svasdssvasds

ความมืดบอดในเรื่อง เพศศึกษา คือต้นเหตุสำคัญของหลายปัญหาในสังคมไทย

มุมมอง เพศศึกษา ในสังคมไทยมักถูกโยงถึงเพศสัมพันธ์ แท้จริงแล้วยังคงมีบริบทสำคัญอีกมากมาย ทั้งเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นผู้หญิง ความเป็นผู้ชาย หรือความไม่ได้เป็นผู้หญิงและผู้ชาย

เพศศึกษา และ เพศสัมพันธ์

เพศศึกษา หัวข้อที่มักถูกโยงเข้าเรื่องเพศสัมพันธ์ จนกลายเป็นเรื่องที่คนจำนวนมากไม่อยากพูดถึง แต่ ป้ามล - ทิชา ณ นคร ไม่เห็นอย่างนั้น ป้ามลเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่บอดในเรื่องเพศ เพราะมองไปในมิติของลามกอนาจาร มองเป็นสิ่งที่เป็นปัญหา ไม่ได้มองเป็นโอกาส เด็กสามารถที่จะรับสื่อทางเพศได้ด้วยตัวของเขาเอง แต่การรับโดยที่เด็กไม่มีต้นทุนเลย กลายเป็นจุดอ่อน การที่เราคุยเรื่องเพศกับลูก หรือในห้องเรียนคุยเรื่องเพศกับเด็ก เราไม่คุยเรื่องท่าทางการมีเพศสัมพันธ์ แต่ในบริบทที่คุย จะครอบคลุมถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การให้เกียรติ ให้คุณค่า แต่ว่าในระบบการศึกษาไทย เมื่อพูดเรื่องเพศ กลับเห็นเพียงเสี้ยวเดียว นั่นคือท่าร่วมเพศ แต่ในความเป็นจริงมันรวบรวมทั้งหมด เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นผู้หญิง ความเป็นยผู้ชาย หรือความไม่ได้เป็นผู้หญิงและผู้ชาย

"ในบ้านกาญจนาภิเษก เด็กๆ เหล่านี้มาด้วยคดีต่างๆ มากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ คดีโทรม คดีข่มขืน คดีฆ่า คดียา ไม่ว่าคดีใดก็ตาม เราพบว่า ภายใต้เบื้องหลังการก่ออาชญากรรมของเด็กๆ มาจากวิธีคิดของเขา เวลาเราจะจัดการวิธีคิดของเด็กๆ เราต้องไปหา How to ให้เจอ สำหรับบ้านกาญจนาภิเษก How to ของเราง่ายนิดเดียว ก็คือ ข่าว บทความ คลิปชีวิตของผู้คน รวมถึง หนัง เมื่อเราได้มาแล้วเราต้องมาใส่คำถามเพื่อที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางวิธีคิด หรือ mindset อย่างเช่น เราให้เด็กๆ ดูหนังเรื่อง 3096 วัน เป็นเรื่องจริงของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งในประเทศออสเตรีย ถูกลักพาตัวไปตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ออกมาอีกทีคือตอนอายุ 18 ปี หลังจากที่เธอมีประจำเดือน เธอก็ถูกผู้ชายคนนั้นข่มขืน รูปแบบการข่มขืนที่ถูกถ่ายทอดมาจากความจริงสู่หนังนั้น มีการใส่กุญแจมือ มีพันธนาการ ก่อนดูหนังเราคุยกัน เราให้เด็กๆ ลองประเมินคนที่ถูกขังเอาไว้ 3096 วัน และยังถูกละเมิดตลอดเวลาว่าเจ็บปวดขนาดไหน สิ่งที่จะได้ดูจะมีฉากข่มขืนแน่นอนมันคือเซ็กส์ ถ้าเราพาหัวใจของเราไปถึงความเจ็บปวดในวันที่ผู้หญิงคนนั้นโดนละเมิดจะรู้สึกอย่างไร"

ป้ามล กล่าวว่า ในขณะที่นั่งดูกับเด็กๆ เมื่อถึงฉากข่มขืน ป้าจะให้เด็กๆ สังเกตแววตาว่ามีความสุขหรือไม่ ฉากที่เด็กผู้หญิงถูกสั่งให้แก้ผ้าต่างๆ ก็ถามเด็กตามตรงว่ามีความรู้สึกทางเพศไหม คำตอบที่ได้รับคือ ไม่มีเลย แล้วป้าจะถามต่อไปว่า ในฉากข่มขืนมันคือข่มขืน มันคือสมยอม หรือคืออะไรกันแน่ เด็กจะคิดและตอบว่า นี่คือการข่มขืนบนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เพราะเขามีอำนาจที่เหนือกว่า

อาจารย์กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม เคยกล่าวถึงปัญหาการท้องไม่พร้อม ปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาใดใดก็แล้วแต่ที่ไม่เสมอภาคระหว่างหญิงกับชาย มีปัญหาเชิงโครงสร้างใหญ่อยู่ คือระบบชายเป็นใหญ่ หรือ ระบบความเป็นชายที่เป็นพิษ คิดว่าตนเองมีอำนาจเหนือกว่า

เพศศึกษา

การสอนเรื่องเพศศึกษา ไม่ได้หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการพูดถึงความเป็นมนุษย์ที่ถูกปล้นไปด้วย

ป้ามล กล่าวถึงเรื่อง เพศศึกษา สำคัญมากกว่านั้นก็คือ เวลาเราคุยเรื่องเหล่านี้กับเด็กๆ เราจะเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวเขาอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น ตอนที่ดูหนัง 3096 วัน เด็กคนหนึ่งซึ่งเขามาด้วยคดีที่รุนแรง เขาบอกว่าอยากขว้างจอจังเลยป้า เพราะมีอยู่ข้อหนึ่งที่ป้าถามว่า มีข้อแนะนำถึงป้าและเจ้าหน้าที่ไหมที่นำหนังเรื่องนี้มาให้ดู เขาบอกว่าคำแนะนำจริงๆ ไม่มีหรอก แต่ต้องเตือนตัวเองว่าอย่าโกรธมาก นั่นแสดงว่าหัวใจความเป็นมนุษย์ของเขามีสมบูรณ์ ทั้งๆ ที่หนังก็ว่าด้วยเรื่องเพศเยอะไปหมด ป้าว่าผู้ใหญ่ต้องใจกว้างก่อน

ป้ามล ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนว่า จากการที่ได้ไปเยี่ยมน้องที่มุกดาหารที่ถูกครู 5 คน และรุ่นพี่ 2 คน ข่มขืนเป็นเวลายาวนาน จากการที่เรียนรู้เรื่องทั้งหมดเพื่อจะเข้าไปช่วยให้เด็กทั้งสองคนเห็นคุณค่าในตัวเอง พบว่า เรื่องใหญ่ที่สุดก็คือ อำนาจนิยมของครู ครูเชื่อว่ามีอำนาจที่อยู่เหนือกว่าเด็ก แล้วแปลงอำนาจนั้นเป็นคำขู่ เป็นเรื่องเพศ และเรื่องอะไรต่อมิอะไรอีกทีหนึ่ง ครูรู้สึกว่าเด็กเป็นของเล่นทางเพศของเขา ครูมีอำนาจที่เหนือกว่า คำขู่ง่ายๆ ของเขาเอาอยู่ เช่น จะให้เธอสอบตก ซ้ำชั้น จะเอาคลิปที่เธอถ่ายไปเผยแพร่ คำขู่เหล่านี้ ถ้าเรามีอำนาจที่เท่ากัน ถามว่าจะขู่ได้ไหม มันก็ขู่ได้กับคนที่อำนาจน้อยกว่า ดังนั้นการ empower เหล่านี้ ไม่ใช่สิ่งที่จะเปลี่ยนไม่ได้ แต่เราต้องตีโจทย์ให้ออกก่อนว่า ผู้ชายจริงๆ ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง สำหรับป้า การทำงานทางความคิดของผู้คนจนลึกเข้าไปเรื่อยๆ เหมือนที่เราทำงานกับเด็กที่บ้านกาญจนาภิเษก เราพบว่า พอถึงจุดหนึ่ง มันไม่ได้มีความเป็นเพศ แต่มันต้องไปให้ถึงความเป็นมนุษย์ของเขา แล้วในความเป็นจริงก็คือ ศาสตร์เหนือศาสตร์ ก็คือศาสตร์แห่งความเป็นมนุษย์นั่นเอง เมื่อเราไปถึงตรงจุดนั้น ทุกอย่างมันจะง่ายขึ้น ไม่ได้บอกว่า เพราะคุณเป็นผู้หญิง หรือเพราะคุณเป็นผู้ชาย แต่เพราะคุณเชื่อว่าเมื่อคนๆ หนึ่งเป็นมนุษย์ เราจะละเมิดเขาไม่ได้ เราจะเอาเปรียบเขาไม่ได้

"ระบบชายเป็นใหญ่ ระบบที่ความเป็นผู้ชายเป็นพิษ มันเป็นการส่งต่อทางวัฒนธรรม ถ้าเราไม่อยากส่งต่อ เราต้องหาเครื่องมือไปตัดมัน ก็คือ การเปลี่ยน mindset แน่นอนมันต้องเปลี่ยนเชิงโครงสร้างด้วย แต่ว่าเมื่อมันเปลี่ยนไม่ได้ ทำคู่ขนานโดยเปลี่ยนวิธีคิด และเมื่อวิธีคิดเปลี่ยนเป็น Critical Mass มวลแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ เราค่อยไปเปลี่ยนโครงสร้างอีกที แล้วเปลี่ยนระบบอีกทีหนึ่ง ยิ่งเราหลบเลี่ยงเรื่องการเรียนเพศศึกษาเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เราหาประตูออกไม่เจอ เพราะเราไม่ยอมรับความจริงว่า การเรียนเรื่องเพศศึกษาเป็นหนึ่งในกุญแจดอกสำคัญที่พาเราไปสู่การเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ความเสมอภาคทางเพศ หรือความเสมอภาคระหว่างมนุษย์ด้วยกัน"

เมื่อมนุษย์รู้จักการเคารพสิทธิ์ ไม่ได้ตัดสินกันที่ความเป็นหญิง ความเป็นชาย ความเป็นผู้ใหญ่ ความเป็นเด็ก มนุษย์ไม่ได้ตัดสินกันที่เปลือก มันก็ทำให้การอยู่ร่วมกันมีอารยะขึ้น เราเคารพในความเป็นมนุษย์ เราเคารพเพราะว่าเขาเป็นมนุษย์

ป้ามล กล่าวทิ้งท้ายว่า โลกเปลี่ยนมาจนถึงจุดที่ทุกคนมีโทรศัพท์มือถืออยู่ในมือ ทุกคนเล่นสมาร์ทโฟน "แต่ผู้ใหญ่อย่างพวกเรายังคงงมโข่ง" เราไม่ยอมสร้างพื้นที่ด้านสว่าง พื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่ด้านดี พื้นที่ที่เป็นองค์ความรู้ที่เป็นตรรกะที่เป็นมนูษย์ เราไม่ยอมสร้าง แต่เรากลับยอมให้เด็กๆ ไปหาพื้นที่มืด พื้นที่ลบด้วยตัวเอง ตกลงเราเป็นผู้ใหญ่แบบไหนกัน เราปรารถนาดีกับเด็กๆ จริงๆ หรือเปล่า หรือแท้จริงแล้วเราดักดานกันอยู่กับวิธีคิดเก่าๆ อยากบอกคนที่รับผิดชอบโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการว่าให้ทบทวนอย่างจริงจัง อย่าแค่พูดว่าเราห่วงใย เราเข้าใจ แล้วในที่สุดไม่สร้างระบบที่เหมาะสมขึ้นมา อย่าพูดแบบนี้เลย น่าเบื่อ