svasdssvasds

4 เหตุผลที่ลูกน้องที่ดีหมดแรงจูงใจในการทำงาน

4 เหตุผลที่ลูกน้องที่ดีหมดแรงจูงใจในการทำงาน

ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th

แรงจูงใจในการทำงาน คือแรงขับเคลื่อนที่จะทำให้งานสำเร็จ การเริ่มทำแทนที่จะผัดวันประกันพรุ่ง มุ่งมั่นทำให้เสร็จโดยไม่วอกแวก ใช้ความพยายามไม่ย่อท้อเพื่อให้สำเร็จ แรงจูงใจเป็นส่วนผสมสำคัญของความสำเร็จ แต่หัวหน้างานมักหลงทางกับการพยายามสร้างแรงจูงใจกับลูกน้อง การวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดระบุว่า หัวหน้างานต้องระบุเหตุผลที่ทำให้ลูกน้องขาดแรงจูงใจก่อนจะหาวิธีแก้ปัญหา เพราะถ้าแก้ผิดวิธีอาจจะยิ่งทำให้ลูกน้องไม่อยากทำงานมากขึ้นอีก และนี่คือ 4 กับดักที่ทำให้ลูกน้องที่ดีหมดแรงจูงใจในการทำงานให้สำเร็จ

กับดักที่ 1 คุณค่าที่ไม่ตรงกัน: ฉันไม่ใส่ใจพอที่จะทำ

เกิดขึ้นเมื่อคุณค่าของงานที่ต้องทำไม่เชื่อมโยงกับคนทำงาน คนคนนั้นจึงไม่มีแรงผลักดันที่จะทำ

ทางแก้ที่ดีคือ พยายามค้นหาว่าลูกน้องคนนั้นใส่ใจเรื่องอะไร และพยายามเชื่อมโยงกับงาน บ่อยครั้งที่หัวหน้างานคิดถึงสิ่งที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้ตัวเองและเหมาเอาว่าจะเป็นสิ่งเดียวกับที่ขับเคลื่อนลูกน้องด้วย การเริ่มสนทนาและมองมุมที่จะช่วยระบุว่าลูกน้องคนนั้นใส่ใจเรื่องอะไร และคุณค่าเรื่องนั้นเชื่อมโยงกับงานได้อย่างไร

เรื่องคุณค่าของแต่ละคนมีหลายประเด็น เช่น ความสนใจส่วนตัว เรื่องอัตลักษณ์ ซึ่งคือทักษะที่ต้องใช้ในการทำงานนั้นเชื่อมโยงกับมโนคติของเขา เรื่องความสำคัญ คืองานนี้มีความสำคัญขนาดไหนต่อบริษัท และสุดท้ายคือประโยชน์ที่เปรียบเทียบระหว่างหลีกเลี่ยงไม่ทำกับทำได้สำเร็จ บางทีกอาจจำเป็นที่จะต้องบอกลูกน้องไปตรงๆ ให้กลั้นใจทำสิ่งที่ไม่อยากทำให้เสร็จ ทำให้ชัดเจนว่าประโยชน์ของการทำเสร็จคืออะไร และจะมีปัญหาอะไรตามมาหากทำไม่สำเร็จ

เมื่อลูกน้องไม่ให้คุณค่ากับงานนั้นๆ เพราะไม่ใช่เรื่องที่เขาใส่ใจ ทางที่ดีที่สุดคือหัวหน้างานลองชี้ให้เห็นคุณค่าของงานในหลายๆ ด้าน แน่นอนว่าต้องมีสักอย่างที่สะท้อนตัวลูกน้องเอง

กับดักที่ 2 คิดว่าตัวเองไม่มีศักยภาพ: ฉันคิดว่าฉันทำไม่ได้

เกิดขึ้นเมื่อลูกน้องเชื่อว่าตัวเองขาดศักยภาพที่จะทำงานให้สำเร็จ เลยทำให้ขาดแรงจูงใจที่จะทำงานให้สำเร็จ

ทางแก้ที่ดีคือ ทำให้ลูกน้องรู้สึกมั่นใจและรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถพอ ทำได้หลายวิธี หนึ่งในนั้นคือพูดถึงเวลาที่ลูกน้องคนนั้นสามารถทำงานอะไรได้สำเร็จ หรือตัวอย่างคนอื่นที่คล้ายๆ กันที่สามารถเอาชนะความท้าทายได้ สร้างความมั่นใจในศักยภาพของตัวเองให้ลูกน้องด้วยการให้งานที่ยากขึ้นอีกหน่อย หรือการแบ่งงานที่สั่งไปเป็นทักษะย่อยๆ ให้ค่อยๆ ทำให้เสร็จ

บ่อยครั้งที่ลูกน้องที่คิดว่าตัวเองขาดศักยภาพ เชื่อว่าการจะทำอะไรให้สำเร็จจะต้องลงทุนเวลาและแรงกายมากกว่าที่จะสามารถทำได้ อธิบายให้เขาเข้าใจว่าเขามีความสามารถที่จะทำให้สำเร็จแต่อาจประเมินสถานการณ์ผิด ทำให้ลูกน้องมั่นใจว่าถ้าพยายามมากขึ้นอีก งานจะสำเร็จแน่นอน และถ้าหัวหน้างานให้การสนับสนุนในการทำงานเพิ่มเติมก็จะช่วยได้มาก

ในทางตรงข้าม บางครั้งลูกน้องขาดแรงจูงใจในการทำงานเพราะคิดว่าตัวเองมีศักยภาพมากเกินกว่างานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งนี่เป็นความท้าทายที่จัดการยากขึ้น คนที่มั่นใจมากเกินไปมักทำงานพลาด  และเมื่อพลาด เขามักโทษว่าเกณฑ์การทำงานบกพร่องและไม่ยอมรับผิด เมื่อคุณต้องจัดการลูกน้องแบบนี้ สำคัญมากว่าต้องหลีกเลี่ยงการท้าทายความสามารถหรือความเชี่ยวชาญของลูกน้อง แต่แสดงให้เขาเห็นว่าเขาประเมินทักษะผิดไป และพยายามโน้มน้าวว่าเขาอาจต้องใช้วิธีอื่นเพื่อทำให้งานสำเร็จ

กับดักที่ 3 อารมณ์ที่ยุ่งเหยิง: ฉันอารมณ์เสียเกินไปที่จะทำงานนี้

เกิดขึ้นเมื่อลูกน้องมีความรู้สึกด้านลบท่วมท้น อย่างเช่น ความกังวล ความโกรธ ความซึมเศร้า พวกเขาจะขาดแรงผลักดันให้ทำงาน

ทางแก้ที่ดีคือ บอกให้เขารู้ว่าคุณอยากที่จะเข้าใจว่าทำไมเขาถึงอารมณ์ไม่ดี และคุณต้องตั้งใจฟัง อย่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย อย่าตัดสินโดยการถามว่าเขาเชื่อว่าอะไรทำให้เขามีอารมณ์แบบนี้ ลองสรุปสิ่งที่เขาบอกให้เขาฟังอีกที และถามว่าคุณเข้าใจถูกหรือไม่ เมื่อคนรู้สึกว่ามีคนเข้าใจ ความรู้สึกไม่ดีมักจะลดลง คุณอาจเสนอที่จะรับฟังปัญหาอีกทีหลัง ซึ่งนับเป็นการช่วยให้ลูกน้องควบคุมอารมณ์ตัวเอง

คุณต้องจำไว้ว่า ความโกรธ คือความเชื่อที่ว่ามีบางคนหรือบางสิ่งที่เป็นปัจจัยภายนอกได้ทำร้ายเขาหรือจะทำร้ายเขา ลองถามคนที่รู้สึกโกรธให้ลองตีกรอบความเชื่อเรื่องปัจจัยภายนอกใหม่ว่าเป็นเหตุมาจากความไม่รู้หรืออุบัติเหตุหรือไม่ แทนที่จะเชื่อว่าเกิดจากความตั้งใจ ลองเสนอวิธีที่เขาจะสามารถจัดการกับสิ่งที่กำลังคุกคาม

ถ้าลูกน้องเชื่อว่าตัวเองไม่มีศักยภาพพอและอยู่เหนือการควบคุม คุณควรให้เขาเข้าใจว่าเขาไม่ได้ขาดศักยภาพหรือไร้ความสามารถ เขาอาจแค่ต้องลงทุนลงแรงมากขึ้นกับกลวิธีที่ได้ผล คุณควรเสนอความช่วยเหลือ บ่อยครั้งที่ความกังวลหรือความกลัวตอบสนองได้ดีกับความช่วยเหลือ เพราะเป็นการเตือนใจว่าพวกเขาสามารถทำให้สำเร็จได้เพียงแค่ต้องทุ่มเทมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าอารมณ์ของเขายังไม่อ่อนลง หรือเป็นเรื่องปัจจัยนอกที่ทำงาน คุณอาจแนะนำให้ลูกน้องหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

กับดักที่ 4 ภารกิจผิดพลาด: ฉันไม่รู้ว่าพลาดตรงไหน

เกิดขึ้นเมื่อลูกน้องไม่สามารถหาสาเหตุที่ทำให้ตัวเองไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้ หรือเมื่อคิดว่าสาเหตุมาจากสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ จึงไม่มีใจจะทำให้สำเร็จ

ลูกน้องบางคน อยู่ๆก็หลีกเลี่ยงงานที่ได้รับมอบหมาย อ้างปัจจัยที่คิดว่าควบคุมไม่ได้ อย่างเช่น ลาป่วย มีเวลาไม่พอ หรือแม้แต่พยายามโบ้ยงานให้เพื่อร่วมงาน คุณสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการช่วยลูกน้องหาสาเหตุว่าทำไมงานนั้นๆ ถึงดูยากเกินกว่าจะทำให้สำเร็จ ถ้าเขาระบุว่าสาเหตุอยู่เหนือการควบคุม เช่น โทษคนอื่น หรือความบกพร่องส่วนตัวที่แก้ไม่ได้ คุณควรลองชี้สาเหตุอื่นที่สามารถควบคุมได้ให้เขาเห็น อย่างเช่นอาจต้องเปลี่ยนกลยุทธการทำงาน หรือต้องวางแผนให้ดีขึ้น

กับดักทั้ง 4 ที่ว่ามา แก้ได้ด้วยการพยายามมองภาพรวมว่าอะไรทำให้ลูกน้องหยุดริเริ่มงาน หยุดมุ่งมั่น และหยุดทุ่มเททางใจ หัวหน้างานสามารถทำได้มากกว่าแค่การวินิจฉัยปัญหาเรื่องแรงจูงใจ เมื่อใจลูกน้องออกนอกเส้นทาง การที่สามารถบ่งชี้กับดักเหล่านี้ จะทำให้สามารถหาวิธีแก้ได้อย่างตรงจุด และขับเคลื่อนงานให้เดินหน้าต่อไปได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทำอย่างไรให้ห่างไกลจากเรื่องดราม่าในที่ทำงาน

ไมโครซอฟท์ญี่ปุ่นทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์

related