svasdssvasds

เสน่ห์...รอยร้าว คอนเสิร์ตออนทัวร์ โดย ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน

ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิละครธรรมะในพระสังฆราชูปถัมภ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง(ละครเวทีและภาพยนตร์) ประจำปี 2557 ร่วมกับ สสส.สร้างสรรค์โครงการ “เสน่ห์...รอยร้าว” โครงการศิลปะสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และชุมชน เพื่่อพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาให้แก่เด็กกลุ่มเสี่ยงและเยาวชนที่เคยก้าวพลาด ผ่านการแสดงสดที่ผสมผสานศิลปะหลากหลายแขนง อาทิ ศิลปะการแสดง ดนตรี และสเกตบอร์ด

นิยามคำว่าเสน่ห์...รอยร้าว

เราตั้งโครงการ The Broken Violin แรงบันดาลใจมาจากคุณคาร์ล ซึ่งเขาเอาไวโอลินแตกมาเล่นได้จริงๆ เปรียบเสมือนเด็กที่เขาเคยก้าวพลาด เขามีรอยร้าวอยู่ เขาไม่ใช่เด็กที่น่ากลัวเลย เขาทำให้เราเปลี่ยนแปลงและรู้สึกหลงรักเขา เราอยากให้คนได้เห็นถึงเสน่ห์ของเขา

เสน่ห์...รอยร้าว คอนเสิร์ตออนทัวร์ โดย ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน

จุดเริ่มต้นโครงการและสนามสเกตบอร์ด

เริ่มตั้งแต่ครูได้ไปเรียน ศิลปะบำบัด (Art Therapy) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พอจบก็เลยลงพื้นที่เพื่อที่จะดูว่าประเทศไทยเรา คนอื่นเขานำศิลปะมาทำการบำบัดเด็กๆ และแก้ปัญหากันอย่างไร จึงเริ่มเข้าไปตามชุมชนต่างๆ บางชุมชนก็ได้มาเจอกันตอนเขามาชมลิลิตพระลอที่โรงละครแห่งชาติ เพราะเราเชิญมูลนิธิทุกที่ให้เข้ามาดูโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ครูได้เจอเด็กๆ กลุ่มบ้านกาญจนาภิเษก ชุมชนพระประแดงใต้สะพานลัดโพธิ์ ได้เห็นเขาเล่นสเกตบอร์ดกันข้างถนน เลยถามว่าทำไมถึงไม่ไปเล่นในสวนล่ะ ในสวนน่าเล่นกว่า เพราะข้างถนนมันอันตราย พื้นถนนก็ไม่ค่อยดี ถ้าล้มไปจะเจ็บตัวพอสมควร แถมเด็กๆ ก็เล่นกันยังไม่ค่อยจะเป็นด้วย หัดเล่นกันเอง มีสเกตบอร์ดอยู่ 2 อัน ในขณะที่เด็กมีกันเป็นสิบคน ปรากฏว่าในสวนเขาไม่ให้เล่น ก็เลยต้องมาเล่นกันข้างถนนแบบนี้

ครูถามเด็กๆ ไปถึงเหตุผลการเลือกเล่นสเกตบอร์ด เด็กตอบครูว่า เมื่อล้มแล้วมันต้องลุก เจ็บอย่างไรก็ต้องลุก เมื่อฟังแล้วมันก็เหมือนชีวิตคนนะ มันล้มแล้วก็ต้องลุก แล้วแก๊งนี้เคยติดยา เมื่อเล่นสเกตบอร์ดแล้วมันเสพยาไม่ได้ เขาก็เลยเลิกยาเพราะเขาอยากเล่นสเกตบอร์ดมากกว่า การกีฬาทำให้ร่างกายจิตใจแข็งแรง เป็นการบำบัดช่วยให้เขาห่างจากยาเสพติดได้พอสมควร ก็เลยอยากสนับสนุนให้เขาเล่นต่อไป

เลยไปเยี่ยมบ้านของเพชรซึ่งเป็นเด็กๆ ในกลุ่มนี้ พบว่า พื้นที่บ้านเขาดี มีสวนเล็กๆ เพชรเขาก็ยินดีเปิดบ้านให้ทำลานสเกต เด็กๆ ในชุมชนได้เข้ามาเล่น ทางมูลนิธิละครธรรมะในพระสังฆราชูปถัมภ์ยินดีที่จะสนับสนุน แต่ชุมชนต้องช่วยสร้างกันเอง โดยครูจะหาคนมาสอนก่อสร้างให้เพื่อจะได้เป็นวิชาติดตัวกัน หลังจากนั้นจึงได้นำช่างจากโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน ไปสอน และซื้ออิฐ ปูน ทราย ให้เขาช่วยกันทำ และยังสอนเขาให้ดูแลต้นไม้ ปลูกต้นไม้ รวมถึงการดูแลพื้นที่ชุมชนให้สะอาดด้วย เพราะชุมชนเขาอยู่กันอย่างไม่ค่อยสะอาดเท่าไหร่ สอนให้เขาดูแลตัวเองให้สะอาดสะอ้าน และยังสอนมารยาท ทักษะการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ ให้แก่เด็กๆ ครูไปแทบจะทุกอาทิตย์ พบว่าเด็กทุกคนมีความพยายามมาก แต่ละคนสักเต็มตัวเลย ดูจากภายนอกแล้วเขาดูน่ากลัว แต่จริงๆ แล้วทุกคนเป็นเด็กที่น่าเอ็นดูมาก จิตใจเขาดี เขาอยากเปลี่ยนตนเอง เราช่วยได้เราก็ช่วย อย่าไปเกรงกลัวเขาเพียงสภาพภายนอก หลังจากมาดูแลเด็กๆ อย่างนี้แล้ว เด็กในชุมชนก็มีพัฒนาการดีขึ้น เก่งขึ้น เด็กเล็กก็มาร่วมกันเล่นสเกตบอร์ดด้วย

เสน่ห์...รอยร้าว คอนเสิร์ตออนทัวร์ โดย ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน

พูดถึงเด็กๆ บ้านกาญจนาภิเษก

ด้วยความอยากรู้ว่าในสถานพินิจ เด็กๆ เขาอยู่กันอย่างไร จึงได้เข้าไปเจอกับ ป้ามล-ทิชา ณ นคร ป้ามลสอนครูเยอะมากในเรื่องของการเป็นครู เรื่องการเข้าใจเด็ก เมื่อได้เรียนรู้และเข้าใจมากขึ้นจึงติดต่อให้ เก่ง-จักรินทร์ โปรสเกตบอร์ดรุ่นใหญ่ที่เด็กๆ สเกตบอร์ดต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี รวมถึงนำหลานและเด็กๆ ที่โรงเรียนภัทราวดีมาช่วยสอนให้กับเด็กๆ ที่มีความสนใจทั้งที่พระประแดงและที่บ้านกาญจนาภิเษกด้วย โดยเราสอนเด็กจากภัทราวดีว่า เราต้องไม่เลือกเพื่อน เราต้องรู้จักคนได้หมด เข้ากับทุกคนให้ได้ เราต้องเข้าใจว่าใครมีปัญหาอย่างไรและต้องช่วยเขาอย่างไร

นอกจากนี้ยังได้กลุ่มนักดนตรีจิตอาสามาช่วยเหลือหลายคน ซึ่งบางคนเขาก็เล่นสเกตบอร์ดด้วย รวมถึงยังได้ครูกบมาสอนตีกลอง การตีกลองต้องใช้พลังเยอะ เด็กๆ ที่เคยผิดพลาดส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีพลังเยอะ เขาอยากโชว์แต่เขาไม่มีโอกาสหรือพื้นที่ที่จะได้โชว์พลังในการสร้างสรรค์ เขาก็เลยหาทางออกด้วยการตีกัน

การตีกลองเป็นศาสตร์ปราบเซียนมาเยอะแล้ว ก็เลยให้ไปสอนตีกลองแก่เด็กๆ ซึ่งได้รับความสนใจเยอะ 30-40 คน แต่ช่วงหลังจำนวนคนก็ลดลงเหลือไม่กี่คน ไม่ใช่ว่าเขาไม่สนใจต่อหรืออะไร แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ของคุก ทำให้เขาไม่สามารถมาเล่นได้ ซึ่งเราก็ได้นำเด็กบ้านกาญจนาออกไปแสดงเปิดหมวกกันครั้งแรกที่ลิโด้คอนเน็คท์ ทุกคนก็มีอาการเขินกัน ครูก็เล่นด้วย เมื่อเด็กเห็นเราเล่นด้วย เขาก็เปลี่ยนไป เขาดูมั่นใจ สนุกสนานและดูเปล่งประกายออกมา การมีพื้นที่ให้เขาได้ทำงานกับมืออาชีพแบบนี้ จะทำให้เขาเห็นการเป็นมืออาชีพ แล้วเราจะได้สอนเขาเรื่องวินัยง่ายขึ้นมาก

เด็กๆ ที่ก้าวพลาดเป็นเพราะเขาไม่มีวินัย เราก้าวพลาดได้ทุกขณะในชีวิตนะ เช่น การที่เรารับจะทำอะไรแล้วเราทำไม่เต็มที่ นั่นก็คือการก้าวพลาดเช่นกัน ไม่ใช่เพียงการเกกมะเหรกเกเรหรือเสพยาเท่านั้น ฉะนั้น การตรงเวลา รับปากทำอะไรก็ต้องทำให้สุด ต้องซ้อม ต้องเตรียมงาน ต้องสร้างสรรค์และต้องทำให้ดีที่สุดในงานทุกชิ้นที่เราทำ สิ่งเหล่านี้เข้าไปอยู่ในทฤษฎีการบำบัดที่เราทำให้เด็กๆ ทั้งสิ้น

กว่าจะมาเป็นการแสดง "เสน่ห์...รอยร้าว"

จริงๆ แล้วไม่รู้จะเรียกอะไรดี จะเรียกละคร มันก็ไม่ใช่ละคร มิวสิคัลมันก็ไม่ใช่ มันเริ่มมาจากเพลงนะ เพราะเราอยากให้เขาเล่นดนตรี ลองไปมา เด็กมีคุณภาพมีศักยภาพมากขึ้น มันก็เลยได้ออกมาเป็นแบบนี้ ที่มีทั้ง ศิลปะการแสดง ดนตรี เรื่องเล่าอุทาหรณ์ และสเกตบอร์ด

เอ๋-นรินทร ตอนแรกก็แค่มาลงเสียงให้ ตอนหลังก็ชวนเอ๋ไปว่าว่างไหม เขาเลยได้มาเล่นให้ เอ๋เขาเห็นมีดนตรีด้วยก็เลยให้ทาง ช อ้น ณ บางช้าง มาสอนเด็กๆ จากเด็กที่เคยเล่นพอได้ ก็กลายเป็นปัจจุบันเด็กเก่งเลย ได้วิชาจาก ช อ้น ไปเต็มๆ ช อ้น ก็เลยได้มาร่วมแสดงด้วยเพื่อเด็กๆ จะได้ทำงานกับมืออาชีพ เขาจะได้มั่นใจ

เสน่ห์...รอยร้าว คอนเสิร์ตออนทัวร์ โดย ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน

ซีนแรก ในการแสดงมีพูดถึงปัญหาของเด็ก ซึ่งปัญหาที่เกิดล้วนมาจากพ่อแม่ผู้ปกครอง คนที่อยู่รอบข้างทั้งสิ้น จึงทำให้ครูต้องหันกลับมามองดูตัวเองรวมถึงครูที่โรงเรียน และก็ทำให้เห็นว่า ผู้ปกครองมักสอนเด็กด้วยการขู่ จึงได้นำคำขู่ต่างๆ มารวมกัน โดยใช้เพลงแมงมุมลายมาเปิด เหตุผลที่ใช้เพลงนี้เพราะเด็กๆ ประถมที่โรงเรียนภัทราวดีเขาเล่นกัน เพลงน่าเอ็นดูนะ แต่พอใส่ร็อกกีตาร์เข้าไปมันก็เป็นเพลงที่โหดได้ เหมือนเด็กที่ถูกดุด่าถูกขู่มากๆ เข้า จากเด็กที่น่าเอ็นดูก็กลายเป็นปิศาจ

ซีนที่สอง  เราได้อาจารย์อนันต์ นาคคง เป็นที่ปรึกษา โดยอยากจะพูดถึงเด็กๆ ที่ตีกัน อาจารย์จึงเสนอให้ใช้เพลงเด็กเอ๋ยเด็กดีสิ ซึ่งเราคิดว่ามันดีเพราะเป็นเพลงที่ทุกคนร้องได้ ไปเล่นที่ไหนชาวบ้านเขาก็รู้จัก จะได้เพลิดเพลินและร้องตามได้ และมันก็มีปัญหาเรื่องมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ ซึ่งเด็กภัทราวดีหนึ่งคนก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้ ตอนนี้ใช้เครื่องช่วยหายใจยังไม่รู้ว่าจะฟื้นหรือเปล่า ถือเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้ปกครองที่ไม่มีเวลาให้กับเขา

เสน่ห์...รอยร้าว คอนเสิร์ตออนทัวร์ โดย ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน

สิ่งที่ปรากฏในการแสดงล้วนมาจากเรื่องจริงที่เราไปสัมภาษณ์มาทั้งสิ้น เราจึงสื่อด้วยเพลงนกขมิ้น ที่ฟังทีไรก็เห็นภาพของความเหงา ในยามที่เด็กต้องการใครสักคน หันหาพ่อแม่ ท่านก็ยุ่งจนไม่ว่าง หาแต่สิ่งของชดเชยมาให้ แฟนก็ทิ้ง ครูก็ไม่เข้าใจ เขาไม่รู้จะหันหาใครจริงๆ เพลงนกขมิ้นจึงลงตัว ทุกคนรู้จัก และเมื่อเอาร็อกกีตาร์มาใส่ มันเลยกลายเป็นเหงาที่ทั้งเหงาและโกรธได้ นี่เป็นพัฒนาการของเพลง ในการแสดง เราใช้สเกตบอร์ดแทนมอเตอร์ไซค์ซิ่ง ซึ่งเมื่อพ่อแม่ให้บิ๊กไบค์เขาไปแล้ว วันหนึ่งเกิดเรื่องไม่คาดฝันอย่างเหตุการณ์อุบัติเหตุขึ้น สิ่งที่ผู้ปกครองแสดงออกคือความไม่เข้าใจ ว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เพราะแม่ทำทุกอย่างด้วยความรัก เป็นความรักที่ให้โดยไม่รู้ ว่าจริงๆ แล้วเขาต้องการอะไร ความไม่รู้นั้นเป็นทุกข์และอันตราย นี่คือที่มาที่ทำให้เกิดการแสดงนี้ขึ้น ทำให้รู้ซะ แล้วเมื่อรู้จะได้เอาไปค่อยๆ พัฒนา เพื่อลูกเต้าจะได้ไม่เดือดร้อน

ซีนที่สาม  นำแสดงโดย โอ ให้เขาโซโล่เดี่ยวเลย เพราะนั่นคือเรื่องจริงของเขา ครูได้ไปเห็นเรื่องราวของเขาเขียนติดอยู่ที่ฝาผนังบ้านกาญจนาภิเษก ป้ามลจะสอนให้เด็กทุกคนเขียน ครูก็ไล่อ่านทั้งหมดแล้วเก็บมาเรียงร้อย ประกอบกับโอเขาเป็นเด็กพูดเก่ง เลยให้เขาเล่นโซโล่บนสเกตบอร์ด แต่เราก็ฝึกเขาให้พูดให้ช้าลง พูดให้ชัดขึ้น รวมถึงให้พูดจากใจจริง ไม่ต้องตื่นเต้น สอนการควบคุมร่างกาย สอนแอคติ้งเขา เขาก็ทำได้ดีจนรู้สึกน้ำตาไหลเลย เราใช้เพลงกำลังใจ เพราะเพลงนี้ก็ร้องกันอยู่ในบ้านกาญจนาภิเษกอยู่แล้ว

อีกเพลงหนึ่งเป็นเพลงเพราะชีวิตคือชีวิต เป็นเพลงที่สอนได้ดีมาก ทาง บอย-โกสิยพงษ์ กับ นภ พรชำนิ เขาน่ารักมาก อนุญาตให้ใช้เพลงนี้ได้เลย จึงจบด้วยเพลงนี้ คอนเสิร์ตเบ็ดเสร็จแล้วใช้เวลา 1 ชั่วโมง หลังจากแสดงเสร็จทุกครั้งทุกรอบแล้ว เราจะนั่งคุยกันมีป้ามลและแพทย์จิตวิทยาเด็ก ใครมีปัญหาอะไรก็จะมาถาม พูดคุยกันเสมอ

เสน่ห์...รอยร้าว คอนเสิร์ตออนทัวร์ โดย ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน

ฟีดแบ็กที่ได้กลับมา

ดีใจที่หลายๆ คนบอกว่าการแสดงนี้มีประโยชน์ พนักงานหลายคนของเรา เขาได้ดูแล้วมาบอกว่า เขานอนไม่หลับเลย เพราะเขาพึ่งมีลูก เขาเก็บไปคิดเอาไปทบทวนเพื่อพัฒนาตัวเอง เป็นความดีใจที่อยากให้คนทั้งประเทศได้เห็นและรู้สึกอย่างนั้น ครูเองก็เคยถูกเลี้ยงมาผิดๆ ครูก็เลี้ยงลูกผิดมาโดยตลอด โชคดีที่ลูกยังไม่มีปัญหามาก ทำให้รู้ว่าที่ลูกมีปัญหาก็เพราะเรานี่แหละ ถ้าเรารู้แบบนี้ เด็กในประเทศไทยจะมีความสุขมากขึ้น

การปรับตัวของเด็กๆ

เด็กที่มาแสดงมาจากหลากหลายที่ เราแยกซ้อมกันก่อน ทั้งที่บ้านกาญจนาภิเษก และ บ้านพระประแดง ส่วนนักดนตรีก็แยกซ้อม ไม่ได้เจอกัน แต่ก่อนแสดงประมาณสัก 3-4 วัน เรานำเขามารวมตัวกันที่โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน ทุกคนได้นอน ได้กินข้าวด้วยกัน ได้คุยกัน โดยบันทึกเป็นสารคดีในทุกขั้นตอนที่ทำงาน นำเด็กๆ มาแลกเปลี่ยนกันโดยการพูดคุยกัน ทำให้เขาได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น เด็กๆ เข้ากันได้เป็นอย่างดี

เสน่ห์...รอยร้าว คอนเสิร์ตออนทัวร์ โดย ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน

พูดถึงสนามสเกตบอร์ด

บอกช่างประจำโรงเรียนว่า เราอยากได้ลานสเกตที่เป็นเหมือนหาดทราย ต้องขาวจั๊ว เนียน เวลากลางคืนจะได้สว่างโดดเด่นสวยงาม ซึ่งได้ เก่ง-จักรินทร์ มาช่วยสอนการทำมุมที่เหมาะสมสำหรับสเกตต้องทำอย่างไร เลยออกมาแล้วดีและค่อนข้างสวยมาก เด็กๆ ก็จะมาเล่นกันแน่นเลยตั้งแต่ 17.00-21.30 น. ครูเวรก็จะมาประจำอยู่ที่สนามสเกต จึงเกิดเป็นสังคมน่ารักที่มี ครู ผู้ปกครอง เด็ก ได้มาพูดคุยกัน

ไม่ได้มีแค่เด็กในโรงเรียนเท่านั้นที่เราเปิดให้ได้เล่นกัน เราเปิดให้เด็กจากข้างนอกเข้ามาเล่นได้ด้วย เขาก็แว้นกันมาเลยพอรู้ว่ามีสนามเปิดใหม่ เราคิดว่าเขาจะได้ไม่ต้องไปโชว์ข้างนอกกลางถนน ยังบอกเด็กๆ ว่าจะพาใครมาพามาได้เลยนะลูก แต่ต้องไม่ถอดเสื้อเล่นนะ เพราะมีสาวๆ ด้วย เดี๋ยวเขาเขิน เขาก็ทำตามนะ โดยบอกเจ้าหน้าที่รวมถึงครูที่โรงเรียนภัทราวดีว่า อย่าใจแคบ เปิดใจให้กว้าง เวลาเขาทำอะไรไม่ดี ไม่ถูกต้อง ให้เข้าไปพูดคุยกับเขาดีดี พูดจาด้วยความไพเราะ ถ้าผู้ใหญ่พูดจาเพราะ เด็กจะเคารพ แล้วต้องเข้าใจก่อนว่าเขาไม่ได้เลวร้ายนะ เขาเพียงไม่รู้ หากบอกเขาดีดี เขาก็จะไม่ทำ ทุกคนล้วนแล้วแต่น่ารักมากทำตามกติกา แถมยังช่วยกันดูแลสนามด้วย รุ่นพี่เขาก็ช่วยดูแลรุ่นน้อง สนามสเกตบอร์ดจึงกลายเป็นลานแห่งมิตรภาพ

ได้เรียนรู้อะไรจากเด็กๆ บ้างหลังทำโครงการนี้

ต้องบอกว่าเราสอนเขา เขาก็สอนเรา อย่างที่พระประแดง เราได้เรียนรู้และเข้าใจว่า ก่อนที่จะได้พัฒนาจิตใจต้องพัฒนาสิ่งแวดล้อมก่อน ต้องไปสอนให้บ่อยๆ จนเขาชินกับสิ่งที่เราสอนไป ต้องไม่ทิ้งเขา เขามีรอยร้าว ถ้าใช้กาวประสาน หากเราทิ้งไปกาวมันอาจหลุดได้ ต้องอยู่กันไปตลอด แต่ละคนก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน เราก็สนับสนุนส่งเสริมในทางที่เขาใช่ที่เขาอยากเป็น ให้เขาได้ลองทำ ครั้งแรกอาจไม่ใช่ ก็ต้องลองกันไป

ความสุขของครูเล็ก

สมัยที่ทำงานภัทราวดีเธียเตอร์ ส่วนใหญ่เขามักส่งเด็กที่เขาเรียกติดปากว่า "เด็กเปรต" มาให้ เมื่อเราได้มาคลุกคลีฝึกฝนเขาจริงๆ แล้วก็ไม่เห็นว่าเขาจะเป็น "เด็กเปรต" ที่ตรงไหนเลย เขาเป็นเด็กน่าเอ็นดู บางคนตอนนี้เป็นถึงนางแบบโลก เป็นเจ้าของบริษัทใหญ่โต อยากให้ทุกคนได้ทราบว่าเด็กที่โดนเรียกเด็กเปรตนั้น จริงๆ แล้วเขาไม่ใช่

ตอนนี้มาทำกับเด็กในคุก นี่ก็เป็นอีกก้าวที่มีหลายคนออกมาเตือนให้ระวัง โดยบอกว่ายิ่งครูเล็กเป็นคนดุด้วย จะโดนดีเอาได้ มาบอกด้วยความกลัว กังวลและเป็นห่วงกันมากมายทีเดียว เมื่อได้เข้ามาสัมผัสเรียนรู้พวกเขาจริงๆ กลับพบว่ามีความสุขมาก เหนื่อยนะ แต่เราได้เล่นไปกับเขา ได้ออกกำลัง เลยแข็งแรง เพื่อนๆ ที่เป็นรุ่นเดียวกันกับครู ในวัย 72 ปี เดี๋ยวนี้เขานั่งรถเข็นใกล้ตายกันหมดแล้ว แต่ครูยังเล่นสเกตอยู่เลย สมองก็ยังดี นี่แหละคืออานิสงส์ที่ได้ทำงานกับเด็กๆ ทำให้รู้สึกเสมอว่าชีวิตมีความหวัง หวังได้เห็นเขาเติบโต เสมือนเข็นครกขึ้นภูเขานะ เราจึงต้องฝึกตัวเองให้แข็งแรงอยู่ตลอดเวลา เล่นกับเขาก็ได้ออกกำลังกาย ได้นั่งในที่อากาศบริสุทธ์ ได้ติดดินมากขึ้น เดี๋ยวนี้ใส่เสื้อยืด รองเท้าผ้าใบ หิ้วกระเป๋ากระจูด ชีวิตมันเปลี่ยนไปเลย

เสน่ห์...รอยร้าว คอนเสิร์ตออนทัวร์ โดย ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน

เรามีเพื่อนใหม่เป็นเด็กในคุก เราภูมิใจที่เราได้สนิทและได้พูดคุย ไม่กลัวเด็กๆ เหล่านั้น มันทำให้รู้ว่าการก้าวพลาดไม่ใช่แค่ตีรันฟันแทงเท่านั้น การทำให้คนอื่นเป็นทุกข์นั่นก็คือการก้าวพลาดอย่างหนึ่ง

เรียนรู้จักการขอโทษ การให้อภัย เรียนรู้การที่เด็กไม่ส่งการบ้านเพราะไม่ใช่เขาโง่ แต่เป็นเพราะเราสอนไม่ดี เราสอนเร็วไป เขาถึงไม่เข้าใจ ครูจะต้องมีเมตตามากขึ้น เมื่อเราได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ ทุกอย่างล้วนเปลี่ยน กระบวนการในโรงเรียนเปลี่ยน เราเรียนรู้ที่จะไม่ไล่เด็กออก ทั้งที่เมื่อก่อนเราเคยไล่ออกไปเพราะเราไม่รู้จริงๆ ว่าจะเลี้ยงเขาอย่างไร ป้ามลบ้านกาญจนภิเษกเขาสอนให้เรารู้จักความเป็นครูที่เข้าใจมากขึ้น

ตอนนี้เราสามารถรับมือกับเด็กพิเศษเหล่านี้ได้ มันไม่ได้ยากเลย แต่เราจำเป็นต้องมีวิชา แม้จะ 70 ปีแล้วยังต้องเรียนนะ เพื่อจะได้รู้และเข้าใจรวมถึงสอนเด็กได้ เด็กซนเขาก็มีปัญหาอย่างหนึ่ง เด็กเรียบร้อยเขาก็มีปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ก็ต้องแก้ไขแตกต่างกัน ปรับเด็กให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ บ้างในทุกรสชาติ เมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่จะได้เลือกได้ว่าจะไปในทิศทางไหน

สิ่งที่เด็กๆ ขาดคืออะไร

รัฐบาลต้องถามเด็กๆ ว่าเขาต้องการอะไร เราขาดการพูดคุยกับเด็กๆ วันแรกๆ ไปคุย เขาอาจไม่คุยกับเราเลย ต้องเจอกันบ้าง สร้างสายสัมพันธ์จนไว้ใจ แล้วเขาจะเปิดใจหลุดความในใจของเขาออกมา เมื่อเด็กเขาบอกว่าเขาต้องการอะไร ก็จบแล้ว

หากอยากเข้าใจและเปิดใจกับเด็กๆ มากขึ้น เชิญไปดูการแสดงกันได้ “เสน่ห์...รอยร้าว คอนเสิร์ตออนทัวร์” จะจัดแสดงรอบต่อไปในวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 2563 ในเทศกาลศิลปะและการแสดงเจ็ดเสมียนครั้งที่ 5 ณ ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน จ.ราชบุรี บัตรชมการแสดงบริจาคตามศรัทธา หรือสอบถามเวลาและคิวสถานที่แสดงเพิ่มเติมได้ที่ Hua Hin Skate Park

เสน่ห์...รอยร้าว คอนเสิร์ตออนทัวร์ โดย ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน

related