svasdssvasds

ประกันสังคมเคลียร์ปัญหาลูกจ้างร้องทุกข์นายจ้างหักเงินสมทบแล้วไม่นำส่ง

ประกันสังคมเคลียร์ปัญหาลูกจ้างร้องทุกข์นายจ้างหักเงินสมทบแล้วไม่นำส่ง

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ประกันสังคม เคลียร์ปัญหาลูกจ้างร้องทุกข์นายจ้างหักเงินสมทบแล้วไม่นำส่ง

วันที่ 23 ก.พ.61 นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการเสนอข่าวทางสื่อมวลชนกรณีลูกจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ในย่านบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ประมาณ 150 คน ได้เข้าแจ้งความ ณ สถานีตำรวจภูธรบางปะกง เพื่อดำเนินคดีกับนายจ้างเนื่องจากหักเงินสมทบแล้วไม่นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมในฐานความผิดฉ้อโกง จนทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิรักษาจากประกันสังคม

suradej จากประเด็นข่าวดังกล่าวสำนักงานประกันสังคมไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาบางปะกง เขตพื้นที่รับผิดชอบเข้าตรวจสอบพร้อมลงพื้นที่ประสานงานให้ความช่วยเหลือเป็นการด่วน จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าบริษัทฯ ดังกล่าวได้ค้างชำระเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนประจำปี 2559 และ 2561 รวม 697,000 บาท ค้างชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมาย จำนวน 12,561,951.28 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 13,285,951.28 บาท

sps1 ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้แทนบริษัทฯ ซึ่งทางบริษัทฯ ตกลงรับจะชำระเงินสมทบค้างชำระกองทุนประกันสังคมของลูกจ้างที่ปฏิบัติงานทั้งหมดภายในวันที่ 2 มี.ค. 61 นี้ ทั้งนี้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาบางปะกง ได้ชี้แจงสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง รวมถึงขั้นตอนในการเร่งรัดหนี้ของสำนักงานประกันสังคมให้ลูกจ้างทุกคนได้เข้าใจแล้ว

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามพฤติกรรมที่นายจ้างกระทำนั้น ถือเป็นการทำผิดกฎหมายประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินคดีทางกฎหมายกับนายจ้าง ตามขั้นตอน คือ นายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบย้อนหลังตามจำนวนที่ยังไม่นำส่ง และจ่ายเงินเพิ่มในอัตรา ที่กฎหมายกำหนด โดยในส่วนนายจ้างที่ค้างชำระหนี้กองทุนประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของเงินสมทบที่ยังไม่นำส่งหรือส่วนที่ขาดอยู่จนครบ ส่วนนายจ้างค้างชำระหนี้ของกองทุนเงินทดแทน นายจ้างจะต้องจ่ายเพิ่มในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนของเงินสมทบที่ยังค้างชำระ

sps2 กรณีที่สำนักงานประกันสังคมได้ติดตามเร่งรัดหนี้ตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว แต่นายจ้างยังเพิกเฉยไม่นำส่งเงินสมทบและเงินเพิ่ม (ค่าปรับ) ที่ค้างชำระ ทางสำนักงานประกันสังคมจะใช้มาตรการในการดำเนินคดีทางอาญากับนายจ้างตามขั้นตอนทันที คือ การดำเนินการยึด อายัด และขายทรัพย์สินทอดตลาด ซึ่งกรณีดังกล่าวนอกจากนายจ้างจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ยังส่งผลกระทบต่อลูกจ้าง ผู้ประกันตน เพราะไม่สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขการเกิดสิทธิประโยชน์ในแต่ละกรณีได้

อย่างไรก็ตามขอความร่วมมือไปยังลูกจ้าง/ผู้ประกันตนหรือผู้ที่พบเห็นการกระทำดังกล่าว แจ้งข้อมูลเบาะแสได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ ที่ท่านสะดวก โดยยื่นร้องเรียนด้วยตนเอง ผ่านโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือที่เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ www.1111.go.th

related