svasdssvasds

ย้อนรอยคดีแห่งตำนาน ฆ่าหั่นศพ กับโทษที่ได้รับ

ย้อนรอยคดีแห่งตำนาน ฆ่าหั่นศพ กับโทษที่ได้รับ

คดีฆ่าหั่นศพ ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของคนไทย คงก็หนีไม่พ้นคดีของ นพ.วิสุทธิ์ และ คดีของ เสริม สาครราษฎร์ ที่ปัจจุบันบุคคลทั้ง 2 ถูกปล่อยตัวสู่อิสรภาพ

เมื่อพูดถึงคดีฆ่าหั่นศพในเมืองไทย ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของใครหลายๆ คงก็หนีไม่พ้นคดี เสริม สาครราษฎร์ ที่พลั้งมือสังหารแฟนสาวจนเสียชีวิต ก่อนจะอำพรางด้วยการชำแหละศพ และตามมาด้วยคดีของ นพ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ ที่สังหารภรรยาก่อนชำแหละศพและนำไปซ่อน คดีทั้ง 2 เป็นที่โด่งดังและได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมากเนื่องจาก ผู้ที่ลงมือสังหารและชำแหละศพนั้น เป็นบุคคลที่มีความรู้ด้านการแพทย์ เป็นอย่างดี

ชนวนเหตุ รักต้องฆ่า "เสริม สาครราษฎร์"

เสริม สาครราษฎร์ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 ซึ่งคบหาดูใจอยู่กับ น.ส.เจนจิรา พลอยองุ่นศรี นักศึกษาแพทย์ ปี 5 มหาวิทยาลัยเดียวกัน โดยเส้นทางความรักของบุคคลทั้งคู่ดูจะเรียบง่ายและอยู่ในความรับรู้ของผู้ใหญ่ แต่ในระยะหลังก่อนเกิดเหตุ เสริม และเจนจิรา มีปัญหากระทบกระทั่งกับแฟนสาวบ่อยครั้งเหตุมาจากความหึงหวง จนกระทั่งวันที่ 26 มกราคม 2541 เสริม ได้นัดเจอกับ เจนจิรา ที่ห้างเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ แล้วเกิดมีปากเสียงกันในรถ

ส่งผลให้ เสริม ใช้อาวุธปืนยิงน.ส.เจนจิรา เสียชีวิต ก่อน จากนั้นจึงนำร่างไร้วิญญาณของคู่รักเข้าโรงแรมม่านรูด 99 ซอยรางน้ำ แล้วค่อยๆลงมือชำแหละศพออกเป็นส่วนๆ โดยส่วนหนึ่งนำทิ้งลงชักโครก ส่วนที่เหลือนำใส่ถุงดำทิ้งลงบ่อเกรอะ ขณะที่กระดูกหอบไปทิ้งที่สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง

ตำรวจส่งฟ้อง

โดยคดีนี้ตำรวจสรุปสำนวน สั่งฟ้อง เสริม ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ทำลายอำพรางซ่อนเร้นศพ พกพาอาวุธโดยไม่ได้รับอนุญาต และลักทรัพย์ ซึ่งระหว่างการสืบพยาน เสริม ได้แถลงต่อศาลโดยรับสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือสังหาร น.ส.เจนจิรา จริงแต่ปฏิเสธเรื่องการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

ซึ่งศาลชั้นต้น พิจารณาแล้ว จำเลยมีความผิด ตามฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานยิงปืนโดยใช่เหตุในเมืองเป็นกรรมเดียวกันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนอันเป็นบทหนัก ลงโทษประหารชีวิต ฐานทำลายศพหรือส่วนของศพ จำคุก 1 ปี ฐานลักทรัพย์ จำคุก 2 ปี ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่น จำคุก 1 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณา เป็นการให้ความรู้แก่ศาล อันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษ 1 ใน 3 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกตลอดชีวิต ฐานทำลายศพหรือส่วนของศพ จำคุก 8 เดือน ฐานลักทรัพย์ จำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่น จำคุก 8 เดือน เมื่อศาลลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว จึงลงโทษจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ส่วนคำขอและข้อหาอื่นให้ยก

ศาลพิพากษาแก้โทษ

ขณะที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้โทษ ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายอันเป็นบทหนัก ลงโทษประหารชีวิต แต่ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกตลอดชีวิต

ส่วนในชั้นศาลฏีกา พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุกตลอดชีวิต และระหว่างจำคุกอยู่นั้น ถูกจัดลำดับขั้นเป็นนักโทษชั้นดี จึงทำให้ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ถึง 5 ครั้ง จนได้รับการปล่อยตัวช่วงเดือนธันวาคม 2555 รวมระยะเวลาถูกจำคุกทั้งสิ้น 13 ปี 9 เดือน และหลังจากออกจากเรือนจำเจ้าตัวได้เปลี่ยน ชื่อ - นามสกุล เป็น นายไชยา ตันทกานนท์ พร้อมเข้าสมัครเป็นวิสามัญสมาชิกเนติฯ แต่ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รับนายเสริม เนื่องจากเคยต้องโทษคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ

"หมอวิสุทธิ์" สังหารเมีย

ขณะที่คดีของ นพ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ อดีตสูตินารีแพทย์ สังหารภรรยา คือ พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ นั้นเกิดขึ้น ระหว่างวันที่ 20 - 22 กุมภาพันธ์ 2544 โดยหมอวิสุทธิ์ ได้ว่างแผน หลอก ภรรยา ไปรับประทานอาหารใน ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ สองต่อสอง โดยหมอวิสุทธิ์ได้ใช้ยานอนหลับผสมในอาหารและเครื่องดื่มให้ผู้ตายกินจนเกิดอาการง่วงนอน มึนงง แล้วประคอง พญ.ผัสพรออกจากห้องอาหารท่ามกลางสาธารณชน

ก่อนนำมากักขังไว้ที่ห้องพัก เลขที่ 318 อาคารวิทยนิเวศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วจึงเริ่มลงมือสังหาร ด้วยของแข็งมีคม จนทำให้ พญ.ผัสพรเสียชีวิต จากนั้นจึงค่อยผ่าตัดแล่ชิ้นเนื้อและอวัยวะ ไปซ่อนเร้นทำลายตามสถานที่ต่าง ๆ พร้อมปลอมหนังสือลางานและจดหมาย ยื่นต่อหัวหน้างาน บิดา มารดา และบุตรชายและบุตรสาว เพื่อให้บุคคลทั้งหมดหลงเชื่อว่า พญ.ผัสพร ไปประกอบศาสนกิจปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ ฝึกจิตใจ

"เจอหลักฐานมัดตัว"

แต่บิดาของ พญ.ผัสพร ไม่เชื่อทำให้ตำรวจต้องหาพยานหลักฐาน จึงกระทั่งเจอคราบเลือด และชิ้นเนื้อในบ่อพักสิ่งปฏิกูลหนัก 330 กรัมในห้องพัก เลขที่ 318 อาคารวิทยนิเวศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังพบชิ้นเนื้อมนุษย์ ในบ่อพักสิ่งปฏิกูล ของห้องพักโรงแรมที่ นพ. วิสุทธิ์ ไปเปิดไว้ด้วย น้ำหนัก 3,330 กรัม จึงทำให้เชื่อว่าเป็นเนื้อจากศพผู้ตาย ที่เกิดจากการฆาตกรรมอำพราง

น.พ.วิสุทธิ์ จึงถูกดำเนินคดี ในความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ตายให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และฆ่าผู้อื่นตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ประหารชีวิต นพ.วิสุทธิ์ โดยให้เหตุผลว่า “จำเลยเป็นผู้มีความรู้ความสามารถสูงย่อมจะใช้สติยั้งคิดในการแก้ปัญหาโดยไม่ใช้วิธีดังกล่าว และเมื่อจำเลยถูกจับกุมก็ยังไม่สำนึกผิด ให้การปฏิเสธต่อสู้คดีตลอดมา จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องปรานี เห็นควรลงโทษสถานหนัก พิพากษาประหารชีวิตจำเลยสถานเดียว”

"ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น"

ขณะที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนให้ประหารชีวิต นพ.วิสุทธิ์ โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่า ประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่พบมีการชันสูตรพลิกศพ แต่เมื่อชิ้นเนื้อมนุษย์ที่พบในบ่อพักที่อาคารวิทยนิเวศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัลพลาซา ซึ่งเมื่อส่งผู้ชำนาญการด้านนิติเวชวิทยาตรวจพิสูจน์แล้วลงความเห็นตรงกับว่าเป็นชิ้นเนื้อของผู้ตายจริง นอกจากนั้น จากการตรวจชิ้นเนื้อและคราบโลหิตที่พบในห้องพักเลขที่ 318 อาคารวิทยนิเวศน์ ก็ตรงกับดีเอ็นเอของ พญ.ผัสพร จึงรับฟังได้ว่าแพทย์หญิงผัสพรเสียชีวิตแล้ว

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่มีเหตุจูงใจให้ฆ่าภรรยาตนเอง จากการนำสืบพยานรับฟังได้ว่า จำเลยและผู้ตายมีเรื่องบาดหมางกันมาโดยตลอด โดยจำเลยขอหย่าขาดจากผู้ตาย แต่ผู้ตายไม่ยอมเพราะเป็นห่วงบุตรทั้ง 2 คน อีกทั้งผู้ตายจับได้ว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับคนไข้ที่มีสามีแล้ว โดยผู้ตายขู่ว่าจะนำเรื่องดังกล่าวฟ้องแพทยสภา จนเป็นเหตุทำให้จำเลยมีเรื่องขัดแย้งกับผู้ตายและข่มขู่ผู้ตายมาโดยตลอด ดังนั้น อุทธรณ์ทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ประหารชีวิตจำเลยสถานเดียว

"ถูกจำคุกจนปล่อยตัว"

และในศาลฎีกาก็พิพากษายืน ประหารชีวิตสถานเดียว ต่อมาหมอวิสุทธิ์ ได้ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญนถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ และเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ปีเดียวกัน ก็มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2550 โดย นพ.วิสุทธิ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต และระหว่างถูกจองจำอยู่นั้น นพ.วิสุทธิ์ ก็ยังได้รับการพระราชทานอภัยโทษหลายครั้ง อีกทั้งยังปฏิบัติตัวดี และได้ทำเรื่องถึงกรมราชทัณฑ์ขอพักโทษ กรมราชทัณฑ์ได้ส่งเรื่องให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณา ซึ่งมีคณะกรรมการพิจารณาได้อนุมัติให้นพ.วิสุทธิ์ พักโทษ และถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2557 เมื่อนับรวมระยะเวลาที่ นพ.วิสุทธิ์ ถูกจองจำเป็นระยะเวลา 10 ปี 9 เดือน

และเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559 ก็มีการเผยแพร่ เรื่องราวของ นพ.วิสุทธิ์ อีกครั้ง โดยครั้งนี้เจ้าตัวตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ พร้อมจำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม พร้อมได้รับฉายา "ถิระปุญโญ"

related