svasdssvasds

นวัตกรรมจากเตกิลาสู่หลอดย่อยสลายได้จาก “ต้นอะกาเว”

นวัตกรรมจากเตกิลาสู่หลอดย่อยสลายได้จาก “ต้นอะกาเว”

เอ่ยชื่อ Jose Cuervo คนส่วนใหญ่จะนึกถึงยี่ห้อเตกิลายอดฮิต ล่าสุดเปิดตัวโครงการ The Agave Project พัฒนาหลอดดูดน้ำย่อยสลายได้จาก “ต้นอะกาเว”

บริษัทผู้ผลิตเตกิลายักษ์ใหญ่อย่าง Jose Cuervo หันมาให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาขยะพลาสติก โดยนำ “ต้นอะกาเว” พืชที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตเครื่องดื่มยอดฮิต “เตกิลา” มาพัฒนาเป็นหลอดดูดน้ำที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นโครงการนวัตกรรมสุดเก๋ ที่บริษัทต้องการส่งเสริม “การดื่มอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม”

เส้นใยอะกาเวมีคุณสมบัติเทียบเท่าพลาสติกโพลิเมอร์ จึงสามารถแทนที่พลาสติกที่ใช้ทำหลอดแบบดั้งเดิม ซึ่งแทนที่ได้มากถึง 33 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นหลอดดูดน้ำวัสดุชีวภาพ จึงสามารถย่อยสลายไปตามธรรมชาติได้รวดเร็วกว่าหลอดพลาสติกราว 200 เท่า โดยกระบวนการย่อยสลายด้วยการฝังกลบ จะใช้เวลาประมาณ 1 – 5 ปี เท่านั้น ในขณะที่หลอดพลาสติกแบบเดิมใช้เวลาหลายร้อยปี

Jose Cuervo เปิดเผยว่า ต้นอะกาเว ใช้เวลาปลูกนานถึง 6 ปี กว่าจะสามารถนำบางส่วนของต้นมาใช้ทำเตกิลาได้ นั่นหมายความว่าขั้นตอนการปลูกพืชเพื่อผลิตสินค้า ค่อนข้างทำลายสิ่งแวดล้อมทางอ้อม อีกทั้งบางส่วนของพืชชนิดนี้ ก็ต้องถูกทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย ดั้งนั้น ทางบริษัทจึงพยายามคิดค้นวิธีที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากอะกาเวได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ และมองเห็นคุณสมบัติของเส้นใยที่แข็งแรง มีความทนทานสูง

ในที่สุด บริษัท Jose Cuervo ก็ได้คิดค้นหลอดดูดน้ำชีวภาพขึ้นมา และผลลัพธ์ของนวัตกรรมก็เป็นที่น่าพอใจ เมื่อนำมาใช้จริงแล้ว ผิวสัมผัสของหลอดให้ความรู้สึกไม่ต่างจากหลอดพลาสติกธรรมดา แถมคุณภาพการใช้งานก็ไม่มีที่ติ มีเพียงสีสันของหลอดที่เป็นสีน้ำตาลอ่อนจากสีของเส้นใยธรรมชาติ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากบริษัท BioSolutions Mexico ที่มุ่งพัฒนาวัสดุชีวภาพที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำจากต้นอะกาเวโดยเฉพาะ เนื่องจากประเทศเม็กซิโก เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชชนิดนี้เพื่อใช้ในเชิงอุตสาหกรรม ดังนั้น หลอดชีวภาพจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ ที่เม็กซิโกจะสามารถสร้างนวัตกรรมรักษ์โลกจากอะกาเวต่อไปในอนาคต

related