svasdssvasds

เตือน ผู้ชาย ให้ระวังมะเร็งเต้านม

เตือน ผู้ชาย ให้ระวังมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม เป็นโรคร้ายอันดับหนึ่งที่พบมากในเพศหญิง แต่ทราบหรือไม่ว่า เพศชายก็มีสิทธิ์เป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน

มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย สถิติจากสถาบันมะเร็งบอกว่าผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านม 28.6 คนต่อประชากร 1 แสนคน และมีอัตราการเกิดโรคและการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน มะเร็งเต้านมในผู้ชายกลับมีการพูดถึงน้อยมาก จึงทำให้ผู้ชายส่วนใหญ่ไม่เคยตรวจเต้านมเลยตลอดทั้งชีวิต เพราะคิดว่าโรคนี้ไม่มีทางเกิดกับตน ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง

สถิติล่าสุดจากหนังสือ Cancer in Thailand ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติระบุว่า พบมะเร็งเต้านมในผู้ชาย ในปี 2556-2558 จำนวนถึงเกือบ 500 ราย ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลในทุก 3 ปี ส่วนปี 2562 กำลังอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล

โรคมะเร็งเต้านมในเพศชายค่อนข้างคงที่ในช่วง 30 ปี ในขณะที่ในเพศหญิงนั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ประมาณ 100 เท่า ในเพศชายนั้นพบบ่อยในช่วงอายุ 60-70 ปี โดยพบว่าผู้ชายที่เป็นมะเร็งเต้านมมีอายุเฉลี่ยมากกว่าผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม 7-8 ปี

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์มะเร็งเต้านมของคนไทยในปี 2557 พบว่ามีผู้ชายป่วยเป็นมะเร็งเต้านม 162 คน และผู้หญิงป่วยเป็นมะเร็งเต้านม 14,804 คน

ปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งเต้านม มาจากหลายปัจจัย อาทิ เคยได้รับการฉายรังสีบริเวณหน้าอก มีประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว ซึ่งพบว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมีประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว โดยจะเป็นญาติทางฝ่ายชายหรือหญิงก็ได้

ปัจจัยที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งเต้านมในเพศชาย นั่นคือการมีระดับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะกลุ่มอาการที่เรียกว่า กลุ่มอาการคลายน์เฟลเทอร์ ซึ่งมีความผิดปกติของดีเอ็นเอ คือ มีดีเอ็นเอของเพศหญิงเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่เกิด ทำให้มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงและระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำลง ทำให้มีลักษณะเหมือนเพศหญิง ผู้ชายที่เป็นกลุ่มอาการนี้จะมีความสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ช่วงไหล่แคบกว่าช่วงเอว มีเต้านมใหญ่ ลูกอัณฑะเล็ก และเป็นหมันจากการไม่มีตัวอสุจิ หรือมีตัวอสุจิน้อยมาก กลุ่มอาการนี้พบได้ไม่บ่อยคือพบประมาณ 1 ใน 1,000 คน

นอกจากนั้นยังมีภาวะอื่นๆ ที่ทำให้มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงผิดปกติ ดังนี้

  • ตับแข็ง ที่ทำให้ผู้ชายนักดื่มมีเต้านมใหญ่กว่าผู้ชายปกติ เนื่องจากตับเสื่อมสภาพลง ไม่สามารถทำลายฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ตามปกติ
  • ภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน
  • ยาบางตัวที่มีผลข้างเคียงทำให้เต้านมใหญ่ขึ้น เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง ยารักษาต่อมลูกหมากโต เป็นต้น

ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติยังกล่าวเพิ่มเติมว่า อาการที่พบบ่อยที่สุดคือคลำเจอก้อนที่เต้านมโดยเฉพาะบริเวณใต้หัวนม อาการอื่นๆ ก็ไม่แตกต่างจากในเพศหญิง ได้แก่ มีของเหลวออกจากหัวนมเป็นน้ำปนเลือด หัวนมบอด เต้านมหรือหัวนมแดง หรือมีผื่นหรือแผลเรื้อรังบริเวณหัวนม ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ในระยะที่เป็นมากแล้ว

ส่วนอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยชายนั้น จริงๆ แล้วแทบไม่แตกต่างจากเพศหญิงแต่อย่างใด ดังนั้น ชายผู้สูงวัยจึงควรใส่ใจสังเกตความผิดปกติของเต้านมและตรวจเต้านมตนเองเป็นประจำเฉกเช่นเดียวกันกับในเพศหญิงด้วย

related