svasdssvasds

ถอดบทเรียน : ไต้หวัน ไม่สน WHO ! เลือกตั้งการ์ดสูงเนิ่นๆ สู้วิกฤตโควิด-19

ถอดบทเรียน : ไต้หวัน ไม่สน WHO ! เลือกตั้งการ์ดสูงเนิ่นๆ สู้วิกฤตโควิด-19

เปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ แนวทางสู้วิกฤตโควิด-19 ของไต้หวัน แบบไม่สนแถลงการณ์ และคำแนะนำต่างๆ จาก WHO

การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการและการส่งสัญญาณต่างๆ ที่อยู่ในระดับล่าช้า ส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดลุกลาม

ล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 10 เมษายน มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วกว่า 1.6 ล้านคน โดยสหรัฐอเมริกา มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงที่สุดกว่า 4 แสนคน และอีกหลายประเทศในยุโรป ก็มีจำนวนผู้ป่วยเกินกว่าหลักแสนราย

ซึ่งความล่าช้าในการส่งสัญญาณและมาตรการต่างๆ จาก WHO นั้น ก็มีข้อกล่าวหาว่า อาจเนื่อมาจากความเกรงใจจีน และอิงแถลงการณ์จากจีนเป็นหลัก โดยไม่มีการตั้งข้อสงสัยว่า ข้อมูลเหล่านั้น มีการปกปิดหมกเม็ดหรือไม่ ?

ถอดบทเรียน : ไต้หวัน ไม่สน WHO ! เลือกตั้งการ์ดสูงเนิ่นๆ สู้วิกฤตโควิด-19

ย้อนไปช่วงต้นๆ เดือนมกราคม ที่โควิด-19 กำลังระบาดในอู่ฮั่น จีนได้แถลงการณ์ว่า เป็นการติดเชื้อจากสัตว์มาสู่คน และโรคดังกล่าวยังไม่พบหลักฐานว่า มีการแพร่ระบาดจากคนสู่คน

ซึ่งจากข้อมูลตรงนี้ ทำให้หลายๆ ประเทศ ที่เชื่อมั่นในข้อมูลจากจีนและ WHO เกิดความหละหลวมในการคัดกรองประชากรที่เดินทางมาจากอู่ฮั่น ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาล ทำให้ชาวอู่ฮั่นเดินทางท่องเที่ยวกระจัดกระจายไปตามประเทศต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก

กระทั่งวันที่ 20 มกราคม จีนได้เปิดเผยว่า โรคดังกล่าวสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ ทำให้ WHO ออกแถลงการณ์ที่สอดคล้องในเวลาต่อมา ก่อนจีนจะประกาศปิดเมืองอู่ฮั่น ในวันที่ 23 มกราคม และปรับบทบาทการต่อสู้กับโควิด-19 ในระดับฮาร์ดคอร์

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ท่าทีของ WHO ในการออกแถลงการณ์ต่างๆ ก็ยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง ส่งผลให้หลายประเทศที่เช็กสัญญาณจาก WHO ไม่มีมาตรการรับมือที่ชัดเจน ทั้งๆ ที่แนวโน้มแห่งหายนะ ปรากฏให้เห็นแล้วก็ตาม

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในประเทศหนึ่ง จะกล่าวถึงโควิด-19 (ที่ขณะนั้นยังเรียกกันว่า ไวรัสโคโรนา) ว่า ก็แค่ไข้หวัด เมื่อวันที่ 25 มกราคม เพื่อทำให้สถานการณ์ดูเบาบาง ตามท่าทีของ WHO

และต้องล่วงเลยไปถึงวันที่ 30 มกราคม 63 WHO ถึงได้ออกแถลงการณ์ว่า การระบาดของโรคดังกล่าว เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับโลก

รวมถึงคำแนะนำจาก WHO ที่บอกว่า สำหรับผู้ไม่มีอาการป่วย ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย ส่งผลให้ประชาชนในทวีปยุโรปและอเมริกา ไม่นิยมสวมใส่หน้ากากฯ เนื่องจากผู้ที่สวมใส่ มักถูกมองในแง่ลบว่า เป็นผู้ป่วย

จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า จากคำแนะนำอย่างนี้หรือเปล่า ที่ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อในอเมริกา และยุโรป พุ่งขึ้นสูง กระทั่งต่อมา WHO ต้องกลับลำ แนะนำให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย ไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ก็ตาม

ถอดบทเรียน : ไต้หวัน ไม่สน WHO ! เลือกตั้งการ์ดสูงเนิ่นๆ สู้วิกฤตโควิด-19

คราวนี้เราลองหันไปดูไต้หวัน ที่แม้ว่า WHO อาจตะขิดตะขวงในการชื่นชมและยกย่อง เนื่องจากยึดนโยบายจีนเดียว ทำให้สถานภาพของไต้หวันในเวทีโลก เป็นเพียงเขตปกครองฯ ของจีนเท่านั้น

ไต้หวันมีมาตรการในระดับตั้งการ์ดสูงตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะบทเรียนในอดีตจากการระบาดของซาร์ส ที่ถูกรัฐบาลจีนปกปิดข้อมูล ในครั้งนี้จึงตั้งข้อสันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า โควิด-19 อาจสามารถแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้

โดย Taipei Times ได้รายงานว่า ทางการไต้หวันมีการสั่งให้ตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารทุกคนที่เดินทางจากอู่ฮั่นอย่างเข้มข้น ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 62

และส่งเจ้าหน้าที่สำรวจเมืออู่ฮั่นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคม 63 ซึ่งข้อมูลที่ไต้หวันรวบรวมได้ ก็ทำให้พบแนวโน้มว่า โรคดังกล่าวสามารถแพร่ระบาดจากคนไปสู่คนได้

ส่งผลให้ทางการไต้หวันประกาศขึ้นบัญชีโรคดังกล่าวให้เป็นโรคติดต่อบัญชีที่ 5 บังคับให้แพทย์และโรงพยาบาลต้องรายงานการตรวจพบภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 15 มกราคม 63 หรือก่อนที่จีนจะประกาศปิดเมืองอู่ฮั่น กว่าหนึ่งสัปดาห์

และได้จัดตั้ง ศูนย์บัญชาการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Command Center : NHCC) เพื่อรับมือกับโควิด-19 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 20 มกราคม 63 แม้ว่าในช่วงนั้น ยังไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อในไต้หวันก็ตามที

นอกจากนั้น ไต้หวันยังมีการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยอย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้ไม่ต้องประสบกับภาวะการขาดแคลนแต่อย่างใด

จากการรายงานของ worldometers.info ในวันที่ 10 เมษายน ไต้หวัน มีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 380 ราย และเสียชีวิต 5 ราย

ถอดบทเรียน : ไต้หวัน ไม่สน WHO ! เลือกตั้งการ์ดสูงเนิ่นๆ สู้วิกฤตโควิด-19

ซึ่งจากกรณีของไต้หวัน ที่มีการประเมินสถานการณ์ได้อย่างแม่นยำ และตั้งการ์ดสูงเพื่อรับมือกับโควิด-19 ด้วยมาตรการระดับฮาร์คอร์ตั้งแต่เนิ่นๆ แม้ช่วงต้นต้องพบกับแรงเสียดทาน แต่ด้วยความเด็ดขาดและเด็ดเดี่ยว รวมถึงเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงให้ประชาชนรับทราบ แม้อาจจะทำให้เกิดความตื่นตระหนกบ้างและส่งผลกระทบในช่วงแรก แต่ด้วยมาตรการการรองรับต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้ทางการไต้หวันสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี จนทำให้ ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน ได้รับการชื่นชมว่า เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ จากนานาประเทศ

และกลายเป็นโมเดล ที่หลายประเทศพยายามถอดบทเรียน เพื่อคลี่คลายสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วทุกมุมโลก อยู่ในเวลานี้

related