svasdssvasds

ปิดหาดทรายน้อย! ห้ามลงเล่นน้ำ 20 วัน หลังฉลามงับขาคน

ปิดหาดทรายน้อย! ห้ามลงเล่นน้ำ 20 วัน หลังฉลามงับขาคน

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เตรียมวางทุ่นตาข่ายป้องกันฉลามครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมสั่งปิดหาดทรายน้อย ห้ามลงเล่นน้ำ 20 วัน

มาตรการดังกล่าวสืบเนื่องมาจากกรณีนักท่องเที่ยวชาวนอร์เวย์ถูกฉลามกัดที่ข้อเท้าซ้ายเป็นแผล เย็บถึง 19 เข็ม ขณะลงเล่นน้ำทะเลบริเวณหาดทรายน้อย หมู่บ้านเขาเต่า อ.หัวหิน เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา โดยนายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ระบุว่า ทช. เตรียมจัดสรรงบประมาณจัดทำทุ่น และตาข่ายป้องกันฉลามที่หาดทรายน้อย โดยคาดว่าจะใช้เวลา 20 วัน และระหว่างนี้จะปิดให้นักท่องเที่ยวงดเล่นน้ำไปก่อน ทั้งนี้ จากการสำรวจแนวหาดทรายน้อยมีระยะทางประมาณ 350 เมตร คาดว่าจะใช้งบประมาณไม่มาก นอกจากนี้จะติดป้ายเตือนระวังบริเวณเขตที่อยู่อาศัยของฉลามวัดถ้ำเขาเต่า ที่คาดว่ามีฉลามหัวบาตรเข้ามาหากิน 40-50 ตัว

ปิดหาดทรายน้อย! ห้ามลงเล่นน้ำ 20 วัน หลังฉลามงับขาคน

ด้าน นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวานนี้ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมระบุว่า ล่าสุดเตรียมทำป้ายแจ้งเตือนระมัดระวังการเล่นน้ำชายหาด 3 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ และจีน พร้อมจัดชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังและให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยว แนะนำให้นักท่องเที่ยวเล่นน้ำให้ห่างจากพื้นที่ที่มีน้ำขุ่น ห้ามออกไปบริเวณน้ำลึกห่างจากชายฝั่งมากเกินไป

นอกจากนั้น ยังขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงแรม ร้านค้าร้านอาหาร ให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวถึงข้อควรระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด รวมถึงประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวอย่าได้ตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ดังกล่าว

ปิดหาดทรายน้อย! ห้ามลงเล่นน้ำ 20 วัน หลังฉลามงับขาคน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วฉามที่กัดนักท่องเที่ยวชาวนอร์เวย์ เป็นชนิดหัวบาตร ซึ่งพบได้ตลอดตามแนวชายฝั่งทั่วโลก กินปลาขนาดใหญ่เป็นอาหาร มีนิสัยที่ค่อนข้างดุร้ายกว่าปลาฉลามชนิดอื่น โดยเฉพาะช่วงหิวและฤดูผสมพันธุ์ โดยพบปลาฉลามชนิดนี้อยู่ได้ทั้งในน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด มีการผสมพันธุ์บริเวณทะเลเปิดและเข้ามาออกลูกบริเวณชายฝั่ง และลูกปลาฉลามจะหากินบริเวณชายฝั่ง โดยเฉพาะบริเวณแนวโขดหิน

สำหรับประเทศไทย พบปลาฉลามหัวบาตรน้อยมาก และมีสถานะการอนุรักษ์ตามบัญชีแดงของ IUCN Red List category abbreviation ที่จัดเป็นกลุ่มเกือบอยู่ในข่ายเสี่ยง (NT) เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ กำลังถูกคุกคามในอนาคต แม้ปัจจุบันอาจจะยังไม่ถูกคุกคาม โดยกรมประมงได้ขึ้นบัญชีปลาฉลามชนิดนี้ในบัญชีห้ามนำเข้าส่งออกของกรมประมงปี 2558

related