svasdssvasds

แอสเพอร์เกอร์สซินโดรม รู้จักกันแล้วหรือยัง

แอสเพอร์เกอร์สซินโดรม รู้จักกันแล้วหรือยัง

ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th

คนที่สนใจตามข่าวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีใครไม่เคยได้ยินชื่อ เกรตา ทุนเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมวัย 16 ปีชาวสวีเดน ที่เริ่มต้นกิจกรรมด้วยหยุดเรียนไปประท้วงคนเดียวหน้าอาคารรัฐสภาสวีเดน หลังเกิดเหตุคลื่นความร้อนและไฟป่า จากนั้น กระแสของคนรุ่นใหม่ที่หันมาสนใจสิ่งแวดล้อม ก็แพร่หลายไปทั่วโลก เธอได้ขึ้นพูดในการประชุมสหประชาชาติว่าต่อหน้าผู้นำทั่วโลก คำพูดที่ตรงไปตรงมาของเธอ รวมถึงสีหน้าและท่าทีที่แข็งกร้าว กลายเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันในสังคมอย่างกว้างขวาง ล่าสุด เธอยังได้รับการยกย่องจากนิตยาสารไทม์ให้เป็นบุคคลแห่งปี 2019 อีกด้วย

มีการวิเคราะห์กันว่า ท่าทีดุดันของเธอ มีผลมาจากโรคสมาธิสั้นและอาการแอสเพอร์เกอร์สซินโดรม (Asperger’s Syndrome) ซึ่งคล้ายกับอาการออทิสติก เมื่อข้อมูลนี้เปิดเผยออกมา ทำให้คนสนใจกันมากขึ้นว่า แท้จริงแล้ว อาการแอสเพอร์เกอร์คืออะไรกันแน่ ต่างกับอาการออทิสติกอย่างไร วันนี้มาทำความรู้จักกับอาการแอสเพอร์เกอร์กัน

แอสเพอร์เกอร์เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากระบบประสาททำงานผิดปกติ โดยจัดอยู่ในกลุ่มของโรคกลุ่มออทิสติก ซึ่งเป็นกลุ่มอาการของโรคที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมและพัฒนาการในการพูด

เด็กที่มีอาการแอสเพอร์เกอร์แต่ละคนจะแตกต่างกันไปตามทักษะที่มี ทั้งรูปแบบของอาการที่แสดงออก และความรุนแรงของปัญหา จึงมีการแบ่งอาการออกตามความสามารถและทักษะของผู้ที่เกิดอาการ เช่น

- กลุ่มที่มีความสามารถในการพูด การใช้ภาษา และการปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นได้น้อย

- กลุ่มที่สามารถพูด ใช้ภาษา และปรับตัวกับคนอื่นได้ดี

- กลุ่มที่มีอาการคล้ายออทิสติก

- และกลุ่มที่มีปัญหาด้านพัฒนาการผิดปกติ ทำกิจกรรมซ้ำๆ ย้ำคิดย้ำทำ มีความสามารถและทักษะต่างๆค่อนข้างดี

โดยรวมแล้ว คนที่มีอาการแอสเพอร์เกอร์ มีพัฒนาการด้านภาษาดีกว่าเด็กออทิสติก แต่ก็ยังมีลักษณะของการพูดโดยไม่รู้จักกาลเทศะ พูดโพล่งออกมาโดยไม่มีเกริ่นนำ และหมกมุ่นแต่เรื่องของตัวเอง พูดง่ายๆว่าเข้าสังคมได้ยากกว่าเด็กทั่วไป

แอสเพอร์เกอร์สซินโดรม เริ่มแสดงอาการในช่วงเด็กอายุประมาณ 3 ขวบ กว่าจะมีอาการที่ชัดเจนพอวินิจฉัยได้ ก็มักอยู่ในช่วง 5-9 ขวบ โดยเด็กจะแสดงอาการว่ามีปัญหาในการเข้าสังคมกับคนอื่น ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์ และหมกมุ่นอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเหมือนคนที่ย้ำคิดย้ำทำ มีลักษณะการพูดที่แปลกๆไปจากเดิมมาก ไม่ค่อยมีสีหน้าที่แสดงอารมณ์เท่าใดนัก ไม่เข้าใจภาษาที่เป็นมุกตลก ลูกเล่น และสำนวน และมีปัญหาเรื่องการอ่านใจและภาษาท่าทางของคนอื่นที่สนทนาด้วย บางคนไวต่อสิ่งเร้าที่ภายนอกมากกว่าคนทั่วไป เช่น รำคาญและหงุดหงิดแสงไฟดวงเล็กๆที่คนอื่นแทบไม่สังเกตเห็นเลย เป็นต้น

ส่วนใหญ่แล้ว เด็กในกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ถือเป็นกลุ่มเด็กที่มีระดับสติปัญญาปกติ หรืออาจจะดีกว่าปกติด้วยซ้ำ มีปัญหาเพียงเมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมถึงพฤติกรรมการแสดงออกอื่นๆที่ไม่สมวัย เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เขาจะยังมีปัญหาในการเข้าสังคมกับผู้อื่นอยู่ แม้อายุมากขึ้นและมีวุฒิภาวะมากขึ้น แต่ปัญหานี้ก็ยังคงอยู่ต่อไป

ปัจจุบันยังไม่มียาใดที่ใช้รักษาอาการเหล่านี้ให้หายเป็นปกติ แต่หากคุณรู้สึกว่าลูกน้อยอาจจะเข้าข่าย ก็อย่าเพิ่งตระหนกไป จงปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ เพราะไม่ว่าอย่างไร หากเด็กกลุ่มนี้ได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง และครอบครัวได้รับความรู้ความเข้าใจ รวมถึงคำแนะนำที่ดีพอ ก็สามารถทำให้เด็กอยู่ร่วมในสังคมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จในชีวิตตามที่ปรารถนาได้

ดูเกรต้า ทุนเบิร์กเป็นตัวอย่าง เธอบอกว่าคนที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับอาการนี้ อาจมองว่าแอสเพอร์เกอร์เป็น”โรค”หรือมองเป็นด้านลบ แต่เธอกลับมองว่าอาการแอสเพอร์เกอร์ที่เธอเป็นอยู่ทำให้เธอ”แตกต่าง” และเป็นพลังขั้นสุดยอด (super power) ของเธอเลยทีเดียว

related