svasdssvasds

เผยผลสำรวจโลกการทำงาน-หางาน ที่เปลี่ยนไปในยุคการระบาด โควิด 19

เผยผลสำรวจโลกการทำงาน-หางาน ที่เปลี่ยนไปในยุคการระบาด โควิด 19

การแพร่ระบาดของ โควิด 19 ส่งผลกระทบกับตลาดแรงงานในหลายด้าน ทั้งความต้องการแรงงาน ตลอดจนรูปแบบการทำงาน และการสัมภาษณ์งานที่เปลี่ยนไป

สำหรับสถานการณ์ในตลาดแรงงานจากข้อมูลความต้องการแรงงานขององค์กรในจ๊อบไทยแพลตฟอร์มพบว่า องค์กรมีความต้องการแรงงานในเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 รวมกันอยู่ที่ 346,357 อัตรา ซึ่งเป็นการนับจำนวนอัตราแบบไม่ซ้ำกัน

จ๊อบไทย ได้เปิดเผยข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นเรื่องโลกการทำงานที่เปลี่ยนไปในยุค Post COVID-19 Pandemic จากคนทำงานทั่วประเทศจำนวน 7,548 คน และสำรวจความคิดเห็นขององค์กรทั่วประเทศจำนวน 1,019 องค์กร พบว่า ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ มีผู้ที่ได้ทำงานที่บ้านเพียง 34.1 เปอร์เซ็นต์ และผู้ที่ไม่ได้ทำงานที่บ้าน 65.9 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ที่ได้ทำงานที่บ้านระบุข้อดีของการทำงานที่บ้านว่าทำให้เขามีโอกาสได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น มีเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้น ช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาการเมืองในองค์กรได้ มีช่วงเวลาในการทำงานนานขึ้นกว่าการทำงานในออฟฟิศ และยังสามารถจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานดีกว่าในออฟฟิศ

องค์กรยกเลิกสวัสดิการเหตุจากโควิด 19 และกว่า 77 เปอร์เซ็นต์ เตรียมขึ้นเงินเดือนในปี 64

สำหรับองค์กรนั้นมีการปรับเปลี่ยนสวัสดิการหลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด 19 โดยมีการเพิ่มสวัสดิการให้พนักงานทำงานที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ (Work From Home / Remote Working) มากที่สุด เพิ่มสวัสดิการเวลาทำงานสามารถยืดหยุ่นได้ (Flexible Hours) และสวัสดิการเงินกู้ยืม

ส่วนสวัสดิการที่ถูกยกเลิก ได้แก่ กิจกรรมสันทนาการ เช่น งานกีฬาสี งานเลี้ยงสังสรรค์ ท่องเที่ยวประจำปีการให้โบนัส และเงินรางวัลประจำปี /รางวัลพนักงานดีเด่น เป็นต้น 

ส่วนอุปสรรคในการทำงานของฝั่งองค์กรที่พบมากที่สุด คือ การสรรหาและว่าจ้างพนักงานใหม่ การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะให้กับพนักงาน การดูแลเรื่องสวัสดิการให้กับพนักงาน การสื่อสารภายในองค์กรและการสร้างความเชื่อมั่นในองค์กรให้กับพนักงาน ตามลำดับ

จากการสัมภาษณ์องค์กรเกี่ยวกับรูปแบบการทำงานหลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 พบว่า องค์กรที่ให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work From Home) มีรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป เนื่องจากองค์กรมีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เช่น การประชุมออนไลน์ (Video Conference) ทั้งกับบุคคลภายในและภายนอก ทำให้คนทำงานต้องเกิดการปรับตัวเรียนรู้รวมถึงเลือกใช้เครื่องมือต่างๆ ตลอดจนลดขั้นตอนในการทำงาน ลดการใช้เอกสารแบบกระดาษ ซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ขององค์กร

ผลสำรวจเรื่องค่าตอบแทนของพนักงานในปี 2564 พบว่า 

- องค์กรส่วนใหญ่มีแผนปรับขึ้นเงินเดือนตามโครงสร้างปกติ 48.2 เปอร์เซ็นต์ 

- องค์กรที่มีแผนปรับเงินเดือนแต่จะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าปกติ 28.9 เปอร์เซ็นต์ 

- องค์กรที่จะไม่มีการปรับเงินเดือน 18.1 เปอร์เซ็นต์ 

- องค์กรที่ยังไม่ได้สรุปนโยบาย 3.2 เปอร์เซ็นต์ 

- องค์กรที่ปรับลดเงินเดือนของพนักงานลง 1.6 เปอร์เซ็นต์

ธุรกิจท่องเที่ยว ว่างงานสูงสุดจากเหตุโควิด 19

ผู้ตอบแบบสอบถามฝั่งคนทำงานแบ่งเป็น ผู้มีงานทำ 62.7 เปอร์เซ็นต์ ผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 23.7 เปอร์เซ็นต์ อีก 13.6 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ว่างงานที่เกิดจากเหตุผลอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโควิด 19 โดยผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มผู้ว่างงานที่เกิดจากผลกระทบจากโควิด เป็นผู้ที่ทำงานในประเภทธุรกิจการบริการ ธุรกิจการท่องเที่ยว และธุรกิจการขายปลีก ตามลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนคนมีงานทำกับคนว่างงานที่ทำงานในประเภทธุรกิจเดียวกัน พบว่า ประเภทธุรกิจที่มีผู้ว่างงานเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิดสูงสุดคือ ธุรกิจการท่องเที่ยว โดยมีสัดส่วนผู้ว่างงานที่เป็นผลกระทบสูงถึง 71.9 เปอร์เซ็นต์

โควิด 19

พนักงานกว่า 81 เปอร์เซ็นต์ มองหางานใหม่ในปีหน้า

การสำรวจแผนการหางานใหม่ในปี 2564 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีงานทำ พบว่า 

- มีผู้ที่จะหางานใหม่อย่างจริงจัง 26.4 เปอร์เซ็นต์ 

- ไม่ได้หาอย่างจริงจังแต่เปิดโอกาสสำหรับงานใหม่ 55.4 เปอร์เซ็นต์

- ไม่คิดที่จะหางานใหม่ 18.2 เปอร์เซ็นต์ 

สาเหตุที่พนักงานต้องการเปลี่ยนงาน คือ

อันดับที่ 1 ไม่พึงพอใจเรื่องเงินเดือน 

อันดับที่ 2 ไม่มีความก้าวหน้าในสายงาน 

อันดับที่ 3 ไม่พึงพอใจเรื่องสวัสดิการ 

อันดับที่ 4 ไม่พึงพอใจเรื่องวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมขององค์กร 

อันดับที่ 5 งานที่ทำไม่มีความท้าทาย

ส่วนปัจจัยที่ทำให้อยากทำงานในองค์กรเดิม  

อันดับที่ 1 มีเพื่อนร่วมงานที่ดี 

อันดับที่ 2 การเดินทางสะดวก 

อันดับที่ 3 เงินเดือนเป็นที่พึงพอใจ 

อันดับที่ 4 มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี 

อันดับที่ 5 มีสวัสดิการที่ดี

สำหรับคนทำงานที่ไม่มีแผนเปลี่ยนงาน ปัจจัยที่จูงใจให้อยากเปลี่ยนงาน 

อันดับที่ 1 เงินเดือนสูงขึ้น 

อันดับที่ 2 สวัสดิการดีขึ้น 

อันดับที่ 3 ตำแหน่งงานก้าวหน้าขึ้น 

อันดับที่ 4 การเดินทางสะดวกขึ้น 

อันดับที่ 5 มีเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น

คนหางานเร่งเพิ่มสกิลการสมัครงาน ภาษาต่างประเทศ และการเงิน แต่ยังกังวลเรื่องเศรษฐกิจ

การสำรวจคนทำงานเกี่ยวกับการหางานในช่วงนี้ พบว่า มีคนหางานที่ต้องการเปลี่ยนสายงาน 47.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสายงานที่คนต้องการเปลี่ยนไปทำมากที่สุดเป็นสายงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะเฉพาะ

ในช่วงที่ว่างงาน คนหางาน 54.1 เปอร์เซ็นต์ เลือกเรียนออนไลน์เพื่อเพิ่มทักษะและความสามารถในการแข่งขัน ดังนี้

อันดับที่ 1 เรียนรู้เรื่องการเตรียมตัวหางาน สมัครงาน 

อันดับที่ 2 ภาษาต่างประเทศ 

อันดับที่ 3 การเงิน การลงทุน

ความกังวลในการหางานใหม่ 

อันดับที่ 1 กังวลเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ 72.6 เปอร์เซ็นต์ 

อันดับที่ 2 กังวลเรื่องการแข่งขันในตลาดแรงงานที่สูงขึ้น 66.3 เปอร์เซ็นต์ 

อันดับที่ 3 กังวลเรื่องความสามารถในการสื่อสารภาษาต่างประเทศไม่เพียงพอ 59.9 เปอร์เซ็นต์ 

อันดับที่ 4 กังวลเรื่องทักษะความสามารถของตนเองที่อาจมีไม่เพียงพอ 56.9 เปอร์เซ็นต์ 

อันดับที่ 5 กังวลว่าประสบการณ์ในการทำงานไม่เพียงพอต่อการสมัครงานใหม่ 55.7 เปอร์เซ็นต์

สำหรับซอฟต์สกิลที่องค์กรมองหาจากคนทำงานหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 พบว่า 

อันดับที่ 1 ความสามารถในการเรียนรู้และเปิดรับสิ่งใหม่ 49.6 เปอรืเซ็นต์ 

อันดับที่ 2 ความสามารถในการทำงานเชิงรุก 49.1 เปอร์เซ็นต์

อันดับที่ 3 การจัดลำดับความสำคัญของงาน 47.6 เปอร์เซ็นต์ 

อันดับที่ 4 การสื่อสารและการถ่ายทอดข้อมูล 45.3 เปอร์เซ็นต์ 

อันดับที่ 5 การบริหารเวลา 44.0 เปอร์เซ็นต์

เผยผลสำรวจโลกการทำงาน-หางาน ที่เปลี่ยนไปในยุคการระบาด โควิด 19

นักศึกษาจบใหม่หวั่นตกงาน บริษัทไม่จ้างเด็กจบใหม่

ด้านนักศึกษาจบใหม่ที่จบการศึกษาในปีนี้มีปัญหาการว่างงานสูง และต้องเจอกับสภาวะการแข่งขันในตลาดแรงงานที่สูงขึ้น จ๊อบไทยจึงสำรวจความคิดเห็นนักศึกษาจบใหม่ที่ยังว่างงานและกำลังหางานทำอยู่จำนวน 1,496 คน พบว่า 

- นักศึกษาจบใหม่ที่กำลังหางานได้หางานมาเป็นเวลา 1-3 เดือน 44.0 เปอร์เซ็นต์ 

- หางานมาเป็นเวลา 4-6 เดือน 31.9 เปอร์เซ็นต์ 

- หางานน้อยกว่า 1 เดือน 9.8 เปอร์เซ็นต์

โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ไม่เคยได้รับการเรียกสัมภาษณ์งาน 36.2 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่ได้รับการสัมภาษณ์แล้วแต่ไม่ผ่านการสัมภาษณ์งาน 35.4 เปอร์เซ็นต์ จากการสอบถามในกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ทั้งหมดว่าต้องการจะทำงานอยู่ในองค์กรแรกประมาณกี่ปี พบว่า 

- นักศึกษาจบใหม่อยากทำงานในองค์กรแรกประมาณ 1-3 ปี 65.5 เปอร์เซ็นต์

- นักศึกษาจบใหม่อยากทำงานในองค์กรแรกประมาณ 3-5 ปี 12.7 เปอร์เซ็นต์

- นักศึกษาจบใหม่อยากทำงานในองค์กรแรกประมาณไม่เกิน 1 ปี 11.2 เปอร์เซ็นต์

- นักศึกษาจบใหม่อยากทำงานในองค์กรแรกประมาณ 5 ปีขึ้นไป 10.7 เปอร์เซ็นต์

นักศึกษาจบใหม่ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับชีวิตหลังเรียนจบ ดังนี้ 

อันดับที่ 1 กังวลว่าจะหางานทำไม่ได้ 

อันดับที่ 2 กังวลเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำจะทำให้บริษัทไม่จ้างงานเด็กจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์การทำงาน 

อันดับที่ 3 กังวลเรื่องรายได้จะไม่เพียงพอในการเลี้ยงชีพ 

อันดับที่ 4 กังวลว่าจะได้งานที่ไม่ตรงกับความต้องการ 

อันดับที่ 5 กังวลเรื่องหัวหน้าเเละเพื่อนร่วมงานจะไม่ดี

จุดมุ่งหมายที่นักศึกษาจบใหม่มีในการทำงาน 

อันดับที่ 1 ได้ทำงานที่มีเงินเดือนและสวัสดิการที่ดี 83.6 เปอร์เซ็นต์

อันดับที่ 2 ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะและเติบโตในหน้าที่การงาน 82.6 เปอร์เซ็นต์

อันดับที่ 3 ได้มีเพื่อนร่วมงานที่ดี 61.1 เปอร์เซ็นต์

อันดับที่ 4 ได้ทำงานในองค์กรที่มีวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมที่ดี 58.0 เปอร์เซ็นต์ 

อันดับที่ 5 ได้ทำงานที่ตนเองรัก 53.4 เปอร์เซ็นต์

ทักษะที่นักศึกษาจบใหม่คิดว่าตัวเองมี 

อันดับที่ 1 ความสามารถในการเรียนรู้และเปิดรับสิ่งใหม่ 

อันดับที่ 2 ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น

อันดับที่ 3 ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น 

อันดับที่ 4 ทักษะในการใช้งานเทคโนโลยี 

อันดับที่ 5 การบริหารเวลา

จ๊อบไทยได้ไปสำรวจความคิดเห็นขององค์กรเกี่ยวกับทักษะที่องค์กรใช้พิจารณานักศึกษาจบใหม่เข้าร่วมงาน พบว่าสอดคล้องกับทักษะที่นักศึกษาจบใหม่คิดว่าตัวเองมี คือ 

อันดับที่ 1 องค์กรจะพิจารณาคือความสามารถในการเรียนรู้และเปิดรับสิ่งใหม่ 

อันดับที่ 2 ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น 

อันดับที่ 3 การสื่อสาร และการถ่ายทอดข้อมูล 

อันดับที่ 4 ความคิดสร้างสรรค์ 

อันดับที่ 5 ความสามารถในการวิเคราะห์ประเมินและวิพากษ์สิ่งต่างๆ

สำหรับสายงานที่เปิดรับนักศึกษาจบใหม่มากที่สุดในช่วงนี้ ได้แก่ 

อันดับที่ 1 งานขาย 

อันดับที่ 2 งานช่างเทคนิค 

อันดับที่ 3 งานบริการลูกค้า 

อันดับที่ 4 งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ

อันดับที่ 5 งานวิศวกรรม 

เผยผลสำรวจโลกการทำงาน-หางาน ที่เปลี่ยนไปในยุคการระบาด โควิด 19

แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการจ๊อบไทย มีมุมมองต่อตลาดแรงงานและการหางานว่า การระบาดของโควิด 19 ภาคธุรกิจต้องมีการปรับตัวซึ่งส่งผลกระทบกับการจ้างงาน จะเห็นได้ว่าในช่วงที่มีการระบาดหนักและล็อกดาวน์ องค์กรต่างๆ ออกมาตรการที่จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายของบริษัท เช่น การปลดพนักงาน การลดสวัสดิการ นอกจากนี้ อัตราการเปิดรับสมัครงานลดลงกว่าปีก่อน และจำนวนผู้ว่างงานในตลาดแรงงานมีมากขึ้น ส่งผลให้การสรรหาบุคลากรนั้นมีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเว็บไซต์หางานเป็นช่องทางที่องค์กรและคนหางานนิยมใช้มากที่สุด

อีกหนึ่งอย่างที่กระทบกับองค์กรโดยตรงคือเรื่องวัฒนธรรมองค์กร เนื่องจากรูปแบบการทำงานไม่สามารถเข้าไปทำงานด้วยกันได้เหมือนก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19 และการปรับเปลี่ยนสวัสดิการไปตามข้อจำกัดของสถานการณ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับความรู้สึก และความเป็นอยู่ในองค์กรของพนักงาน หลังจากนี้องค์กรจะมีวิธีการอย่างไรที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กร และสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี ทำให้พนักงานรับรู้และเข้าใจค่านิยมขององค์กร ให้พนักงานมีประสบการณ์ที่ดีเหมือนที่เคยเป็นมา และสามารถสร้างแบรนด์ภาพลักษณ์องค์กรที่ดี ดึงดูดคนให้เข้ามาสมัครกับองค์กรได้ เป็นเรื่องที่องค์กรอาจจะต้องกลับมาพิจารณาและกำหนดแนวทางการทำงานกันใหม่

ส่วนด้านคนหางาน สมัครงาน มีการแข่งขันที่สูงขึ้น เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน คนหางานต้องปรับตัวพร้อมรับกับเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สำหรับนักศึกษาจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์การทำงาน จะมีโอกาสได้งานมากขึ้นถ้าสามารถสร้างจุดเด่นให้ตัวเองน่าสนใจ เช่น การทำเรซูเม่ (Resume) ควรมีการปรับข้อมูลเพื่อนำเสนอตัวเองให้เข้ากับตำแหน่งงานและองค์กรที่เราสมัครมากขึ้น ในการสัมภาษณ์งานควรวางตัวพูดคุยแบบมืออาชีพ และอธิบายถึงประสบการณ์ที่เรียนมาว่าจะสามารถนำไปปรับใช้กับตำแหน่งงานที่สมัครได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้การเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชนเป็นอีกทางที่ช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาจบใหม่มีโอกาสได้งานมากขึ้นได้

เราจะเห็นว่า โลกการทำงานมีการเปลี่ยนอยู่เสมอ คนทำงานการต้องพร้อมรับสิ่งใหม่ ๆ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เปิดรับและเรียนรู้สิ่งใหม่ พัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางด้านภาษา ด้านเทคโนโลยี และซอฟต์สกิล เพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มความสามารถให้กับตัวเองอยู่เสมอ