svasdssvasds

“6 วันอันตราย” ตายพุ่ง 378 ราย สาเหตุเดิม “ดื่มแล้วขับ”

“6 วันอันตราย” ตายพุ่ง 378 ราย สาเหตุเดิม “ดื่มแล้วขับ”

ศปถ.กำชับสั่งดูแลพื้นที่ที่ยังเล่นน้ำ เน้นกวดขันพฤติกรรมเสี่ยง พบ 6 วันอันตราย เสียชีวิต 378 ราย บาดเจ็บ 3,575 คน

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เมษายน 2561 เกิดอุบัติเหตุ 425 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 49 ราย ผู้บาดเจ็บ 464 คน รวม 6 วัน (11 – 16 เม.ย. 61) เกิดอุบัติเหตุ 3,418 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 378 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,575 คน กำชับจังหวัดดูแลการเดินทางของประชาชนในทุกเส้นทางอย่างต่อเนื่อง ส่วนจังหวัดที่ยังคงเล่นน้ำสงกรานต์ เน้นย้ำกวดขันสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งดื่มแล้วขับ และขับรถเร็วในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์และเส้นทางโดยรอบ สั่งการจังหวัดวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อพัฒนาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนทั้งในช่วงปกติและเทศกาล ซึ่งนำไปสู่การลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุด

พลโท ธเนศ กาลพฤกษ์ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เมษายน 2561 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 425 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 49 ราย ผู้บาดเจ็บ 464 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 28.47 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 27.29 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.80 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.00 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 39.76 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.82 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 23.53 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 28.07 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,031 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,226 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 856,446 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 176,415 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 49,866 ราย ไม่มีใบขับขี่ 46,067 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก (17 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สมุทรปราการ และพิษณุโลก (4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก (17 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 6 วัน (11 – 16 เม.ย. 61) เกิดอุบัติเหตุ 3,418 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 378 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,575 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 6 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ระนอง สตูล สมุทรสงคราม หนองคาย และหนองบัวลำภู จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (126 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (19 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (136 คน)

พลโท ธเนศ กาลพฤกษ์ กล่าวต่อไปว่า ในวันนี้ประชาชนบางส่วนยังคงเดินทางกลับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เน้นย้ำให้ ศปถ.ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนทุกเส้นทางอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ขอให้จังหวัดวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะอำเภอที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง (พื้นที่สีแดงและสีส้ม) นำไปปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนทั้งในช่วงปกติและเทศกาล เพื่อให้การขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนมีประสิทภาพในการลดความสูญเสียได้มากที่สุด

นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้จังหวัดจัดประชุมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด เพื่อสรุปผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2561 พร้อมประสานให้จังหวัดเร่งรัดตรวจสอบข้อมูลผู้บาดเจ็บที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล ในระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2561 ซึ่งเสียชีวิตภายใน 30 วัน หลังเกิดอุบัติเหตุ เพื่อให้ได้ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงมากที่สุด จะได้นำไปวิเคราะห์กำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ต่อไป

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า ศปถ.สั่งการให้จังหวัดที่ยังมีการเล่นน้ำสงกรานต์ดูแลความปลอดภัยของประชาชนอย่างต่อเนื่อง และป้องกันอุบัติภัยจากการเล่นน้ำสงกรานต์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายและอุบัติเหตุทางถนน โดยเน้นย้ำให้กวดขันสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งดื่มแล้วขับ และขับรถเร็วในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์และเส้นทางโดยรอบ อย่างไรก็ตาม ศปถ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงรณรงค์การสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อให้ประชาชนมีความตระหนักและจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย รวมถึงค่านิยมเกี่ยวกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งจะนำไปสู่ความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน อันจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนต่อไป

related