svasdssvasds

คลังเป็นห่วง คนไทยวัย 40 อัพ เก็บเงินไม่พอหลังเกษียณ เตรียมลำบาก ขณะที่ Gen Z ต้องเริ่มออมแล้ว

คลังเป็นห่วง คนไทยวัย 40 อัพ เก็บเงินไม่พอหลังเกษียณ เตรียมลำบาก ขณะที่ Gen Z ต้องเริ่มออมแล้ว

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

"ปัจจุบันการออมของคนไทยยังมีน้อยทำให้มีรายได้หลังเกษียณเพียง 19-20% ของรายได้เดือนสุดท้าย ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต กระทรวงการคลังจึงมีเป้าหมายให้ประชาชนมีการออมและมีรายได้หลังเกษียณไม่ต่ำกว่า 50% ของรายได้เดือนสุดท้าย ทำให้มีเงินดำรงชีพยังเพียงพอ และมีคุณภาพรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทยที่จะมีผู้สูงอายุถึง 20% ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า"

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่ผ่านมาได้รับทราบแนวทางการส่งเสริมการออมทั้งระบบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ หลังจากนี้กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการที่เกี่ยวข้องให้ ครม. พิจารณาต่อไป ซึ่งแนวทางการส่งเสริมการออมทั้งระบบ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน

ด้านที่ 1 การจัดทำแผนการส่งเสริมความรู้ทางการเงินแห่งชาติ (วาระแห่งชาติ) โดยเสนอร่างแผนการให้ความรู้พื้นฐานทางการเงิน พ.ศ. 2560-2564  โดยมีเป้าหมาย ให้คนไทยตระหนักเรื่องการออม และให้ความรู้วางแผนและบริหารจัดการการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการให้ความรู้จะทำในทุกกลุ่ม ทั้งเด็กและเยาวชน (Gen Z) กลุ่มนักศึกษาและคนเริ่มทำงาน (Gen Y) กลุ่มผู้ที่ทำงานในภาคเอกชน กลุ่มผู้ที่ทำงานในภาครัฐ กลุ่มประชาชนฐานราก  กลุ่มแรงงาน นอกระบบ กลุ่มองค์กรการเงินชุมชน กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ว่างงานและประชาชนทั่วไป

ด้านที่ 2 การสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบสหกรณ์ออมทรัพย์  และองค์กรการเงินในระดับชุมชนให้แข็งแกร่งและยั่งยืน มีการกำกับดูแลให้สามารถเป็นเสาหลักทางการเงินของประชาชนฐานราก

ด้านที่ 3 การเพิ่มผลิตภัณฑ์การออมและมาตรการลดรายจ่ายฟุ่มเฟือย โดยภาครัฐจะมีมาตรการผลักดันให้ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยเพื่อให้มีเงินเหลือในการอดออม ในขณะเดียวกันจะมีการออกผลิตภัณฑ์การออมใหม่ๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์การออมแบบระยะยาวเพื่อจูงใจให้ประชาชนมีการออมเงินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีเงินใช้ในยามจำเป็นและในยามชราภาพได้อย่างเพียงพอ

ด้านที่ 4 การเติมเต็มระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุ กระทรวงการคลังเห็นควรปรับปรุงระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุ เช่น การเร่งรัดการบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ หรือ กบช. ที่บังคับให้ผู้ประกอบการตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้าง ตอนนี้กฎหมายผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว จะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังจะเร่งปรับปรุงกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เพื่อจูงใจให้แรงงานนอกระบบมีการออมเงินผ่าน กอช. มากขึ้น เนื่องจาก ปัจจุบันมีสมาชิกไม่ถึง 1 ล้านคน จากแรงงาน นอกระบบกว่า 24 ล้านคน เนื่องจากเป็นการออมภาคสมัครใจไม่ใช่ภาคบังคับ

 

ขอบคุณภาพ ประกอบ จาก Stock2morrow

related