช่ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที

 

เมื่อลองวัดค่าพีเอช ดูความเป็นกรดด่าง พบว่าเป็นกรดอ่อน pH ประมาณ 5 กลิ่นแปลกๆ ติดจมูกยังกับมีสารเคมีพวกคลอรีนปน ... คนที่ช่วยผ่าเคสกลิตเตอร์ แล้วมือเลอะของเหลวที่ว่า ก็รู้สึกแสบร้อนนิ้วมือที่โดนสารด้วย

ส่วนเคสรุ่นเป็ดลอยน้ำนั้น ไม่ได้มีอันตรายรุนแรงขนาดจะกัดเนื้อไก่ให้ยุ่ยได้ แต่ก็วัดพีเอชได้ค่าเป็นกรดอ่อนพอๆ กันกับเคสกลิตเตอร์ จึงต้องใช้อย่างระมัดระวังเช่นกัน โดยมีคนเคยแจ้งด้วยว่าสัมผัสกับของเหลวนี้แล้วเกิด chemical burn ได้เช่นกัน

 

ผลจากการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการของอาจารย์อ๊อด รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์  สาขาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ www.facebook.com/phutdhawong/posts/975412175882426 ระบุว่า ของเหลวในเคสมือถือแบบกลิตเตอร์นี้ น่าจะต้องเป็นตัวทำละลายอินทรีย์ (organic solvent) โดยมีจุดเดือดเท่ากับ 174 องศาเซลเซียส และน่าจะเป็น "เด็คเคน (Decane)" ซึ่งเป็นตัวทำละลายอินทรีย์ที่ไม่สามารถละลายพลาสติกได้ และปกติใช้เป็นสารชะล้างไขมันในโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อถูกผิวหนัง ทำให้ระคายเคืองแพ้ หากใครแพ้มาก ก็อันตรายตามอาการ หากสารเข้าตาก็อาจบอดได้

 

คำแนะนำ จึงควรที่จะหลีกเลี่ยงการใช้เคสมือถือชนิดกลิตเตอร์นี้ หรือถ้าใช้ ก็ต้องระวังการรั่วซึมออกมา เช่น ระวังไม่ไปนั่งทับหรือใช้ยี่ห้อที่มีราคาถูกและไม่ได้มาตรฐานการผลิต ... ถ้าบังเอิญสัมผัสถูกผิวหนัง ปรกติจะไม่ได้เกิดอาการแพ้หรือไหม้สารเคมีอย่างฉับพลันอะไร แต่อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน ให้รีบล้างออกด้วยน้ำมากๆ หรือไปพบแพทย์ถ้ามีอาการรุนแรง

related