svasdssvasds

“พล.อ.ฉัตรชัย” เร่งวางแผน รับมืออุทกภัย - น้ำแล้ง

“พล.อ.ฉัตรชัย” เร่งวางแผน รับมืออุทกภัย - น้ำแล้ง

ระดับน้ำโขงที่นครพนม ยังทรงตัว อยู่ที่ระดับ 11 เมตร ขณะที่ลำน้ำสงคราม ลำน้ำอูน ยังไม่พ้นวิกฤต พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย นาข้าวเกือบ 20,0000 ไร่ ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

จ. นครพนม น้ำโขงทรงตัว ลำน้ำสงคราม-อูน ยังไม่พ้นวิกฤต

ระดับน้ำโขง ที่จังหวัดนครพนม ยังทรงตัว อยู่ที่ระดับประมาณ 11.30 เมตร ห่างจากจุดวิกฤติประมาณ 1.70 เมตร คือที่ ระดับ 13 เมตร ถึงแม้จะลดระดับลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากจะมีพายุฝนตกลงมาซ้ำอีก บวกกับลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ที่รับน้ำมาจากพื้นที่ จังหวัดสกลนคร ไหลผ่านพื้นที่ อำเภอนาหว้า อำเภอศรีสงคราม ลงสู่แม่น้ำโขงที่ อำเภอท่าอุเทน ยังไม่พ้นจุดวิกฤต ระดับน้ำสูงประมาณ 13.30 เมตร ถือว่าเกินปริมาณความจุ จากระดับวิกฤตที่ประมาณ 12 เมตร

ทำให้ยังมีพื้นที่การเกษตร นาข้าว ได้รับผลกระทบน้ำท่วมขังไม่ต่ำกว่า 50,000 ไร่ ส่วนผลกระทบภาพรวมการเกษตร หลังน้ำท่วมในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประกาศพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม 10 อำเภอ จากทั้งหมด 12 อำเภอ มีพื้นที่การเกษตร ถูกน้ำท่วมขัง ไม่ต่ำกว่า 20,0000 ไร่ คาดว่าเสียหายเกือบทั้งหมด

นอกจากนี้ ในส่วนของลำน้ำก่ำที่รองรับน้ำจาก หนองหาร จังหวัดสกลนคร ล่าสุด ยังมีปริมาณน้ำเกินความจุ ประมาณร้อยละ 10 ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม สำนักงานชลประทานที่ 7 ยังคงเร่งระบายน้ำจากลำน้ำก่ำ บริเวณประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิตต่อเนื่อง เตรียมพร้อมรับมือ กับพายุฝนที่อาจจะถล่มลงมาซ้ำอีก

จ. หนองคาย น้ำโขงขึ้นอีกรอบ

ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ที่ไหลผ่าน จังหวัดหนองคาย มีระดับสูงขึ้นอีกรอบ อยู่ที่ 9.46 เมตร เพิ่มจากช่วงเดียวกัน ของเมื่อวานนี้ 4 เซนติเมตร และยังมีแนวโน้มขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลกระทบจากฝนที่ตกทางตอนเหนือ ใน สปป.ลาว และฝนที่ตกในพื้นที่ ส่วนการระบายน้ำของลำน้ำสาขาทำได้ดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงต้องใช้เครื่องสูบน้ำช่วย ควบคู่ไปกับการเปิดประตูระบาย เพื่อให้การระบายน้ำลงในแม่น้ำโขงทำได้เร็วขึ้น และเป็นการพร่องน้ำรับพายุลูกใหม่ด้วย

“พล.อ.ฉัตรชัย” เร่งวางแผนระบายน้ำ รับมือน้ำท่วม-น้ำแล้ง

ขณะเดียวกัน วันนี้ (15 ส.ค.61) พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนด ณ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ การผลักดันน้ำเค็ม และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขต จังหวัดจันทบุรี รวมทั้งช่วยเสริมความมั่นคงเรื่องน้ำ ให้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC

รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า มาตรฐานอ่างเก็บน้ำในประเทศไทยทั้งหมด มีความแข็งแรง ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ ส่วนสถานการณ์น้ำจากเทือกเขาใหญ่ ที่ไหลลงมาหน้าเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก จะต้องจัดจราจรการระบายน้ำอย่างละเอียด เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนขุนด่านปราการชล ให้มากขึ้น

เพื่อที่ว่า ในเดือนถัดไปหากฝนมาอีกครั้ง น้ำจะได้ไม่ล้นเขื่อน ขณะเดียวกัน มีการประเมินว่าปีนี้ตอนกลางของประเทศ แถวจังหวัดนครราชสีมา ,บุรีรัมย์ และสุรินทร์ อาจจะประสบปัญหาภัยแล้ง จึงต้องเตรียมกักเก็บน้ำบางส่วนสำหรับพื้นที่โซนดังกล่าวตั้งแต่ตอนนี้

related