svasdssvasds

“อนาคตใหม่” ลุ้นเหนื่อย วิธีไม่ต่าง "ทักษิณซุกหุ้น"

“อนาคตใหม่” ลุ้นเหนื่อย วิธีไม่ต่าง "ทักษิณซุกหุ้น"

ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th

สิ่งที่เหมือนกัน ระหว่างคดี นายทักษิณ ชินวัตร ซุกหุ้น ปี 2544 กับคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ปม นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้พรรคกู้ยืมเงินกว่า 191 ล้านบาท ปี 2563 คือการใช้มวลชนเป็นปัจจัยกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนถึงวันตัดสิน

คดีซุกหุ้นภาคแรก มีผู้นำล่ารายชื่อประชาชนสนับสนุนนายทักษิณ ทั้ง นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุข ที่ให้สมญา "อัศวินควายดำ" แก่นายทักษิณ ในฐานะผู้นำมาจากการเลือกตั้งของประชาชนถล่มทลาย นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส รวมกระทั่ง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จากค่ายสันติอโศก เป็นการล่ารายชื่อโดยตรงจากประชาชนนับแสนนับล้านคน

“อนาคตใหม่” ลุ้นเหนื่อย วิธีไม่ต่าง "ทักษิณซุกหุ้น"

ส่วนคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ใช้การล่ารายชื่อเช่นเดียวกัน แต่ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะการตั้งกระทู้ไว้ในเวบไซต์ change.org  โดย ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และยังมีนักวิชาการชั้นนำ อย่าง ส.ศิวรักษ์ นักวิชาการอิสระและนักเขียนรางวัลศรีบูรพา นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษา 14 ต.ค. 16 ศิลปินแห่งชาติ และนักเขียนรางวัลศรีบูรพา พร้อมใครต่อใครอีกหลายคน ร่วมสนับสนุน

เพียงแต่รูปแบบล่ารายชื่อ ได้เปลี่ยนไปจากตั้งโต๊ะ เป็นลงชื่อผ่านสื่อออนไลน์ตามยุคสมัยปัจจุบัน อย่าง change.org และมีผู้ร่วมโหวต #คัดค้านยุบอนาคตใหม่ แล้วกว่า 3.4 หมื่นคน

แม้ตัวเลขจะยังห่างจากคดีซุกหุ้นของนายทักษิณ แต่ประเด็นที่มองข้ามไม่ได้ คือรูปแบบการล่ารายชื่อประชาชนสนับสนุน ซึ่งนายทักษิณและครือข่ายใช้มาตลอดตั้งแต่พรรคไทยรักไทย โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตกเป้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลมักพิพากษาเป็นคุณต่อฝ่ายตรงข้ามเสมอ

แม้แต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังตกเป็นเป้าหมายหัว เพียงแต่บางครั้งรูปแบบเปลี่ยนจากล่ารายชื่อ เป็นการใช้พลังมวลชนเข้ากดดัน อย่างเดือน เม.ย.- พ.ค. 56 ทัพหน้าที่ออกมาเคลื่อนไหวประกาศขับไล่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้ลาออกทั้งคณะ 9 คน คือเสื้อแดงกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. ที่ประกาศระดมคนเป็นแสนปิดล้อมศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ขณะที่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลก็เล่นบทไม่มีส่วนร่วมสนับสนุนกลุ่มดังกล่าว

“อนาคตใหม่” ลุ้นเหนื่อย วิธีไม่ต่าง "ทักษิณซุกหุ้น"

การใช้มวลชนกดดัน ไม่ว่าจะโดยล่ารายชื่อหรือระดมคนชุมนุมขับไล่ สิ่งที่มักใช้ควบคู่กันคือความพยายามเบี่ยงเบนประเด็น จากทำผิดกฎหมายไปเป็นเรื่องการเมือง ถูกกลั่นแกล้ง ใส่ความ ทั้งที่จริงใจต่อบ้านเมือง ตั้งใจบริหารประเทศชาติ นำไปสู่วาทะกรรม "บกพร่องโดยสุจริต" ของนายทักษิณ โดยมีพลพรรคสนับสนุนช่วยโหมกระพือ ย้ำความสำคัญต้องมีผู้นำชื่อทักษิณ ในสถานการณ์ขณะนั้น

ขณะที่ตุลาการเอง บางส่วนก็ถูกวิ่ง "ล็อบบี้" อย่างหนัก อ้างเสียงส่วนใหญ่โน้มเอียงไปทาง "ไม่ผิด" โดยเฉพาะตุลาการสายที่ไม่ได้มาจากผู้พิพากษาโดยตรง ที่มีบทบาทในคดีนี้อย่างเด่นชัด ส่งผลให้มติที่ออกมาเป็น 8:7 ชนะเฉียวฉิว 1 เสียง แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้นายทักษิณรอดจากคดีซุกหุ้นภาคแรก และเมื่อบวกกับขณะนั้นเขานั่งอยู่บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คุมอำนาจรัฐเบ็ดเสร็จ จึงกลายเป็น "พยัคฆ์ติดปีก" โดยปริยาย

นี่จึงเป็นที่มาของอีกฝ่ายหนึ่ง ที่พยายามเคลื่อนไหวบ้าง โดยส่งนัยสำคัญถึงการระดมล่ารายชื่อผ่าน change.org ว่าเป็นความกดดันโดยตรงไปถึงศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง และหวังผลจะสร้างความสับสนจนมีผลต่อมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะออกมาในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 นี้

แม้นว่า จะมีกูรูทางการเมืองจำนวนไม่น้อย ไม่เชื่อว่าจะมีผลไปถึงการพิจารณาตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ แม้แต่ รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง นักวิเคราะห์การเมืองชั้นแนวหน้าคนหนึ่ง ก็ไม่เชื่ออย่างนั้น ทั้งยังมองว่า พรรคการเมืองไม่ควรถูกสั่งยุบพรรคโดยองค์กรหนึ่งองค์กรใด แต่ควรให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นคนตัดสิน เพราะหากพรรคการเมืองใดไม่มีความน่าเชื่อถือ หรือไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับประชาชนและส่วนรวม สุดท้ายจะไม่มีใครเลือก และจะล้มหายตายจากไปเอง

“อนาคตใหม่” ลุ้นเหนื่อย วิธีไม่ต่าง "ทักษิณซุกหุ้น"

สำหรับพรรคอนาคตใหม่ อาจมีบางอย่างคล้ายคดี "ทักษิณซุกหุ้น" แต่บริษทของสังคม และมุมมองต่อแรงสะท้อนความเคลื่อนไหวของทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน มีไม่น้อยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

จะรอดหรือได้ไปต่อ หรือได้ไปต่อแบบไหน 21 กุมภาพันธ์ ได้รู้กันครับ

related