svasdssvasds

ฉันอยากจำคนที่ฉันรักได้ตลอดไป

ฉันอยากจำคนที่ฉันรักได้ตลอดไป

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ฉันอยากจดจำ คนที่ฉันรัก ได้ ตลอดไป แต่คนอีกกว่า 35 ล้านคนทั่วโลก อาจจะจำคนที่เขารักไม่ได้ หากประสบกับภาวะ "อัลไซเมอร์" คาดว่า ในปี 2030 ตัวเลขนี้ จะเพิ่มเป็นสองเท่า คือ 70 ล้านคน โรค อัลไซเมอร์ น่ากลัวมากนะคะ ภาวะสมองเสื่อม ทำให้ผู้เป็น มีสีหน้างุนงง มือสั่นเทา ขณะที่คนจำนวนมาก มักจะปฎิเสธว่า "มันไม่เกิดกับฉันหรอก ฉันจะไม่เป็น" แต่ใครจะรู้ ?!

แล้วทำยังไง จะหนีพ้น อัลไซเมอร์ Alzheimer

จากการศึกษาของ ศ. นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อธิบายอาการเริ่มต้น คือ หลงลืม เช่น ลืมนัด หลงทาง ความคิดอ่านเริ่มเลอะเทอะ มีปัญหาการใช้ภาษา จนถึงจุดช่วยตนเองไม่ได้  จากสถิติ พบว่า อายุ 60-70 มีคนเป็นโรคนี้ราว 1-3% และทุก 5  ปี จะมีอัตราเพิ่มขึ้น 2 เท่า ปัจจุบันพบว่า คนไทยมีอัตราเสี่ยงมากกว่าชาวตะวันตก ปัจจัยส่งเสริมให้เป็น คือ ความดัน ไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน ซึ่งแม้สมองจะสร้างเซลล์ใหม่ได้ แต่จะสร้างไม่ทัน เมื่อการทำลายมีมากกว่า

 

ฉันอยากจำคนที่ฉันรักได้ตลอดไป

 

วิธีการสังเกต ระยะของโรคอัลไซเมอร์ (อาการอาจจะมีการข้ามระยะ) ดังนั้นการที่จะบอกแน่ชัดคงจะทำได้ยาก

ระยะที่ 1

ระยะนี้จะเหมือนคนปกติ ไม่มีปัญหาเรื่องการสูญเสียความจำ หรืออาการของโรคสมองเสื่อม

ระยะที่ 2 ระยะก่อนสมองเสื่อม

ความบกพร่องพบได้ก่อนอาการอื่นได้แก่เรื่องความจำคือการสูญเสียความจำ คือพยายามจำข้อมูลที่เรียนรู้เมื่อไม่นานมานี้ไม่ได้ และไม่สามารถรับข้อมูลใหม่ๆ ได้ การสูญเสียความจำจะเป็นมากกว่าคนทั่วไป แต่ไม่รุนแรงมากนัก หลังจากนั้นจะมีการเสื่อมถอยของการสนทนา การเลือกใช้คำ การตัดสินใจอย่างมีเหตุผล มีการศึกษาพบว่าผู้ที่มีอาการดังกล่าวจะใช้เวลา 8 ปีจึงจะมีอาการที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อม

สูญเสียความจำในระยะสั้นเช่นจำไม่ได้ว่าสนทนาอะไร หรือก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง

สูญเสียทักษะชีวิตประจำวันเช่น การใช้เครื่องโทรศัพท์ การใช้เครื่องไฟฟ้า ไม่แปรงฟัน หรือหวีผม

สับสนเรื่องสถานที่เช่น หลงทางแม้ว่าจะไปในที่ไม่ห่างไกลจากบ้าน หรือไว้ของผิดที่เช่นวางกุญแจไว้ในตู้เย็น

มีปัญหาเรื่องการทำตามแผนงาน และการใช้เงิน ไม่สามารถซื้อของตามรายการ ไม่สามารถชำระเงินตามใบเสร็จ

มีปัญหาเรื่องการใช้คำพูด การสนทนา เช่นไม่สามารถเรียกชื่อสิ่งของเช่น เก้าอี้ รถ

อารมณ์แปรปรวนโดยไม่มีเหตุผล

แยกตัวเอง ไม่คบหากับเพื่อนหรือครอบครัว ไม่มีงานอดิเรก ดูแต่ทีวี

มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ

ระยะนี้เริ่มจะมีปัญหาเรื่องความจำเสื่อม มีปัญหาจำคำที่คุ้นเคยไม่ได้ หรือจำสถานที่คุ้นเคยไม่ได้

ระยะที่3

ระยะนี้คนใกล้ชิดเริ่มจะสังเกตว่า เริ่มมีปัญหาหลายประการ ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะมีความบกพร่องของความจำ และการเรียนรู้จนสามารถวินิจฉัยอย่างแน่นอนได้ ผู้ป่วยบางส่วนมีปัญหาการใช้ภาษา การบริหารที่ซับซ้อน ปัญหาทางภาษามีลักษณะเด่นคือการใช้คำให้กระชับให้สั้น และพูดหรือใช้ศัพท์ไม่ฉะฉานหรือคล่องเหมือนเดิม ซึ่งทำให้พูดหรือเขียนภาษาได้น้อยลง อาจพบความบกพร่องของการการเคลื่อนไหว ทำให้ผู้ป่วยดูเงอะงะหรือซุ่มซ่าม และการวางแผนได้แก่

เริ่มมีปัญหาในการใช้คำ หรือการชื่อสิ่งของ

เริ่มจะจำชื่อคนไม่ได้จึงมีปัญหาการแนะนำให้คน

เริ่มมีปัญหาเรื่องทักษะการเครื่องมือ เช่นโทรศัพท์ เครื่องใช้ไฟฟ้า การเข้าสังคม จำสิ่งที่เพิ่งอ่านไปไม่ได้

ไว้ของผิดที่ เช่นวางกุญแจไว้ในตู้เย็น

เริ่มมีปัญหาเรื่องการทำตามแผนงาน การประสานงาน เช่นการจัดเลี้ยง

ระยะที่4

ระยะนี้เป็นระยะที่เริ่มจะเป็นโรคสมองเสื่อมในระยะเริ่มต้น หากซักประวัติดีดีก็จะพบว่ามีหลายอาการที่เข้าได้กับโรคสมองเสื่อม เช่น ลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งจะเกิดขึ้น

สูญเสียความสามารถทางจิตนาการ เช่น การนับเลขถอยหลังที่ละ7

สูญเสียทักษะที่ซับซ้อน เช่น การเตรียมอาหารเย็นสำหรับรับแขก การรับเงินทอนเงิน ทักษะการใช้เครื่องไฟฟ้า

ลืมประวัติของคนรู้จัก

เริ่มมีอาการหงุดหงิดง่าย หรือเริ่มแยกตัวจากสังคม

ระยะที่5

ระยะนี้ผู้ป่วยเป็นโรคที่มีความรุนแรงปานกลาง จะพบความเสื่อมของสมองจนไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ญาติจะสังเกตเห็นชัดเจน เกี่ยวกับเรื่องการสูญเสียความจำ ความคิด การพูดปรากฏชัดเจน เนื่องจากไม่สามารถนึกหาคำศัพท์ได้ การเคลื่อนไหวที่ซับซ้อน จะลดลง ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ได้อย่างปกติ ระยะนี้ ผู้ป่วยจะต้องพึ่งญาติในการดูแลกิจวัตรประจำวัน

ผู้ที่ป่วยไม่สามารถจำบ้านเลขที่ตัวเอง หรือเบอร์โทรศัพท์ หรือชื่อโรงเรียนที่เคยเรียน

สับสนเรื่องวันและเวลา

มีปัญหาเรื่องการคิดในใจเช่นให้บอกตัวเลขถอยหลังตั้ง 40 โดยลบครั้งละ4

ต้องได้รับความช่วยเหลือในการเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะกับอากาศหรือโอกาศ

ยังจำตัวเองและครอบครัวได้

ยังสามารถรับประทานอาหาร หรือเข้าห้องน้ำด้วยตัวเองได้

ระยะที่6

ระยะนี้ผู้ที่เป็นโรคนี้ มีอาการรุนแรงมากขึ้น สูญเสียความจำมากขึ้น ผู้ป่วยจะพูดประโยค หรือวลีซ้ำ จนกระทั่งไม่สามารถพูดได้เลย แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่สามารถพูดจาตอบโต้เป็นภาษาได้ แต่อาจจะตอบสนองด้วยการแสดงอารมณ์ มีการเปลี่ยนแปลงบุคคลิภาพต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้น ก้าวร้าว มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง อาการแสดงที่พบบ่อย คือการหนีออกจากบ้าน ความรู้สึกผิดปกติ สับสนหรือเห็นภาพหลอนในเวลากลางคืน หงุดหงิดโมโหง่าย และอารมณ์แปรปรวน เช่นร้องไห้ ก้าวร้าวอย่างไม่มีเหตุผล หรือดื้อต่อผู้ดูแล

ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม จำเหตุการณ์เพิ่งเกิดไม่ได้

จำชื่อตัวเองได้แต่จำประวัติตัวเองไม่ได้ จำชื่อคนไม่ได้

มีปัญหาเรื่องการเลือกเสื้อผ้าต้องมีคนช่วย เช่นใส่ชุดชั้นในอยู่ด้านนอก ใส่รองเท้าผิดข้าง

หลับกลางวันและไม่ยอมหลับในเวลากลางคืน

ต้องมีคนช่วยเมื่อเข้าห้องน้ำ

ควบคุมขับถ่ายอุจาระและปัสสาวะไม่ได้ ขับถ่ายไม่เป็นที่เป็นทาง

มีบุคคลิกภาพเปลี่ยนไป มีการหลงผิด ทำบางอย่างซ้ำเช่นเปิดปิดลิ้นชัก

หลงทางบ่อย

 

ฉันอยากจำคนที่ฉันรักได้ตลอดไป

 

ระยะที่7

ระยะนี้เป็นระยะท้ายของโรคผู้ป่วย คือไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม สื่อสาร กับคนอื่นไม่ได้ ควบคุมการเคลื่อนไหวไม่ได้ มักจะพูดประโยคหรือวลีซ้ำๆ ระยะนี้ จะต้องมีคนดูแลทุกเรื่อง การเคลื่อนไหวร่างการมีปัญหา นั่งเองไม่ได้ รับประทานอาหารเองไม่ได้

ผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่น จำคนไม่ได้

ไม่สามารถเดินได้

กลืนลำบาก

ไม่ยิ้ม

 

ฉันอยากจำคนที่ฉันรักได้ตลอดไป

 

วิธีป้องกันภาวะสมองเสื่อม ปลุกสมองให้ออกกำลังกันค่ะ

  1. ฝึกเดินถอยหลัง ให้ลองหัดเดินถอยหลังบ้าง หาพื้นที่โล่งกว้างยืนให้มั่น แล้วค่อยๆก้าวถอยหลังช้า ๆ ทีละก้าว ทุกย่างก้าวจะต้องมั่นคง อย่าเร่งรีบ ควรทำให้ได้วันละ 50 ก้าว เมื่อคล่องแล้วจึงเพิ่มจำนวน

 

  1. ฝึกใช้มือข้างที่ไม่ถนัด ลองเปลี่ยนความเคยชินแบบเดิม เพื่อกระตุ้นให้สมองแล่นมากขึ้น

 

  1. ออกกำลังกายเบา ๆ ยามเช้าหรือยามเย็น ช่วงแดดอ่อน ๆ ให้เดินเท้าเปล่าเหยียบบนผืนดิน หรือเหยียบไปบนสนามหญ้าก็ได้ แล้วเดินแกว่งแขนเบา ๆ หรือวิ่งเหยาะ ๆ ช่วยกระตุ้นให้เลือดลมไหลเวียนดี

 

  1. ขยันดื่มน้ำ การดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว จะทำให้สมองแจ่มใสขึ้น เพราะในเนื้อสมองของเรามีน้ำร้อยละ 85 แม้สมองจะหนักเพียงร้อยละ 2 ของน้ำหนักตัวแต่กลับต้องการเลือดหล่อเลี้ยงถึง 5% การขาดน้ำจะทำให้ประสิทธิภาพของสมองลดลง เกิดอาการซึมเศร้า และก่อให้เกิดโรคร้ายสารพัด

 

  1. ทานอาหารเช้าอย่างราชา ร่างกายคนเราจำเป็นต้องได้รับสารอาหารเข้าไปเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับเซลล์ต่าง ๆ รวมทั้งเซลล์สมองด้วย ดังนั้น อาหารเช้าจึงเป็นมื้อสำคัญที่สุด

 

  1. ฝึกบวกเลข และฝึกอ่าน ช่วงรถติดควรบริหารสมองด้วยการเล็งไปยังเลขทะเบียนรถคันหน้า หรือมองไปที่เบอร์โทรศัพท์หลังรถแท็กซี่ ถ้าเบื่อบวกเลขในใจ ก็ให้เปลี่ยนมาฝึกอ่านป้ายโฆษณาตามทาง

 

  1. หัดเรียนรู้และลองทำสิ่งใหม่ ๆ ช่วยให้กระบวนการคิดในสมองแล่นปรู๊ดดียิ่งขึ้น ลองเรียนจัดดอกไม้, ทำขนม หรือเล่นดนตรี

 

  1. ฝึกนับเลขถอยหลัง ควรทำบ่อย ๆ เพราะช่วยลดอาการสมองฝ่ออย่างได้ผลลองเริ่มจากหลักสิบก่อนเช่น 50 ไล่ถอยหลังมาถึงเลข 1 ควรนับเสียงดัง ๆ หรือเขียนลงกระดาษยิ่งเวิร์ก

 

  1. หลับตานึกแล้วจด ช่วงว่าง ๆ ระหว่างรอ ให้หยิบสมุดจดกับปากกาดินสอมาลองนึกชื่อเพลง ชื่อหนัง หรือชื่อดารานักร้องคนโปรด แล้วจดลงสมุด

 

  1. เล่นเกมฝึกสมองช่วยกระตุ้นสมองให้ ฟื้นฟูเช่นฝึกจับผิดภาพ, เล่นหมากรุกและซูโดกุ

 

  1. อ่านหนังสือให้หลากหลาย ช่วยฝนสมองที่เริ่มทู่ให้แหลมคมขึ้นแต่ควรเปลี่ยนนิสัยการ อ่านให้หลากหลายขึ้นอย่าจำเจอยู่แต่ประเภทเดียว

 

  1. ฝึกวาดรูปแบบง่าย ๆ หมั่นสร้างมโนภาพแบบเด็กอนุบาล ว่างปั๊บก็หยิบกระดาษขึ้นมาวาดรูป ลากเส้น จะช่วยให้คิดเป็นระบบยิ่งขึ้น

 

  1. เปิดใจกว้างพูดคุยกับคนแปลกหน้า ช่วยให้สมองเปิดรับข้อมูลใหม่ ๆ ได้ดีขึ้น

 

  1. หมั่นพบปะสังสรรค์การเมาท์กับก๊วน เพื่อนช่วยต้านอาการซึมเศร้า ทำให้คิดอ่านเร็วขึ้น

 

  1. ผ่อนคลายด้วยการทำสมาธิ แบ่งเวลา 10-20 นาที หลังตื่นนอน นั่งในท่าที่รู้สึกสบายที่สุด แล้วหลับตาลง และหายใจเข้าลึกที่สุด จากนั้นค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกมาให้สุดลม จะช่วยให้สมองโปร่งโล่งขึ้น

ฉันอยากจำคนที่ฉันรักได้ตลอดไป

 

เราขอให้คุณมีความจำที่ดีตลอดไป แล้วคุณจะตระหนักว่า มันสำคัญมากขนาดไหน ที่เราพยายามจะจำคนที่เรารักให้ได้

ขอบคุณภาพประกอบจาก Internet

คอลัมน์ Young ทัน By อรรธจิตฐา วิทยาภรณ์

related