svasdssvasds

ปรากฏการณ์ สาวสวมชุดนักเรียนชูป้ายฯ แท้จริงแล้วโรงเรียนปลอดภัยหรือไม่?

ปรากฏการณ์ สาวสวมชุดนักเรียนชูป้ายฯ แท้จริงแล้วโรงเรียนปลอดภัยหรือไม่?

สาวสวมชุดนักเรียนที่ออกมาชูป้าย “หนูถูกทำอนาจาร โรงเรียนไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย” แม้จะเกิดกระแสตีกลับถึงเจ้าตัวมากมาย แต่ประเด็นหลักที่น่าเป็นห่วงจริงๆ ก็คือ แท้จริงแล้วเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ แล้วโรงเรียนยังใช่สถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กจริงหรือ?

สปริงได้ลงไปหาคำตอบถึงประเด็นคำถามที่ว่า โรงเรียนยังคงเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กหรือไม่? ซึ่งคำตอบที่ได้รับมาค่อนข้างน่าตกใจมาก พบว่ามีแหล่งข่าวที่เราไปสอบถามหลายคนได้ออกมาเปิดเผยว่า ในอดีตตนถูกล่วงละเมิดภายในโรงเรียนจริง ตรงกับคำตอบของนักจิตวิทยาเด็กที่บอกว่า โรงเรียนไม่เคยปลอดภัยสำหรับเด็ก

อโนพร เครือแตง หรือ เมย์ นักจิตวิทยาเด็กและผู้ก่อตั้งไลฟ์ สกิลส์ (ไทยแลนด์) กล่าวว่า เมย์ไม่อยู่ในระบบให้คำปรึกษาอย่างเป็นทางการ แต่รับข้อมูลผ่านทาง ครู นักเรียน ผู้ปกครองที่เข้าอบรม มาเล่าประสบการณ์ในคลาส sex education ซึ่งในแต่ละรุ่นที่อบรมจะมีประมาณ 20 คน สอนปีละ 8-10 รุ่น ต้องบอกว่า ไม่เคยเจอรุ่นไหนที่ปราศจากการคุกคามและถูกละเมิดในโรงเรียนเลย มีตั้งแต่เอาเปรียบทางร่างกาย ลวนลาม ไปจนถึงข่มขืน ข่มขู่เพื่อแลกเกรด สิ่งเหล่านี้มีในทุกรุ่น ทุกคลาส และไม่มีใครแจ้งความเลย ยิ่งรุนแรงมาก เหยื่อยิ่งโทษตัวเองมาก

“สิ่งที่น่าตกใจก็คือ เด็กไม่กล้าที่จะบอกใคร เพราะกลัวถูกตัดสิน กลัวถูกตีตรา กลัวโดนบอกว่า รนหาที่เอง สิ่งที่เกิดขึ้นนี้หลายๆ เคสเกิดจากการที่ไว้ใจครู ไว้ใจรุ่นพี่ หลังเกิดเหตุเด็กไม่เคยเข้ารับคำปรึกษาเพื่อเยียวยาตัวเอง เนื่องจากมองว่า นั่นไม่ใช่เรื่องจำเป็น ทั้งที่แท้จริงแล้วประสบการณ์นี้ส่งผลกับชีวิตมากมาย หลายคนเก็บตัวตอนเรียนจนมีภาวะซึมเศร้า แยกตัวจากสังคม ผลการเรียนตก ไม่อยากเข้าเรียนวิชานั้นๆ ไปเลยก็มี”

โรงเรียนยังใช่สถานที่ที่ปลอดภัยจริงหรือไม่?

อโนพร กล่าวว่า โรงเรียนไม่เคยปลอดภัย ถ้าเรานับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชีวิตคน ครึ่งหนึ่งมาจากโรงเรียน อาจจะไม่ใช่จากครูทั้งหมด แต่กลายประเด็นตั้งต้นที่โรงเรียน เพื่อน สภาพแวดล้อม การกลั่นแกล้งรังแก การทำร้ายความรู้สึก การลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีในนามความหวังดี อาทิ การตัดผม ตัดกระโปรงกางเกง ดีดสายเสื้อใน นำแปรงลบกระดานไปเคาะเล็บเพราะยาว สิ่งเหล่านี้ไม่เคยช่วยเรื่องการเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้มีแต่ผลักคนออกห่าง ห่างโรงเรียน ห่างการเรียนรู้ ห่างการช่วยเหลือ 

“โรงเรียนที่ไม่เท่าทันเรื่องความรุนแรง เรื่องการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย และความเห็นต่าง ก็จะตกหลุมมายาคติที่ว่า “เด็กดี เชื่อฟัง เท่ากับ ดี” ตกหลุมมายาคตินี้ปุ๊ป ง่ายเลย เกิดความรุนแรงเท่าไร ก็แยกไม่ออกตีความไม่ได้ เพราะติดกรอบ ถูกผิด ศีลธรรม ความเหมาะสมของ เด็กดี คนดี โรงเรียนต้องกลับมายืนอยู่บนฐานคิด คนเท่ากับคน และคนมีความแตกต่างหลากหลาย ความแตกต่งหลากหลายของคนไม่สามารถตัดสินถูกผิดดีงามได้จากมาตรฐานของสังคม ทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง แต่ให้ยึดหลักการเดียวกันว่า เคารพกันและกัน ไม่ละเมิดกันและกัน”

การพูดคำหยาบคายเรียกคนว่า อีด..ก หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ ยิ่งโรงเรียนปล่อยให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นเรื่องธรรมดา มันจะคงอยู่ต่อไปและกลายเป็นสภาพแวดล้อมที่โทษเหยื่อได้อย่างง่ายดาย โรงเรียนเลยไม่เคยปลอดภัย เพราะทุกวันนี้ มองความรุนแรงและการละเมิดเป็นเรื่องธรรมดาไปหมด ตั้งแต่ระดับเล็กๆ ไปจนใหญ่โต

การละเมิด แปลว่า ถูกกระทำโดยไม่ยินยอม ในที่นี้หมายรวมถึงการยินยอมที่ไม่เต็มใจด้วยเช่นกัน สภาวะอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันเลยจำเป็นต้องยอม เช่น แลกเกรด พักเรียน แจ้งผู้ปกครอง  ถูกกุมความลับ  เหล่านี้ ก็สามารถสร้างสภาวะยอม ที่ไม่ได้เต็มใจได้ตลอด

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกละเมิด

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกล่วงละเมิด จะส่งผลถึงระดับ self esteem ยิ่งอายุน้อยเท่าไร ยิ่งส่งผลมากขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่างเรื่องง่ายๆ ให้เข้าใจก็คือ เราบอกลูกหลานเด็กเล็กว่า ไปให้ลุงป้าน้าอาหอมแก้มหน่อยสิ เขาคิดถึง โดยที่เด็กไม่เต็มใจ เพียงเท่านี้ก็ส่งผลต่อจิตใจแล้วและส่งผลระยะยาวด้วย เขาจะรู้สึกว่าเนื้อตัวร่างกายของเขาต้องทำตามผู้ใหญ่บอกส่งผลถึงการแยกแยะ สัมผัสดี สัมผัสไม่ดี ได้ยาก ทำให้เมื่อโตมาเมื่อเจอ ครูลูบขา ลูบหลัง เด็กจึงยังคงแยกไม่ได้ว่า สิ่งที่โดนกระทำนี้คือ การถูกลวนลาม หรือเป็นห่วง ส่งผลให้เกิดความรู้สึกอึดอัดสับสนในตัวเองขึ้น ไม่รู้ว่าจะต้องโวยวายตอนไหนดี การโดนกระทำแบบนี้มันมากไปหรือยัง ตกใจตัวแข็ง ทำอะไรไม่ถูก จนเลยเถิดไป ในท้ายสุดแล้วผู้ถูกกระทำก็ถูกคนรอบๆ ด่าว่าต่างๆ นานา จนถึงขั้นตัดสินว่า เพราะเธอไปยอมเขาเอง เป็นต้น

Sex Education ภูเขาน้ำแข็ง ความขัดแย้ง และปัญหาด้านเพศศึกษาของไทย

การดูแลบำบัดรักษา

เรื่องการรักษาดูแล รักษา บำบัด คือ ทรอม่า ต้องค่อยๆ แกะทีละประเด็น รับฟัง ไม่ตัดสิน ซึ่งโรงเรียนเองก็ไม่ได้มีระบบดีดีแบบนี้ เกิดอะไรขึ้นมักห่วงชื่อเสียงโรงเรียนก่อนเด็ก จึงทำให้มันก็ยากที่จะมีเด็กหรือใครสักคนลุกขึ้นมายืนพูดอะไรเหล่านี้

สังคมปัจจุบัน เห็นชัดว่าคนออกมาตัดสินกัน การที่คนๆ หนึ่งออกมาพูดถึงสิ่งที่ตนถูกกระทำในอดีต เป็นใช้ความกล้าอย่างมาก เพราะมันต้องแลกมาด้วยอะไรอีกหลายอย่างจริงๆ เป็นการเสียสละตนเองเป็นเป้านิ่งให้สปอตไลท์ส่องมาให้ผู้อื่นได้เห็น สื่อสารออกไปเพื่อปกป้องคนอื่นให้ได้สักคนหนึ่งก็ยังดี

ฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ เราฟัง และฟังแบบไม่ตัดสิน การฟังแบบไม่ตัดสินนี่ยากมาก และถามเขาว่าอยากให้เราช่วยอะไรบ้างด้วยอำนาจของเราที่มี เราทำอะไรได้บ้าง ต้องบอกว่าหลายครั้งความช่วยเหลือที่มาแบบที่เขาไม่ได้ร้องขอ ก็นับเป็นภาระมากกว่าผลดี

มายาคติเรื่องเพศ 

การที่คนๆ หนึ่งถูกตัดสินว่า เธอโดนกระทำเพราะเธอแต่งตัวล่อแหลม บูลลี่ตัวของผู้อื่นโดยไม่ได้เข้าใจสิ่งที่เขากำลังสื่อสารอย่างแท้จริงนี้ เกิดขึ้นจากมายาคติทางเพศที่อยู่กับเรามายาวนานหลายร้อยปี ดังนั้นมันไม่ง่ายที่จะแยกข้อเท็จจริง กับความคาดหวังของคนออกจากกัน โดยเฉพาะการยึดโยงกับประสบการณ์เก่าของตัวเอง เวลามองผู้อื่น เช่น เวลาเราบอกว่า ผู้หญิงคนนี้เป็นคนดี เราต้องถามตัวเอง ว่า เราคิดจากบรรทัดฐานอะไร วิธีพูดของเธอ รูปร่างของเธอ การแต่งตัวของเธอ บุคลิกของเธอ อดีตของเธอ ตำแหน่งของเธอ รสนิยมทางเพศของเธอ การมีเพศสัมพันธ์ของเธอ แค่หนึ่งคำถาม มีคำตอบมากมาย ขึ้นอยู่กับเราจะเลือกบรรทัดฐานไหน มาตัดสินให้คุณค่ากับคนหนึ่งคน

การใส่ชุดนักเรียนออกมาเรียกร้อง ตีแผ่ความจริง ไปบวกกับชุดประสบการณ์เดิมๆ ของคนที่ยึดโยงคุณค่าความดีกับเครื่องแต่งกาย กับการแต่งหน้าจัด พรหมจรรย์ อะไรแบบนี้ แล้วเขาตัดสิน ตีความว่า ผู้หญิงคนนี้เท่ากับประสบการณ์เดิมของเขาเท่าที่เขานึกออก อย่าง นุ่งสั้นเท่ากับแรด อยากบอกว่าแทบไม่มีทางรับมือกับสิ่งนี้ได้เลย

เราต้องชวนคนที่ตีความทุกคนมาตั้งคำถามว่า เราตัดสินคนจากอะไร ใช้ข้อมูลชุดไหนมาคิด และข้อมูลชุดนั้นเป็นจริงไหม เช่น จริงไหมที่หลายคนแต่งเป็นเครื่องแบบ เขาใส่แบบนั้นเพราะขี้ร้อน หลายคนมองว่าเป็นแฟชั่น แปลว่ามันไม่ได้มาด้วยกัน เหมารวมไม่ได้ ตัดสินไม่ได้   

สังคมต้องการพวกพ้อง ความถูกต้องในแบบของตัวเอง ความถูกต้องในแบบที่ตัวเองเชื่อ โจมตีกันด้วยสิ่งที่ตนเองเชื่อ โดยขาดการวิเคราะห์มายาคติ ขาดการเห็นข้อเท็จจริงของการสื่อสารไป ถ้าน้องไม่ได้ใช้สัญญะ ออกมาร้องไห้เรียลลิตี้ สังคมก็จะแอคชั่นอีกแบบ ตามแต่ความเชื่อที่เขาเชื่อมโยง 

มายาคติ จากกรอบเพศชายหญิงต้องตระหนักว่า มีกรอบนี้ครอบเราอยู่จริงๆ เรามองบรรทัดฐานของคนอยู่บนความเป็น หญิงดี ชายดี หากเราเห็นว่าใครหลุดไปจากกรอบที่ว่า "ดี" นี้ เราจะตัดสินทันที ความขัดแย้งมันเลยเกิดตรงนี้ เพราะ "ดี" ของเราไม่เหมือนกัน กรอบของแต่ละคนไม่เท่ากัน โต ขยาย สลาย ไปตามประสบการณ์ชุดการเรียนรู้ ข้อมูลที่ได้รับ เราเลยเห็นการโต้เถียง แผ่ขยายเป็นวงกว้างขนาดนี้ เพราะทุกคนมีกรอบนี้มีมายาคติตั้งต้น บรรทัดฐานเพศที่ตนเองยึดถือ ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วม และเชื่อว่าตนเองมีข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้อง ซึ่งข้อมูลทุกคนถูกต้องเป็นความจริงของตัวเองเพียงคนเดียวเท่านั้น ถ้าเรายังไม่ตระหนักเรื่องมายาคติเพศ สังคมก็จะเถียงกันคนละเรื่องอย่างนี้ไปเรื่อยๆ 

ปรากฏการณ์ สาวสวมชุดนักเรียนชูป้ายฯ แท้จริงแล้วโรงเรียนปลอดภัยหรือไม่?