svasdssvasds

“ภาวะน้ำคร่ำอุดตัน” ตายระหว่างคลอด

“ภาวะน้ำคร่ำอุดตัน” ตายระหว่างคลอด

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ปัจจัยความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์และการคลอดบุตร ที่เรียกว่าภาวะฝันร้ายทางการแพทย์หรือ “ภาวะน้ำคร่ำอุดตัน”

“ภาวะน้ำคร่ำอุดตัน” ตายระหว่างคลอด

แพทย์ด้านสูตินารีเวชเอง ยอมรับว่า มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ถึงแม้จะเป็นประเทศที่มีความทันสมัยทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น ในประเทศอังกฤษ หรือประเทศสหรัฐอเมริกา แพทย์เองไม่สามารถจะช่วยเหลือได้ทันท่วงที เพราะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยไม่มีอาการบ่งชี้ให้วินิจฉัยล่วงหน้ามาก่อน ลแขณะนี้เองยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือใดที่จะค้นหาความผิดปกติของ “ภาวะน้ำคร่ำอุดตัน” ได้เลย ซึ่งแพทย์เองก็จะต้องมีความรู้และเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ จึงจะสามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที แต่ในการช่วยเหลือก็ต้องเลือกระหว่างแม่กับลูกว่า จะให้ใครมีชีวิตรอด และไม่ว่าแม่หรือลูกที่มีชีวิตรอดก็ต้องเสี่ยงที่จะมีภาวะบกพร่องทางประสาท หรืออาจกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราไปชั่วชีวิต

 

สาเหตุการเสียชีวิตของแม่และเด็กระหว่างตั้งครรภ์หรือคลอดบุตรมีอยู่หลักๆ แล้ว 3 สาเหตุ คือ

กรณีที่ 1 การตกเลือดของมารดาตั้งครรภ์

กรณีที่ 2 สาเหตุจากครรภ์เป็นพิษ เช่น กรณีของสาวมาด เมกกะแดนซ์ สองกรณีนี้มีข้อบ่งชี้หรือมีการแสดงอาการชัดเจน มีโอกาสรอดสูงหากสามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที

กรณีที่ 3 ภาวะน้ำคร่ำอุดตัน ชื่อทางการแพทย์ว่า Amniotic Fluid Embolism (AFE) หรือ Anaphylactoid syndrome of Pregnancy เป็นภาวะแทรกซ้อนทางสูติกรรมที่มีความรุนแรง ประกอบด้วยลักษณะเฉพาะ 3 ประการคือ ภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างทันทีทันใด (Hypotension) ภาวะขาดออกซิเจน (Hypoxia) และภาวะความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด (Comsumptive coagulopathy) ซึ่งผู้ป่วยอาจจะมีอาการแตกต่างกันไปเฉพาะบุคคล ตั้งแต่ไม่มีอาการ หรือมีครบทั้ง 3 ภาวะ

“ภาวะน้ำคร่ำอุดตัน” ตายระหว่างคลอด

โดยเฉลี่ยการเกิดภาวะน้ำคร่ำอุดตันหรือ AFE พบได้น้อยมาก ประมาณ 1 ใน 8,000 หรือ 1 ใน 80,000 รายของจำนวนหญิงตั้งครรภ์ แต่ก็เป็นสาเหตุการตายที่พบได้บ่อยในประเทศที่พัฒนาแล้ว และอาจพบได้ในทุกอายุครรภ์ ตั้งแต่การขูดมดลูกในรายที่แท้งในช่วง 3 เดือนแรกช่วงตั้งครรภ์ การตรวจน้ำคร่ำในช่วง 3 - 6 เดือน แต่ส่วนมากจะพบในขณะเจ็บครรภ์รอคลอด และมีถุงน้ำคร่ำแตก หรือหลังคลอดทันที รวมถึงขณะผ่าตัดคลอด

 

อาการผู้ป่วยจะแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยจะเริ่มจากระยะที่ 1 คือ ระยะภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว (Hemodynamic collapse) ระยะนี้ผู้ ป่วยจะเริ่มหายใจลำบาก เจ็บอก หนาวสั่น ปวดศีรษะ มีอาการตื่นตระหนก ปวดและชาตามปลายนิ้ว คลื่นไส้อาเจียน อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้นาน 4 ชั่วโมง จากนั้นจะมีอาการชัก หัวใจและปอดหยุดทำงานทันที

ต่อมาในระยะที่ 2 จะมีภาวการณ์แข็งตัวของก้อนเลือดเล็กๆ กระจายทั่วร่างกาย ตามมาด้วยภาวะตกเลือดหลังคลอด และเสียชีวิตในที่สุด บางรายอาจจะไม่มีภาวะหายใจลำบาก หรือภาวะช็อกมาก่อน แต่จะมีภาวะเลือดไม่แข็งตัวอย่างรุนแรงเป็นภาวะหลักก็เป็นได้

 

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะน้ำคร่ำอุดตันหรือ AFE ส่วนใหญ่เกิดขึ้นได้หลายประการ เช่น การคลอดเร็ว มารดาอายุมาก เคยตั้งครรภ์แล้วหลายท้อง ทารกมีขนาดใหญ่ และการทำหัตถการต่างๆ เช่น ใช้คีมหรือเครื่องดูดสุญญากาศ การผ่าตัดคลอด รกเกาะต่ำและมีเลือดออก รกลอกตัวก่อนกำหนด ปากมดลูกฉีกขาดจากกระบวนการคลอด ทารกอยู่ในภาวะคับขัน ครรภ์เป็นพิษ การชักนำคลอดด้วยยาชนิดต่างๆ รวมถึงปัจจัยที่มาจากทารกในครรภ์ เช่น เส้นผม ไขมันจากผิวหนังทารก ทุกส่วนล้วนสามารถเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะน้ำคร่ำอุดตันได้ในทุกกรณี จึงกล่าวได้ว่าไม่สามารถทำนายและป้องกันได้

 

ดังนั้น หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นแพทย์จะต้องอาศัยความรวดเร็วในการวินิจฉัย การตัดสินใจ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของสูตินารีแพทย์และทีมงาน ทั้งนี้จะต้องมีเครื่องมือกู้ชีวิต ยาและเลือดที่พร้อมจะรักษาได้ทันท่วงที โดยเริ่มจากการให้ออกซิเจนอย่างเพียงพอ ป้องกันภาวะสมองและไตขาดเลือด ซึ่งจะส่งผลต่อทารก การให้เลือดหรือเกร็ดเลือดเพื่อป้องกันภาวะไม่แข็งตัวของเลือด การให้สารละลายเพื่อทดแทนภาวะการขาดน้ำอย่างรวดเร็ว การประเมินความดันโลหิต พร้อมให้น้ำและยาในปริมาณที่เหมาะสมหากในรายที่มีปอดบวมน้ำ ภาวะช็อกรุนแรงไม่สามารถประเมินสารน้ำในร่างกายได้

 

นอกจากนี้แพทย์จะต้องพิจารณาผ่าตัดคลอดทันทีในรายที่มารดามีภาวะหัวใจหยุดเต้นไปแล้ว และทารกมีอายุครรภ์มากพอที่จะเลี้ยงรอดได้ ซึ่งทั้งหมดจะต้องกระทำภายในระยะเวลาอันสั้น ทำให้อัตราการเสียชีวิตของมารดาจากภาวะ AFE สูงถึงร้อยละ 60 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากภาวะหัวใจหยุดเต้น โดยจะเสียชีวิตในชั่วโมงแรกถึงร้อยละ 25 -50 ในรายที่พ้นจากระยะแรกไปแล้วจะเกิดภาวะเลือดไม่แข็งตัวถึงร้อยละ 40 ส่วนผู้ที่รอดชีวิตมักจะมีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทรุนแรงถึงร้อยละ 85 และมีเพียงร้อยละ 8 ของผู้รอดชีวิตที่สามารถรอดพ้นอันตรายโดยไม่มีความผิดปกติใดๆ ขณะที่ทารกที่รอดชีวิต ในรายที่หัวใจมารดาหยุดทำงานมีน้อยมาก และทารกที่รอดชีวิตส่วนใหญ่ก็พบว่ามีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทเช่นกัน

 

ขอบคุณข้อมูล จาก นพ.สมพงษ์ วันหนุน หัวหน้ากลุ่มงานสูตินารีเวช โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต

ขอบคุณภาพ จาก Internet

ขอบคุณภาพ จาก theAsianparent

related