svasdssvasds

อย่าตอกย้ำ!! นักวิชาการชี้ สื่อไม่ควรเน้น “เพศสภาพ” เป็นคนมีปัญหาด้านจิตใจ

อย่าตอกย้ำ!! นักวิชาการชี้ สื่อไม่ควรเน้น “เพศสภาพ” เป็นคนมีปัญหาด้านจิตใจ

ผศ.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  (นิด้า) ให้ความเห็นกรณีสื่อเสนอข่าวจากการโพสต์เหตุการณ์ “ทอมสาวทำร้ายแฟน และขู่ฟ้องคนเผยแพร่คลิปในโซเชียลมีเดียว” ว่า ไม่อยากให้สื่อมวลชน พาดหัวข่าวใช้คำ วลี “ทอมโหด, ทอมกระทืบหญิง

ทั้งนี้ ทำไมสื่อจึงไม่ควรเรียกผู้ก่อเหตุว่า "ทอม" เนื่องจากเป็นการสร้างและบ่มเพาะอคติ ซึ่งเป็นข่าวแง่ลบ และมักจะตามมาด้วยคำว่า "ทอมโหด" ซึ่งสื่อได้ใช้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในทางทฤษฎีเรียกว่า Cultivation Theory คือการบ่มเพาะโลกทัศน์ผ่านการรับสื่ออย่างต่อเนื่อง การพาดหัวและการเน้นซ้ำๆในเนื้อหา เป็นการบอกผู้รับข่าวว่า "เพศสภาพ" เป็นสาเหตุของความรุนแรง (เพราะเป็นทอม จึงโหด)

ผศ.วรัชญ์ กล่าวอีกว่า ประชาชนก็จะรับรู้ และเรียกตามสื่อว่า "ทอม" หรือ "ทอมโหด" และปลูกฝังอคติในใจตนเองตามสิ่งที่ตนได้ยินและพูด ซึ่งไม่ใช่ต่อกลุ่มทอมกลุ่มเดียว แต่อาจรวมไปมองว่ากลุ่มหลากหลายทางเพศนั้นมีความวิปริต ไม่ปกติทางจิตใจ(เช่นเดียวกับการนำเสนอของสื่อ ว่ากะเทยบ้าผู้ชาย หมกมุ่นเรื่องเพศ และต้องตลกโปกฮา ร่าเริงผิดมนุษย์นอกจากนี้ กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ก็จะถูกตีกรอบที่มองไม่เห็นจากสื่อและสังคม ว่าถ้าเธอเป็นกลุ่มนี้ เธอต้องมีลักษณะแบบนี้ เด็กที่มีลักษณะหลากหลายทางเพศ ก็จะเติบโตขึ้นมาด้วยกรอบแบบนี้เช่นกัน เกิดความคาดหวังจากผู้อื่น หากไม่เป็นไปตามนั้น เช่นทอมไม่ห้าว กะเทยไม่ร่าเริง กลายเป็นความผิดปกติซ้ำเข้าไปอีก ทั้งที่ความแตกต่างจริงๆ เป็นแค่การมีเพศสภาพที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดเท่านั้น

ในต่างประเทศนั้น ผมไม่เคยเห็นพาดหัวหรือเนื้อข่าวพูดถึงเรื่องเพศสภาพของผู้ตกเป็นข่าวเลย ไม่ว่าจะเป็นข่าวดีหรือร้าย ยกเว้นข่าวที่พูดถึงเรื่องนั้นๆโดยตรง เช่นพาเหรดชาวเกย์ หรือความท้าทายในสังคมของกะเทย และก็จะเอ่ยถึงแค่ครั้งเดียวให้รู้ แล้วก็ไปเน้นที่เนื้อหาสาระมากกว่าแล้วถ้าไม่เรียก "ทอม" จะเรียกอะไร? มีให้เรียกอีกมากมาย เช่น ผู้ก่อเหตุ ผู้ต้องหา อะไรก็เรียกไป เลิกตอกย้ำ เลิกบ่มเพาะอคติให้คนกลุ่มต่างๆเถอะ รวมไปถึง สาวใหญ่ เฒ่าชรา (เรียกด้วยอาชีพ หรือจังหวัดก็พอ) หรือแม้แต่ ช่างกล อาชีวะ หรือการตั้งฉายาจากลักษณะรูปร่างหน้าตา อ้วน ผอม ดำ เตี้ย โล้น ฯลฯผู้ช่วยอธิการบดีนิด้า กล่าว

สำหรับ ทฤษฏี Cultivation Theory หรือทฤษฎีปลูกฝังความเป็นจริง เชื่อว่า สื่อมีอิทธิพลในการสร้างความรับรู้ ปลูกฝังโลกทัศน์ให้เกิดขึ้นกับผู้รับสาร ซึ่งไม่ได้มีอิทธิพลแบบฉับพลันทันที (คือทฤษฎีเข็มฉีดยา) แต่มาจากการค่อยๆซึมซับไปเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ดังนั้น ที่บอกว่า คนแยกแยะได้ ก็จริง คนอาจจะแยกแยะได้ว่าทอมไม่ได้โหดหมด แต่มันจะเข้าไปแทรกซึม และมีอิทธิพลกับการมองโลกของเราทีละนิด จนเมื่อเราคิดถึงทอม เราจะคิดถึงความรุนแรงติดมาด้วย ลองถามตัวเองดูว่าจริงมั้ย ปากเราบอกว่าเรารู้ว่าทอมดีๆมีเยอะ แต่จิตใต้สำนึกของเราอาจจะคิดถึงภาพความโหดของทอมมากกว่าความใจดี ความเอาอกเอาใจ ความเข้าใจผู้หญิง ถ้าจริงตามนั้น ทฤษฎีนี้ก็อธิบายว่า เราเรียนรู้มาจากสื่อนี่แหละครับโดยที่เราไม่รู้ตัว ไม่ใช่แค่ครั้งสองครั้ง แต่มันมาตั้งแต่เราเด็กๆ เป็นสิบๆปีแล้วที่ทอมถูกตีตรา (label) ว่า "โหด" แบบนี้ มันถึงติดอยู่ในจิตใต้สำนึก

อ้าวแล้วยังไง ทอมคนนี้ทำจริง แล้วทำไมต้องเลี่ยง? แล้วต่างจากชายโฉด หญิงชั่ว ยังไง คือทอมในประเทศไทยมีกี่คน มีคนรุนแรงกี่คน ในบรรดาทอมทั้งหมด มีลงสื่อกี่คน และที่ลงสื่อเป็นทอมที่รุนแรงมากกว่าใช่หรือไม่ มีข่าวหรือมีภาพของทอมในมุมอื่นที่มา balance กับภาพทอมโหดบ้างมั้ย? ทอมจึงถูกตีตราความโหดไว้กับเพศสภาพตัวเอง

แต่สำหรับชาย-หญิง ทั้งสองเพศนี้เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ในแง่ความโหด ไม่ได้ถูกตีตราว่าจำกัดเฉพาะเพศใดเพศหนึ่ง เพราะถูกนำเสนอในหลากหลายมิติ แง่บวกก็มาก แง่ลบอื่นๆก็หลายอย่าง ดังนั้นการถูกพาดหัวว่า ชายโหด หญิงชั่ว ก็ไม่ได้มีน้ำหนักที่จะไปปลูกฝังความคิดของผู้คนให้เป็นภาพตีตราของสองเพศนี้เช่นเดียวกับกลุ่มเฉพาะอื่นๆ (ที่มีแต่การนำเสนอภาพเดียวซ้ำๆ) เพราะยังมีภาพอื่น เช่นชายเข้มแข็ง อบอุ่น หญิงใจดี เรียบร้อย ที่นำเสนออย่างต่อเนื่องเช่นกัน

มันก็เหมือนกับภาพคนดำที่เรากลัว เพราะเราเห็นแต่คนดำเป็นผู้ร้ายในหนังฮอลลีวู้ด ทั้งๆที่บางคนอาจจะไม่เคยเจอคนดำเลยสักครั้ง สิ่งเหล่านี้เรียกว่า ภาพเหมารวม (stereotype) ซึ่งก็มาจากการนำเสนอซ้ำๆนี่เอง

ในข่าวในต่างประเทศ จะระวังสิ่งเหล่านี้มาก อ่านแล้วเราจะไม่รู้เลยว่าคนๆนี้ผิวสีอะไร รสนิยมทางเพศเป็นอย่างไร ยกเว้นว่าจะจำเป็นต้องบอก เค้าก็จะมาขยายในเนื้อหาข่าว เช่น Mr. Smith, who is an African-American / who is gay

ถามว่าถ้าไม่เรียกทอมจะเรียกอะไร ตนคิดว่านักข่าวไทยมีความสามารถพอที่จะเลี่ยงได้ อาจจะเอ่ยสักครั้งก็ยังพอได้ ส่วนที่เหลือใช้ชื่อจริง หรือผู้ก่อเหตุ แต่ที่จะไม่เลี่ยง ก็น่าจะเป็นเพราะตั้งใจ หรือขี้เกียจเอง ไม่ใช่อะไรก็ย้ำว่า ทอมๆๆๆ เพราะเรื่องของทอมรุนแรงมันขายง่ายไง ไม่ใช่อะไรหรอก คนอ่านรู้สึกสะใจที่เห็นภาพทอมรุนแรง เพราะมันตรงกับจริต (อคติ) ตัวเอง

ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ตนคิดว่า เราควรจะหลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพซ้ำๆของกลุ่มเฉพาะ แม้ว่าจะเป็นความจริงก็ตาม ใครไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไรนะครับ นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมเอง

 

related