svasdssvasds

ปชช. 57% "ไม่เห็นด้วย" เก็บเงินประกันสังคมเพิ่ม!

ปชช. 57% "ไม่เห็นด้วย" เก็บเงินประกันสังคมเพิ่ม!

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

 

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ ข้อเสนอการเก็บเงินสมทบ เข้ากองทุนประกันสังคมแบบใหม่ ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3 – 4 พฤศจิกายน 2560 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนที่ใช้ประกันสังคม ทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับข้อเสนอการเก็บเงินสมทบ เข้ากองทุนประกันสังคมแบบใหม่การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 0.5

จากการสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.83 ระบุว่า ใช้ประกันสังคมตามมาตรา 33 (เป็นผู้ประกันตนภาคบังคับ เป็นพนักงานหรือลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการ) รองลงมา ร้อยละ 21.42 ระบุว่า มาตรา 40 (เป็นผู้ประกันตนภาคสมัครใจ ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ) และร้อยละ 17.75 ระบุว่า มาตรา 39 (ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ เคยเป็นพนักงานหรือลูกจ้างแต่ลาออก เมื่อถามถึงการเคยได้ยินหรือรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการเพิ่มอัตราการเรียกเก็บเงินค่าประกันสังคมแบบใหม่ ของสำนักงานประกันสังคมหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.84 ระบุว่า เคยได้ยิน / เคยรับรู้ และร้อยละ 49.16 ระบุว่า ไม่เคยได้ยิน / ไม่เคยรับรู้ ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการจะเรียกเก็บเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตน (ค่าประกันสังคม) เพิ่มขึ้นใหม่ตามฐานเงินเดือน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.00 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ จ่ายเท่าเดิมก็ดีอยู่แล้ว ไม่อยากจ่ายเพิ่ม เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปซึ่งอาจ ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้น้อย ไม่ค่อยได้ใช้สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม และถึงแม้ว่าจะจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นแต่การให้บริการก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร รองลงมา ร้อยละ 23.50 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ จะได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เหมาะสมและสอดคล้องกับฐานเงินเดือนที่ปรับขึ้น และร้อยละ 19.50 ไม่แน่ใจ / ไม่ระบุ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนหากต้องจ่ายเงินค่าประกันสังคมเพิ่มขึ้นแล้ว ประชาชนจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด พบว่า ร้อยละ 15.35 ระบุว่า ประชาชนได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นมาก ร้อยละ 19.74 ระบุว่า ประชาชนได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ร้อยละ 34.37 ระบุว่า ประชาชนได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นค่อนข้างน้อย ร้อยละ 25.58 ระบุว่า ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นเลย และร้อยละ 4.96 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงว่าอยากให้สำนักงานประกันสังคมเพิ่มสวัสดิการในเรื่องใดบ้าง หลังจากการเรียกเก็บเงินค่าประกันสังคมเพิ่มขึ้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 19.65 ระบุว่า เงินค่ารักษาพยาบาล รองลงมา ร้อยละ 14.38 ระบุว่า เงินบำเหน็จชราภาพ ร้อยละ 12.77 ระบุว่า เงินทดแทนจากการว่างงาน ร้อยละ 10.66 ระบุว่า เงินทดแทนจากการเลิกจ้างหรือลาออก ร้อยละ 8.85 ระบุว่า เงินสงเคราะห์บุตร ร้อยละ 8.46 ระบุว่า เงินค่าคลอดบุตร ร้อยละ 8.22 ระบุว่า เงินทดแทนกรณี ทุพพลภาพ ร้อยละ 8.08 ระบุว่า เงินทดแทนกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต ร้อยละ 7.94 ระบุว่า เงินค่าทำศพ ร้อยละ 0.26 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ไม่ต้องเพิ่มสวัสดิการ เนื่องจากทุกอย่างดีอยู่แล้ว และร้อยละ 0.73 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.79 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 27.18 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.07 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 34.85 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 11.11 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 47.88 เป็นเพศชาย และร้อยละ 52.12 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 7.11 มีอายุไม่เกิน 25 ปี ร้อยละ 28.70 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 29.74 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 28.46 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 4.96 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.04 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 94.08 นับถือศาสนาพุทธ ตัวอย่างร้อยละ 3.12 นับถือศาสนาอิสลาม ตัวอย่างร้อยละ 1.04 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 1.76 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 31.57 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 60.83 สมรสแล้ว ร้อยละ 5.68 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.92 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 19.74 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 31.97 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 10.95 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 31.10 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.00 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.24 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 13.03 ประกอบอาชีพลูกจ้างของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 38.21 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 14.55ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 5.04 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 19.02 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 7.43 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 0.48 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 2.24 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 13.03 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 5.68 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 20.38 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 37.01 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 14.47 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.76 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.11 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 9.59 ไม่ระบุรายได้

ปชช. 57% "ไม่เห็นด้วย" เก็บเงินประกันสังคมเพิ่ม!

related