svasdssvasds

กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจุดประกายการประท้วงในฮ่องกง

กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจุดประกายการประท้วงในฮ่องกง

การชุมนุมต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในฮ่องกงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทางผู้จัดระบุว่ามีผู้มาเข้าร่วมชุมนุมถึงกว่า 1 ล้านคน บทวิเคราะห์ซีเอ็นเอ็นระบุว่า การที่รัฐบาลเสนอกฎหมายนี้ เป็นการจุดประกายการประท้วงขึ้นมาอีกครั้ง

บทวิเคราะห์ซีเอ็นเอ็นระบุว่าตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ความเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตยในฮ่องกงดูเหมือนจะซบเซา นักเคลื่อนไหวถูกตัดสินจำคุกจากขบวนการร่มเมื่อปี 2014 ที่ทำให้บางพื้นที่ของฮ่องกงอัมพาตนานหลายเดือน สมาชิกสภาที่เป็นตัวแทนฝั่งประชาธิปไตยถูกถอดถอนจากสภาด้วยหลายเหตุผล และคนที่สนับสนุนการเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองก็เริ่มน้อยลงเรื่อยๆ ในขณะที่ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เผยว่าความมั่นใจของคนฮ่องกงที่มีต่ออนาคตของฮ่องกงตกต่ำสุดในรอบ 16 ปี

แต่หลังจากรัฐบาลฮ่องกงเสนอการแก้กฎหมายประเด็นการส่งผู้ร้ายข้ามแดน กลับเป็นการปลุกกระแสประท้วงขึ้นมาอีกครั้ง ผู้คนต่างกังวลว่าฮ่องกงจะตกอยู่ในหลักนิติธรรมตามแบบฉบับจีน กฎหมายใหม่นี้อาจถูกรัฐบาลจีนใช้ประโยชน์ในทางการเมือง ทำให้ทุกคนในฮ่องกงตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกทางการจีนควบคุมตัวด้วยเหตุผลว่าบั่นทอนระบบกฎหมายกึ่งอิสระของฮ่องกง

การชุมนุมครั้งนี้ ไม่ใช่มีแต่คนรุ่นใหม่อย่างเมื่อครั้งขบวนการร่ม ครั้งนี้ ผู้ชุมนุมมาจากหลากหลายอาชีพ หลากหลายกลุ่มอายุ และมีคนจำนวนมากที่เพิ่งออกมาประท้วงเป็นครั้งแรก

แม้ว่าตำรวจฮ่องกงจะประมาณตัวเลขผู้เข้าร่วมประท้วงอยู่ที่ 250,000 คน และผู้จัดการประท้วงประมาณการอยู่ที่กว่าล้านคน แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่เป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2003 เมื่อครั้งที่ประชาชนราว 500,000 คนออกมาประท้วงกฎหมายที่ให้โทษจำคุกตลอดชีวิตแก่คนที่มีความผิดฐานกบฎ ปลุกระดม ขโมยความลับราชการ และบ่อนทำลาย จำนวนคนออกมาประท้วงมากมายทำให้รัฐบาลขณะนั้นต้องถอย

แต่ครั้งนี้ แครี่ หลำ ผู้บริหารสูงสุดของเกาะฮ่องกง ยังออกมายืนยันว่าฮ่องกงจะทำให้มั่นใจได้ว่ากฏหมายนี้ จะมีเงื่อนไขที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน และเงื่อไขเหล่านี้มีผลผูกพันทางกฎหมาย

“กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เริ่มขึ้นโดยรัฐบาลจีน ฉันไม่ได้รับคำสั่งหรือการมอบหมายมาจากกรุงปักกิ่ง เรากำลังเสนอกฎหมายนี้ และเราก็จะยังทำต่อไปด้วยจิตสำนึกและพันธะสัญญาที่มีต่อฮ่องกง” - แครี หลำ ผู้บริหารสูงสุดแห่งเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้

หลังการประท้วงปี 2003 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลฮ่องกงต่างเดินหน้าลาออก หลังขบวนการร่มปี 2014 ผู้บริหารสูงสุดขณะนั้น เหลียง ชุนอิ๋ง ไม่ได้กลับมาสมัครเป็นผู้นำสมัยที่สอง และแม้ว่าต่อมาจะมีผู้แทนฝั่งสนับสนุนประชาธิปไตยหลายคนที่ถูกถอดถอน การประท้วงครั้งนั้นได้เปลี่ยนโฉมหน้าฝั่งประชาธิปไตยในสภาฮ่องกง

บทวิเคราะห์ของซีเอ็นเอ็นระบุว่า แครี่ หลำ อาจใกล้ถึงวันสุดท้ายของเธอในฐานะผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง แต่คาดการณ์ว่าเธอจะไม่ลาออก และความแข็งกร้าวของเธอที่ยืนหยัดกับกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน น่าจะส่งผลให้รัฐบาลจีนส่งเธอเข้าชิงชัยเป็นผู้บริหารสูงสุดของเกาะฮ่องกงอีกครั้ง

รัฐบาลจีนและฮ่องกงอาจรู้สึกว่าได้เดินหน้ากฎหมายใหม่นี้มาไกลเกินกว่าจะถอย แม้ว่าจะเผชิญกับการต่อต้านครั้งใหญ่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แครี่ หลำ มีเดิมพันเป็นชื่อเสียงของเธอ

แน่นอนว่า ผู้แทนฝั่งสนับสนุนประชาธิปไตยจะต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อชะลอกฎหมายฉบับนี้ แต่ก็ไม่มีเสียงในสภามากพอที่จะล้มการยื่นกฎหมายได้ และนี่ก็อาจทำให้ภาพคนชุมนุมแน่นเมืองฮ่องกงกลับมาเป็นภาพคุ้นเคยอีกครั้ง จากความเคลื่อนไหวของรัฐบาลฮ่องกงเองที่จุดประกายการประท้วงโดยไม่ได้ตั้งใจ

related