svasdssvasds

"นิด้า" เปิดผลสำรวจประชาชน กิจกรรมหนุน-ต้าน “วิ่งไล่ลุง-วิ่ง/เดินเชียร์ลุง”

"นิด้า" เปิดผลสำรวจประชาชน กิจกรรมหนุน-ต้าน “วิ่งไล่ลุง-วิ่ง/เดินเชียร์ลุง”

นิด้าโพลระบุ ประชาชน 40.86% ​"เห็นด้วยมาก" และ 12.24% "ค่อนข้างเห็นด้วย" กับการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง เพราะเป็นสิทธิในการแสดงออกบนพื้นฐานของความถูกต้อง ดีกว่าประท้วงรุนแรง 49.76 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย “วิ่ง/เดินเชียร์ลุง” เพราะไม่อยากให้ทำกิจกรรมพร้อมกันทั้งสองฝ่าย กลัวบ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “วิ่งไล่ลุง-วิ่ง/เดินเชียร์ลุง 2563” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 – 24 ธันวาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,258 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง-วิ่ง/เดินเชียร์ลุง” ในเดือนมกราคม 2563 ที่จะถึงนี้ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0

"นิด้า" เปิดผลสำรวจประชาชน กิจกรรมหนุน-ต้าน “วิ่งไล่ลุง-วิ่ง/เดินเชียร์ลุง”

จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ในเดือนมกราคม 2563 ที่จะถึงนี้ พบว่า ร้อยละ 40.86 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ เป็นเพียงกิจกรรมอย่างหนึ่งที่แสดงออกบนพื้นฐานของความถูกต้อง และเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ร้อยละ 12.24 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตยในสิทธิเท่าเทียมกัน ดีกว่าประท้วงรุนแรง และถือว่าเป็นการมาออกกำลังกายร่วมกัน

ขณะที่ ร้อยละ 12.00 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ ต่อให้จัดกิจกรรมขึ้นมาก็ไม่มีประโยชน์ อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวาย และอยากให้บ้านเมืองสงบสุข ไม่อยากให้มีการชุมนุมเกิดขึ้น ส่วน ร้อยละ 31.32 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะเป็นกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายไม่ว่าจะมารูปแบบไหนก็ตาม และอยากให้คนไทยมีความสามัคคีกัน ไม่อยากให้มีการประท้วงเกิดขึ้น และ ร้อยละ 3.58 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการจัดกิจกรรม “วิ่ง/เดินเชียร์ลุง” ในเดือนมกราคม 2563 ที่จะถึงนี้ พบว่า ร้อยละ 18.92 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ นายกรัฐมนตรีทำให้บ้านเมืองสงบสุข ถือว่าเป็นกำลังใจให้นายกฯทำงานต่อไป และเป็นการออกกำลังกายไปในตัว ร้อยละ 9.30 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ อยากให้นายกรัฐมนตรีบริหารงานต่อไป เพื่อความสงบสุขของประเทศ และเป็นการแสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่ามีคนรักเเละสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลอยู่

ร้อยละ 17.65 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ เกิดความแตกแยกส่งผลให้มีการปะทะกัน จนไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และกลัวจะเกิดปัญหาตามมาจึงไม่อยากให้มีการทำกิจกรรมทั้งสองฝ่าย ร้อยละ 49.76 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะไม่อยากให้ทำกิจกรรมพร้อมกันทั้งสองฝ่าย กลัวบ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย อยากให้บ้านเมืองสงบ และอยากให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ และร้อยละ 4.37 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความกังวลของประชาชนต่อประเทศไทยในปี 2563 จะเผชิญปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองแบบเดียวกับในอดีตพบว่า ร้อยละ 21.62 ระบุว่า กังวลว่าจะมีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงมากกว่าในอดีต ร้อยละ 21.86 ระบุว่า กังวลว่าจะมีความขัดแย้ง ทางการเมืองพอ ๆ กับในอดีต ร้อยละ 22.81 ระบุว่า กังวลว่าจะมีความขัดแย้งทางการเมืองแต่คงไม่เท่าในอดีต ร้อยละ 13.04 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล ร้อยละ 19.00 ระบุว่า ไม่กังวลเลย และร้อยละ 1.67 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.82 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.68 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.36 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.47 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.67 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 48.73 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.27 เป็นเพศหญิง

ตัวอย่างร้อยละ 7.95 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 16.14 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.17 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 31.16 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 22.58 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 94.68 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.74 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.79 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.79 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 22.81 สถานภาพโสด ร้อยละ 72.82 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.50 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.87 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส

ตัวอย่างร้อยละ 28.62 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 30.21 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.06 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 25.91 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.09 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.11 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 10.97 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.75 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.90 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 16.14 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 14.63 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.32 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 3.02 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.16 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 1.11 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่างร้อยละ 18.76 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 23.93 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 23.85 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 10.33 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.76 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.00 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 9.37 ไม่ระบุรายได้

related