svasdssvasds

พยากรณ์ 10 ทิศทางสุขภาพคนไทยปี 64 ยุควิกฤต โควิด 19 มาราธอนเขย่าโลก

พยากรณ์ 10 ทิศทางสุขภาพคนไทยปี 64 ยุควิกฤต โควิด 19 มาราธอนเขย่าโลก

สถานการณ์ โควิด 19 คงอยู่กับเราแบบมาราธอนยาวถึงปี 64 แน่นอน ฉะนั้นเราจำเป็นอย่างยิ่งต้องเตรียมรับมือให้ดี แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงโควิดที่เราต้องระวัง หมายรวมถึงสุขภาพอื่นๆ กับการพยากรณ์ 10 ทิศทางสุขภาพคนไทยปี 64 ซึ่งเราควรจับตาดูให้ดี

ปี 64 นี้ ไทยยังคงเผชิญกับสถานการณ์ โควิด 19 อีกทั้งต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ที่ทำให้คนตายจากโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นถึง 1.5 เท่า รวมถึงวิกฤตสุขภาพจิตวัยรุ่นไทย 2 ใน 3 มีภาวะซึมเศร้า และพฤติกรรมการกินของคนไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่ม 2.4 เท่า อีกด้วย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ บริษัทไวซ์ไซท์ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายทางวิชาการ จัดเวที Thaihealth Watch จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2564 Rewind to the future มองเทรนด์สุขภาพ ฉายภาพพฤติกรรม ปรับให้พร้อม เพื่อก้าวไปต่อปี ’64

ภายในงานได้เปิด 10 ประเด็นทิศทางสุขภาพคนไทยที่มีผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด 19 และประเด็นที่ยังเป็นกระแสต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ซึ่งแบ่งเป็น 2 หัวข้อ คือ วิกฤตโควิด 19 มาราธอนเขย่าพฤติกรรมสุขภาพคนไทย 6 ประเด็น และสถานการณ์ที่น่าจับตาต่อเนื่องจากปี 2563 อีก 4 ประเด็น

วิกฤตโควิด-19 มาราธอนเขย่าพฤติกรรมสุขภาพคนไทยมี 6 ประเด็น ดังนี้

1. FAKE NEWS บทเรียนรับมือโรคอุบัติใหม่พบว่า มีข่าวปลอมบนโลกออนไลน์มากถึง 19,118 ข้อความ จึงเกิดการจัดตั้ง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม Anti-Fake News และแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อตรวจสอบข่าวโคแฟคขึ้น

2. ผู้ป่วย NCDs กลุ่มเสี่ยงเฝ้าระวัง ทุกครั้งของการเกิดโรคอุบัติใหม่โดยเน้นโรคโควิด 19 โรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอาการรุนแรงถึง 7 เท่า ผู้สูบบุหรี่ 1.5 เท่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ภูมิต้านทานต่ำลง เช่นเดียวกับมลพิษทางอากาศ

3. Digital Disruption หมุนเร็วขึ้น จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต เกิดพฤติกรรมในช่วงล็อกดาวน์ที่โลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทในชีวิตผู้คนค่อนข้างมาก และปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ อาทิ การประชุมออนไลน์ ชอปปิงออนไลน์ ออกกำลังกายที่บ้าน เป็นต้น

4. การออกกำลังกายวิถีใหม่ หลังช่วงล็อกดาวน์คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14 ชั่วโมง 32 นาทีต่อวัน ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 8 ปี ทำให้เกิดนวัตกรรมเอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายขึ้น อาทิ แอปพลิเคชัน “ไร้พุง” ที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายในบ้านที่เหมาะสมกับทุกวัย คู่มือมาตรการการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่งในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่

5. ภาวะเครียดในสังคมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผลพวงทางเศรษฐกิจตกต่ำ การเยียวยาด้านสุขภาพจิตจึงเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ 

6. New Normal ชีวิตวิถีใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม มีการพูดถึงบนสื่อสังคมออนไลน์อย่างมากคือ การใช้เจลล้างมือ การเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัย เรื่องสุขนิสัยและสุขอนามัย ถึง 212,894 ครั้ง ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ในปี 2563 ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 92 สะท้อนให้เห็นกระแสความตื่นตัวในเรื่องการรักษาสุขอนามัยส่วนตัว และรับผิดชอบต่อส่วนรวม

โควิด 19

สถานการณ์ที่น่าจับตาต่อเนื่องจากปี 2563 อีก 4 ประเด็น ดังนี้

1. ฝุ่นควันอันตรายจาก PM2.5 พบสัญญาณการเสียชีวิตจากโรคระบบทางเดินหายใจ เกิดโรคมะเร็งปอด โดยเฉพาะภาคเหนือและกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า สวนทางกับแนวโน้มการสูบบุหรี่ของคนในภาคเหนือที่ลดลงจากร้อยละ 22 ในปี 2550 เหลือเพียงร้อยละ 17 ในปี 2560 ความเสี่ยงส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัญหามลพิษทางอากาศ 

2. ขยะพลาสติกกำลังกลับมา ในช่วงที่ต้องอยู่บ้าน คนไทยใช้บริการธุรกิจรับ-ส่งอาหาร เกิดขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 800 ตันต่อวัน ขยะพลาสติกหรือไมโครพลาสติกส่วนใหญ่ที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม มีงานวิจัยพบการปนเปื้อนในระบบนิเวศ ทำให้บริโภคและหายใจนำไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกายเฉลี่ยปีละ 50,000 อนุภาค

3. สุขภาพจิตวัยรุ่นไทย เมื่อความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นเหตุผลหลัก ผลวิจัยความชุกของภาวะซึมเศร้าและความเสี่ยงฆ่าตัวตาย ในโรงเรียน 13 เขตพื้นที่บริการสุขภาพ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 2 ใน 3 มีภาวะซึมเศร้า

4. พฤติกรรมกินอยู่อย่างไทยพบว่า คนเมืองมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า คนในเขตเมืองมีแนวโน้มเสียชีวิตสูงกว่าคนนอกเขตเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุดถึง 15.2 คนต่อประชากรแสนคน ตามด้วยภาคกลาง 10.9 คนต่อประชากรแสนคน ภาคเหนือ 8.6 คนต่อประชากรแสนคน ภาคอีสานและภาคใต้ 5.5 คนต่อประชากรแสนคนเท่ากัน 

ทั้งนี้ ในปี 2564 สหประชาชาติประกาศให้เป็น ‘ปีแห่งผักผลไม้สากล’ ทุกภาคส่วนจึงควรกระตุ้นให้คนไทยกินผักและผลไม้ให้เพียงพอ

Thaihealth Watch 10 ประเด็นทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2564 ถือเป็นนวัตกรรมการเชื่อมโยงองค์ความรู้ใน 3 ส่วนจากการสานพลังความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทำให้เกิดความตระหนักในการหันมาดูแลสุขภาพ หากสนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดตามข้อมูลได้ที่ https://thaihealthwatch.thaihealth.or.th/

พยากรณ์ 10 ทิศทางสุขภาพคนไทยปี 64 ยุควิกฤต โควิด 19 มาราธอนเขย่าโลก

คนไทย 88% ต้องการฉีด วัคซีนโควิด 19 และกว่า 50% ยังกังวลถึงผลข้างเคียง