svasdssvasds

เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ | 'อีลอน มัสก์' นักประดิษฐ์เปลี่ยนโลก

เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ | 'อีลอน มัสก์' นักประดิษฐ์เปลี่ยนโลก

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

… การปฏิบัติอุตสาหกรรมครั้งก่อน ๆ ในประวัติศาสตร์ มักเกิดขึ้นพร้อมกับนักประดิษฐ์ (Inventor) คนสำคัญในยุคนั้นเสมอ ‘เจมส์ วัตต์’ สร้างเครื่องจักรไอน้ำ ซึ่งทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ‘โทมัส เอดิสัน’ และ ‘นิโคลา เทสลา’ ทำให้เกิดระบบไฟฟ้า ซึ่งส่งผลให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 นักประดิษฐ์เหล่านี้ทำงานด้วยความฝันที่จะสร้างสิ่งที่เป็นไปไม่ได้และเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น

ในปัจจุบัน สิ่งประดิษฐ์และนักประดิษฐ์ที่คนส่วนใหญ่นึกถึง ได้แก่ Facebook โดย ‘มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ค’ และ Google โดย ‘แลร์รี เพจ’ และ ‘เซอร์เกย์ บริน’ ในขณะ Facebook และ Google ช่วยอำนวยความสะดวกมากมายในชีวิตประจำวัน แต่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า Facebook และ Google มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ทำกำไรสูงสุด โดยจูงใจให้ผู้ใช้คลิกโฆษณาและใช้เวลากับหน้าจอนานที่สุด สิ่งที่ขาดหายไปในนักประดิษฐ์ในยุคปัจจุบัน คือ จิตวิญญาณของนักประดิษฐ์ในอดีต ที่จะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น

เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ | 'อีลอน มัสก์' นักประดิษฐ์เปลี่ยนโลก

ในขณะที่ นักประดิษฐ์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันถูกจูงใจโดยผลกำไร ‘อีลอน มัสก์’ เป็นนักประดิษฐ์ที่แตกต่างและเปี่ยมไปด้วยความฝันที่จะเปลี่ยนโลก ความแตกต่างของ ‘อีลอน’ ทำให้เขาเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่มากมาย จนกระทั่งทีมเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Iron Man ได้ไปศึกษาชีวิตและการทำงานของ ‘อีลอน’ เพื่อใช้ในการออกแบบบุคลิกของ ‘โทนี สตาร์ค’ เราลองมาดูกันว่า งานเด่น ๆ ของ ‘อีลอน’ มีอะไรบ้าง

เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ | 'อีลอน มัสก์' นักประดิษฐ์เปลี่ยนโลก

รถยนต์ไฟฟ้าและพลังสะอาด : อีลอนสนใจการใช้พลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เขาลงทุนใน Tesla (ตั้งชื่อตาม นิโคลา เทสลา) บริษัทผลิตรถไฟฟ้าที่ขับด้วยตัวเอง อีลอนไม่ใช่คนแรกที่สร้างรถไฟฟ้า แต่เป็นคนสำคัญที่ทำให้รถไฟฟ้าถูกใช้ในวงกว้าง บริษัทรถไฟฟ้าก่อน Tesla ประสบความล้มเหลว เพราะมีปัญหาเรื่องแบตเตอรี่และสถานีชาร์ต อีลอนแก้ปัญหานี้ด้วยการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่และสร้างเครือข่ายสถานีชาร์ตเอง อย่างไรก็ตาม ถ้ารถไฟฟ้ายังชาร์ตไฟโดยใช้ไฟบ้าน ซึ่งถูกผลิตมาจากถ่านหินหรือน้ำมัน รถไฟฟ้าก็ยังคงสร้างมลพิษอยู่ดี เพื่อแก้ปัญหามลพิษแบบเบ็ดเสร็จ อีลอนเปิดบริษัท Solar City เพื่อสร้างหลังคา Solar Cell ที่มีราคาถูกและสวยงาม โดยหลังคา Solar Cell เหล่านี้ จะสามารถสร้างรถไฟฟ้าสำหรับการใช้งานในบ้านและรถยนต์ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งปราศจากมลพิษ

ยานอวกาศและการเดินทางไปดาวอังคาร : นับแต่เด็ก อีลอนสนใจการเดินทางในอวกาศและอยากไปดาวอังคาร แต่เมื่อโตขึ้น เขาพบว่า ค่าเดินทางโดยยานอวกาศแพงเกินไป นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอวกาศมีลักษณะผูกขาดและขาดประสิทธิภาพ

อีลอนจึงคิดที่จะปฏิวัติอุตสาหกรรมนี้ เขาเริ่มต้นโดยการศึกษาค้นคว้าและทำความเข้าใจกฏฟิสิกส์พื้นฐานของการสร้างยานอวกาศ และพบว่า ต้นทุนการสร้างยานอวกาศในขณะนั้น สูงกว่าที่ควรจะเป็นถึง 10 เท่า เขาจึงตั้งบริษัท SpaceX เพื่อสร้างยานอวกาศ หลังจากทำการทดสอบและล้มเหลวหลายครั้ง บริษัท SpaceX ก็ประสบความสำเร็จในการนำจรวดที่ยิงขึ้นไปในอวกาศแล้ว กลับมาใช้ใหม่ได้เป็นครั้งแรกของโลก การนำจรวดกลับมาใช้ใหม่เป็นการลดต้นทุน การส่งยานอวกาศแบบที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน อีลอนมีความฝันว่า SpaceX จะไปสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร และเขาอยากจะสิ้นสุดชีวิตของเขาบนดาวอังคาร

เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ | 'อีลอน มัสก์' นักประดิษฐ์เปลี่ยนโลก

HyperLoop การเดินในท่อสุญญากาศ : อีลอนได้เสนอต้นแบบการเดินทางแบบใหม่ โดย HyperLoop และให้ต้นแบบนี้สมบัติสาธารณะ (Open Source) HyperLoop คือ ท่อสุญญากาศที่สร้างขึ้นเพื่อการเดินทางความเร็วสูง ท่อสุญญากาศจะช่วยลดแรงเสียดทาน และเพิ่มความเร็วในการเดินทาง โดยการเดินทางผ่าน HyperLoop จะมีความเร็วถึง 1,200 กิโลเมตร/ชั่วโมง (สามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังเชียงใหม่ ภายในเวลา 40 นาที) ปัจจุบัน หลายประเทศเริ่มพัฒนาโครงการ HyperLoop และคาดว่าเราน่าจะมีโอกาสเดินทางโดย HyperLoop ครั้งแรกในปี 2020

การต่อต้านปัญญาประดิษฐ์ : ถึงแม้ว่า อีลอนจะชอบเทคโนโลยี แต่เขามีความกังวลว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) จะฉลาดกว่ามนุษย์และทำให้เกิดวันสิ้นโลกเหมือนในหนังเรื่องคนเหล็ก 2029 เพื่อชะลอและป้องกันปัญหานี้ เขาได้รณรงค์ให้สาธารณะเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ และได้ตั้งบริษัท Neuralink เพื่อเพิ่มความสามารถของมนุษย์ โดยการเชื่อมโยงสมองของมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์โดยตรง ถ้าบริษัท Neuralink ทำสำเร็จ ต่อไปเราคงไม่ต้องพกโทรศัพท์มือถือ เพราะสมองเราจะเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้โดยตรง และเราจะสามารถสั่งการคอมพิวเตอร์โดยใช้เพียงความคิด

จากงานเด่น ๆ ของอีลอนข้างต้น จะเห็นได้ว่า อีลอนมีลักษณะเฉพาะในการทำงาน ดังนี้ 1.ฝันแบบใหญ่สุด ๆ 2.ไม่เชื่อในความคิดแบบเดิม ๆ 3.พุ่งเข้าชนปัญหาและไม่กลัวที่จะล้มเหลว 4.ใช้วิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหา 5.ใส่ใจในรายละเอียด ถ้าประเทศไทยเราอยากจะเป็นผู้ผลิตนวัตกรรมตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เราคงต้องเริ่มจากการพัฒนาคนที่มีคุณลักษณะ 5 ข้อนี้เช่นกัน

……………….

คอลัมน์ : เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ โดย รศ.ดร.ธนะพงษ์ โพธิปิติ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,354 วันที่ 5-7 เม.ย. 2561 หน้า 07

 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : ฐานเศรษฐกิจ

related