svasdssvasds

ครั้งแรกของโลก กับการไขคดี ด้วยนวัตกรรม AI ตรวจสอบหัวกระสุนปืน

ครั้งแรกของโลก กับการไขคดี ด้วยนวัตกรรม AI ตรวจสอบหัวกระสุนปืน

ครั้งแรกของโลก กับการใช้ AI ช่วยไขคดี ด้วยแอปพลิเคชัน ตรวจสอบหัวกระสุนปืนด้วย AI วิเคราะห์ผลแม่นยำใน 62 วินาที ช่วยเจ้าหน้าที่สืบสวนติดตามคนร้ายได้เร็วขึ้น

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) เปิดตัวแอปพลิเคชัน ตรวจสอบหัวกระสุนปืนด้วย AI นับเป็น แอปพลิเคชันแรกของโลกที่สามารถตรวจสอบหัวกระสุนปืน ณ สถานที่เกิดเหตุจริง พร้อมแสดงผลการวิเคราะห์ที่แม่นยำภายใน 62 วินาทีเท่านั้น ถือเป็นความสำเร็จที่ช่วยย่นระยะเวลาในกระบวนการสืบสวนได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ เทคโนโลยีเอไอ (Artificial Intelligence) ในแอปพลิเคชันได้ผ่านการทดสอบความแม่นยำสูงถึง 91-98 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับยี่ห้อปืนที่ใช้ยิงด้วย โดยอ้างอิงการเก็บตัวอย่างของลูกกระสุนทั้งหมด 898 ลูก จากปืนที่มีสถิติการก่อคดีสูงที่สุด 8 ยี่ห้อ ทั้งนี้แอปพลิเคชันดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของการนำไปทดลองใช้งานจริง โดยจะต้องใช้งานควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ผลแบบเดิม เพื่อให้เกิดความถูกต้องสูงสุด ในการทำงานของเจ้าหน้าที่สืบสวนได้ทราบถึงยี่ห้อของปืนที่ใช้ในการก่อคดี สามารถจำกัดขอบเขตในการสืบสวน และติดตามตัวคนร้ายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ตรวจหัวกระสุนด้วย AI

รศ. ดร. จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) และอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย เปิดเผยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. โดย นักศึกษาปริญญาตรีที่ได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม ตรวจสอบหัวกระสุนปืนด้วยเอไอ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันแรกของโลก ที่สามารถตรวจสอบหัวกระสุนปืน ณ สถานที่เกิดเหตุจริง พร้อมแสดงผลการวิเคราะห์ที่แม่นยำภายใน 62 วินาที ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ นี้ช่วยให้ลดระยะเวลาในขั้นตอนของการสืบสวน เนื่องจากในกระบวนการการตรวจสอบตามปกติ จะใช้เวลานานถึง 30 วัน ผ่านการเก็บวัตถุพยานอย่าง ลูกกระสุนปืนไปตรวจสอบตำหนิร่องเกลียวสันเกลียวที่เกิดจากกลไกการทำงานของปืน ภายในห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะต้องใช้เครื่องมือและผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ และเมื่อผลออกมาแล้ว จึงจะส่งผลต่อให้กับเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ เพื่อทำการสืบสวนและสรุปสำนวนคดีต่อไป

แอปพลิเคชัน ตรวจสอบหัวกระสุนปืนด้วยเอไอ เป็นการนำเอไอเข้ามาช่วยในการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งขั้นตอนในตรวจสอบ คือ นำลูกกระสุนที่ได้จากที่เกิดเหตุใส่ลงไปในเครื่องมือที่มีมอเตอร์ที่ถูกควบคุมด้วยระบบฮาร์ดแวร์ จากนั้นใช้สมาร์ทโฟนถ่ายภาพตำหนิ “ร่องเกลียว-สันเกลียว” ที่เกิดขึ้นบนลูกกระสุนปืน ผ่านแอปพลิเคชันจำแนกหัวกระสุนปืน

มอเตอร์ของเครื่องมือดังกล่าวจะทำงานด้วยการหมุนแบบ 360 องศา เพื่อเก็บภาพแบบพาโนรามา ภายใน 62 วินาที จากนั้นระบบจะทำการวิเคราะห์และแสดงผลออกมาให้เห็นว่า ลูกกระสุน ถูกยิงมาจากปืนยี่ห้อใดกันแน่

ตรวจหัวกระสุนด้วย AI

แอปพลิเคชัน ตรวจสอบหัวกระสุนปืนด้วยเอไอ อยู่ในขั้นตอนของการนำไปทดลองใช้งานจริง โดยในอนาคตเตรียมต่อยอดงานวิจัยด้วยการเก็บตัวอย่างเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถระบุขนาดของปืนได้มากขึ้น เนื่องจากงานวิจัยในตอนนี้เก็บตัวอย่างไปเพียงขนาดเดียวคือ 9 มม. หรืออาจจะสืบค้นได้ว่าเคยมีประวัติการก่อคดีในลักษณะนี้เกิดขึ้นบ้างหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราการเกิดอาชญากรรมเกี่ยวกับปืนค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยที่ 30,000 – 40,000 คดีต่อปี

รศ. ดร. จาตุรงค์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับงานวิจัยระบบตรวจสอบหัวกระสุนปืนด้วย AI ถือเป็นครั้งแรกของนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร IEEE Access ซึ่งอยู่ใน Quartile ที่ 1 ของการจัดอันดับวารสารของ Scientific Journal Ranking (SJR) อีกด้วย นับเป็นความภาคภูมิใจของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสทำงานวิจัยที่เป็นประโยชน์และสามารถช่วยเหลืองานทางด้านกระบวนการยุติธรรมได้

ผู้ที่สนใจอยากทราบข้อมูลงานวิจัยระบบ ตรวจสอบหัวกระสุนปืนด้วย AI สามารถไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ieeexplore.ieee.org/document/9076037 หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 094-664-7146 หรือ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมต่างๆ ของ TSE ได้ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT และอีกหนึ่งช่องทางที่ www.engr.tu.ac.th

ตรวจหัวกระสุนด้วย AI