svasdssvasds

สุขภาพจิต เป็นสิ่งสำคัญ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำอยู่อย่างไรให้มีความสุขในยุคโควิด 19

สุขภาพจิต เป็นสิ่งสำคัญ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำอยู่อย่างไรให้มีความสุขในยุคโควิด 19

สุขภาพจิต เป็นสิ่งสำคัญ อาจารย์ ดอกเตอร์ ปัญจภรณ์ ยะเกษม คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แนะนำ Happiness Health อยู่อย่างมีความสุขในยุคโควิด-19

ในขณะที่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง และได้คร่าชีวิตของผู้คนทั่วโลกไปแล้วเกินกว่าสี่แสนราย และดูเหมือนว่าคนทั่วโลกจะต้องยังอยู่กับ โควิด-19 ไปอีกสักระยะ ฉะนั้นการรักษา สุขภาพจิต เป็นเรื่องสำคัญ จึงเป็นที่มาให้ อาจารย์ ดอกเตอร์ ปัญจภรณ์ ยะเกษม คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แนะนำ Happiness Health การอยู่ได้อย่างมีความสุขในยุคโควิด-19

ที่ผ่านมา วิถีชีวิตของผู้คนมักนิยมใช้เงินซื้อความสะดวกสบาย และความสุข ใช้ชีวิตนอกบ้าน การเดินทางทั่วโลกเป็นเรื่องง่ายดาย จึงส่งผลให้ไวรัสแพร่กระจายอย่างไร้พรมแดน เมื่อภาครัฐประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการติดเชื้อ ประชาชนเริ่มรู้สึกโดดเดี่ยวจากการกักตัวเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้โหยหาความสุขอันคุ้นเคย

Happiness Health อยู่ได้อย่างมีความสุข

รักษา สุขภาพจิต ให้แข็งแรง เตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรให้อยู่ได้อย่างมีความสุขในยุค COVID-19

1. ไม่ปรุงแต่งจิต ช่วงเวลาเช่นนี้ไม่มีใครที่ อยากป่วย อยากตาย อยากพลัดพรากจากคนรัก ความรู้สึกกลัว วิตกกังวล ก่อให้เกิดความทุกข์ เราจึงควรตั้งสติ จับความคิดตัวเองให้ทัน เพื่อพิจารณาจิตที่ปรุงแต่งของเรา มองด้วยเหตุผลตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง เกิด แก่ เจ็บ ตายถือเป็นธรรมดาของชีวิต

2. อย่ากลัวตายจนตายทั้งเป็น โควิด-19 เตือนสติให้เราดำเนินชีวิตบนความไม่ประมาท เตือนว่าเราโชคดีแค่ไหนที่ยังมีลมหายใจ มีเวลาขัดเกลาจิตใจให้มองเห็นความเปลี่ยนแปลง และยอมรับกฎธรรมชาติ การหมั่นพิจารณาความตายที่อาจจะมาถึงช่วยกระตุ้นให้เราใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีคุณค่า หมั่นทำความดี สร้างความสุขให้ตัวเอง ครอบครัวและคนที่เรารัก สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ เพื่อคนรอบข้างและสังคม

3. ฐานวิถีชีวิตใหม่ โควิด-19 สร้างความปรกติใหม่ หรือ ฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) รูปแบบต่างๆ การกักตัวอยู่ในบ้านทำให้เราได้ใช้ชีวิตช้าลง มีเวลาให้ตัวเองและครอบครัวอย่างเต็มที่ มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รักษาระยะห่างทางสังคมเพื่อปกป้องตนเอง ปกป้องผู้อื่น และร่วมกันประคองสังคมให้ผ่านพ้นการแพร่ระบาด

4. ปรับมุมมองออนไลน์ การได้อ่าน ได้เห็นประทุษวาจา หรือ Hate Speech ซ้ำแล้วซ้ำเล่าบนโซเชียลมีเดีย ทำให้เรามองไม่เห็นข้อเท็จจริง และหาทางออกไม่ได้ การไตร่ตรองข้อมูลอย่างมีสติ สงวนอารมณ์ลบ แสดงอารมณ์บวกจะช่วยสร้างระบบนิเวศเชิงบวกในโซเชียลมีเดีย สร้างพลังบวกในการแก้ปัญหาให้แก่สังคม

5. แบ่งปันความสุข วิกฤตครั้งนี้ เราได้เห็นกลุ่มคนรวมตัวกันทำความดีด้วยการมอบสิ่งของ น้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ หลายคนเข้าร่วมกิจกรรม ร่วมแบ่งปัน เพราะรู้สึกว่าเครียดจากการอยู่บ้านเฉยๆ และอยู่อย่างโดดเดี่ยว การได้ออกมาร่วมทำกิจกรรมดีดีให้แก่ผู้อื่น ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย

6. โอกาสในการสร้างธุรกิจของตนเอง สถานประกอบการหลายแห่งจำเป็นต้องปิดตัวลงทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน การทำงานอิสระตามความถนัดความชอบของตนเอง และเป็นนายตัวเองเป็นทางออกหนึ่งที่ได้รับความนิยม ได้แก่ สร้างรายได้จากความคิดสร้างสรรค์ ทรัพย์สินทางปัญญา และศิลปวัฒนธรรม

7. สร้างภูมิคุ้มกันทางใจ การรับมือกับปัญหาและความท้าทายด้วยสติ (Resilience Quotient) จะช่วยก้าวข้ามความทุกข์ได้ และกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขอีกครั้ง และแข็งแกร่งกว่าเดิม

ในสถานการณ์ที่ยากลำบากช่วงการแพร่ระบาดนี้ เราต้องรู้จักพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส รักษา สุขภาพจิต ให้แข็งแรง เรียนรู้ที่จะรู้จักคุณค่าของชีวิตมากยิ่งขึ้น ใช้ชีวิตอย่าง Happiness Health อยู่ได้อย่างมีความสุข เพราะนี่คือโอกาสที่สอนให้มนุษย์ทุกคนหันมารู้จักคุณค่าของคำว่า “ชีวิต” ให้ดีที่สุด

related